2024 ถือเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับตลาดรถยนต์ไม่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปตามสิ่งที่ถูกวาดเอาไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ 2-3 ปี โดยเฉพะการเติบโตของตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าจากแบรนด์ที่ไม่ใช่สัญชาติจีน และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมที่สามารถส่งต่อมายังปีต่อๆ ไป และเป็นการเปิดโอกาสให้ตลาดรถยนต์ไฮบริดทั้งแบบปกติ และแบบเสียบปลั๊ก หรือ PHEV มีโอกาสกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง
นอกจากนั้น การต่อสู้เพียงลำพังอาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมนักในช่วงที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู่กับแบรนด์รถยนต์ที่พร้อมจะสร้างสงครามราคา นั่นทำให้แนวทางในการทำธุรกิจของแต่ละแบรนด์อาจจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม 2025 ที่รออยู่นั้น อาจจะใม่ใช่ปีที่ราบรื่นของหลากหลายธุรกิจอันเป็นผลมาจากวิเคราะห์โดยอ้างอิงจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังอยู่ในช่วงขาลง
1.ทุกคนรอดูผลลัพธ์ของ Honda, Nissan และ Mitsubishi
สิ่งที่เกิดช่วงก่อนคริสต์มาส และเขย่าตลาดรถยนต์ทั่วโลกได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว แน่นอนว่าการประกาศร่วมมือการทำงานภายใต้บริษัทร่วมทุนของ Honda, Nissan และ Mitsubishi เป็นสิ่งที่ทุกคนจับตามอง และนี่คือวิธีการแบบ Old School ที่เคยใช้แล้วได้ผลในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 2000 และถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง
มีอยู่ 2 เรื่องที่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต่อเนื่องจากปลายปี 2024 คือ Mitsubishi จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุ๊ปนี้หรือไม่ ซึ่งจะต้องรอคำตอบในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ และข้อที่ 2 กระบวนการขั้นแรกเพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันในการก่อตั้งบริษัทร่วมทุนให้ได้ในปี 2026 นั้นจะเป็นจริงหรือไม่ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมุ่งหวังที่จะสรุปการเจรจากันให้เสร็จสิ้นเดือนมิถุนายน 2025
ถ้าเป็นไปได้และเวิร์ค เชื่อว่าโมเดลในการทำงานลักษณะนี้อาจจะเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นก็ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดเล็ก และมีผลผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน ตลาดรถยนต์มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและ รถยนต์มีการเปลี่ยนรุ่นกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับแบรนด์รถยนต์จากจีน ซึ่งทำให้บริษัทรถยนต์เหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรง
แต่นั่นหมายความว่าทั้ง 2 บริษัทจะต้องเอื้อซึ่งกันและกันไม่ได้อยู่ในสภาพเตี้ยอุ้มค่อม
2.จีนจะฝ่ากำแพงภาษีได้หรือไม่
รถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนต้องเจอกับมาตรฐานการที่เข้มงวดของตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันรถยนต์พลังไฟฟ้าราคาถูกของจีนในการเข้ามาตีตลาดจนทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นประสบกับปัญหา เมื่อปีที่แล้ว ยุโรปยกระดับกำลังแพงภาษีเพิ่มขึ้นอีกราวๆ เท่าตัวเพื่อสกัดกั้นรถยนต์พลังไฟฟ้าแบรนด์จีน เช่นเดียวกับแบรนด์อื่นๆ ที่มีโรงงานประกอบอยู่ในประเทศจีน ขณะที่สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ปิดทางเข้าด้วยการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน 100% และแม้ว่าจะมาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในกลุ่มประเทศ NAFTA ก็ไม่ได้รับการยกเว้นด้วยเช่นกัน
ในส่วนของสหภาพยุโรปนั้น เชื่อว่าจีนน่าจะหาทางออกในการจัดการกับปัญหาเรื่องภาษีนำเข้าได้แน่ๆ แต่ประเด็นคือ จะลดได้ถึงขนาดไหน และไม่น่าจะมีตัวเลขเท่ากับช่วงเริ่มต้นซึ่งอยู่ในระดับ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน และกระบวนการเลี่ยงบาลีด้วยการนำเข้าจากฐานการผลิตจากประเทศอื่นๆ ซึ่งก็รวมถึงไทย อาจจะเป็นอีกวิธีที่สามารถทำให้รถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนสามารถเข้าไปทำตลาดได้โดยที่ไม่ต้องโดนภาษีนำเข้าสูงนัก
นี่คือ สิ่งที่ต้องจับตามองว่าแบรนด์รถยนต์จีน ซึ่งมีแนวโน้มว่าตลาดในประเทศจีนกำลังจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว จะสามารถขยายออกสู่ตลาดใหญ่อย่างยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีไหน
3.จับตามองรถยนต์ไฮบริด
ช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 มีการพูดถึงแนวโน้มและทิศทางของรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นขุมพลังลูกผสมที่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนว่า จะเป็นทางออกใหม่ที่เข้ามาช่วยพยุงแบรนด์รถยนต์ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในยุคที่ต้องแข่งขันกับรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน อีกทั้งผู้บริโภคเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไป และคิดว่ารถยนต์ไฮบริดคือทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ว่ากันว่าไม่เฉพาะแบรนด์ทั่วไปเท่านั้น แม้แต่ผู้ผลิตรถยนต์จีนก็มองว่าเป็นตลาดอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เมื่อนับจากเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมที่ผ่านมาหรือช่วงไตรสมาสที่ 3 ของปี 2024 การส่งออกรถยนต์ไฮบริดไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเป็น 65,800 คันจากช่วงเวลาเดียวกันของปี หรือคิดเป็น 18% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของจีนที่ถูกส่งไปยังยุโรปในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนก็ลดลงเหลือ 58% จาก 62% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันด้วย
นักวิเคราะห์ระบุว่า ‘พวกเขาอาจจะพลิกแผนด้วยการหันไปส่งออกรถยนต์ไฮบริดแทน ซึ่งในตอนนี้ตลาดยุโรปกำลังมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างน่าพอใจ อีกทั้งยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวในจีนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์บางรายเปลี่ยนกลยุทธ์ในยุโรปเพื่อเน้นการส่งออกรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น’
นั่นเท่ากับว่า ตลาดรถยนต์ไฮบริดอาจจะกลายเป็นอีกหมัดเด็ดของบริษัทรถยนต์จีนในการรุกคืบออกสู่ตลาดโลก
4.รัฐบาล Trump กับการยกเลิก Tax Credit
สิ่งที่ไม่เฉพาะคนอเมริกันกังวล แต่ยังรวมถึงทุกแบรนด์รถยนต์ในโลกกังวลคือ Donald Trump ซึ่งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย ต้องการที่จะรื้อนโยบายที่ Joe Biden ประธานาธิบดีคนก่อนวางเอาไว้ และนั่นหมายความว่าการอุดหนุนราคารถยนต์พลังไฟฟ้าจำนวน 7,500 เหรียญสหรัฐฯ ที่ดำเนินการมาอาจจะต้องหายไป
สำหรับเครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลกลาง ซึ่งบรรดานักวิชาการด้านนโยบายเรียกว่า 30 D มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ George W Bush โดยฉบับปัจจุบันซึ่งผ่านโดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อในปี 2022 ได้มีการกำหนดให้ส่วนลดล่วงหน้าสูงสุด 7,500 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับการซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน หรือ PHEV ที่เข้าเงื่อนไข
หากไม่มีเครดิตภาษี ราคาที่แท้จริงของรถที่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้จะพุ่งสูงขึ้นหลายพันเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้คนหันไปใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์อาจตัดสินใจลดราคาหรือให้ส่วนลดพิเศษกับตัวแทนจำหน่าย แต่หากบริษัททั้งหมดสูญเสียเครดิตในเวลาเดียวกัน พวกเขาอาจไม่รู้สึกกดดันที่จะต้องลดราคาและแข่งขันกัน ความต้องการที่ลดลงหมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนน้อยลงและการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการได้รับชัยชนะทางเทคโนโลยีจากจีน
การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดประการหนึ่งต่อการนำไปใช้งานในวงกว้าง และยังทำให้การเปิดตัว ตัวเลือกราคาไม่แพงอย่างแท้จริงล่าช้าลง ซึ่งเป็นช่องว่างสำคัญในตลาดรถยนต์มายาวนาน ขณะนี้ รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่โดยเฉลี่ยขายในราคาประมาณ 56,000 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่รุ่นราคาประหยัดที่สามารถแข่งขันได้แทบไม่มีเลย และจะต้องรออีกนานกว่าที่ราคาของรถยนต์พลังไฟฟ้าจะลดระดับลงมาใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบจากการยกเลิกนโยบาย Tax Credit ไม่ส่งผลเฉพาะแบรนด์ที่มีการดำเนินงานอยู่แล้วในตลาดเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังแผนงานของบริษัทรถยนต์ที่ดำเนินการไปแล้ว หรือกำลังอยู่ในขั้นตอนของการทำงานอีกด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ และจะส่งผลโดยตรงต่อการจ้างงานของคนในพื้นที่
5.ระบบขับขี่อัตโนมัติ: อุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์พลังไฟฟ้ายุคใหม่
มีการวิเคราะห์และคาดหมายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือ Autonomous ที่ถูกมองว่ายังไม่พร้อมสำหรับการใช้งาน อาจจะกลายมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่รถยนต์พลังไฟฟ้าในยุค 2025 ในรุ่นระดับสูง ก่อนที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ภายในปี 2045
มีการคาดว่าระบบขับขี่อัตโนมัติจะพัฒนาไปในพื้นที่ที่มีขอบเขตจำกัดทางภูมิศาสตร์อย่างชัดเจน โดยเน้นที่ใจกลางเมืองเป็นหลัก การนำไปใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้น่าจะเริ่มต้นในเมืองที่มีสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ควบคุมได้ซึ่งรองรับการใช้งานเทคโนโลยีในช่วงแรก
จากการเปิดเผยของ Fuji Keizai คาดว่าจะมีรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 2 ติดตั้งอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผลิตในปี 2024 ขณะที่ระดับ 3 ขึ้นไป แม้ว่าปี 2024 จะยังไม่เยอะ แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการผลิตยานยนต์ที่มาพร้อมระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 3 กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน
ปี 2024 รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติระดับ 2 คาดว่าจะอยู่ที่ 45.13 ล้านคัน และระดับ 3 จะอยู่ที่ 300,000 คัน โดยปัจจุบัน รถยนต์ระดับ 2 เป็นที่นิยมเนื่องจากความล่าช้าในการออกกฎหมายสำหรับรถยนต์ระดับ 3 ในบางภูมิภาคและความกังวลเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่จะแพร่หลายมากขึ้นตั้งแต่ปี 2035 และจะกลายเป็นส่วนใหญ่ของการผลิตในปี 2045