xs
xsm
sm
md
lg

Carlos Ghosn ชี้การควบรวมกิจการระหว่าง นิสสันและฮอนด้า ไม่เวิร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวใหญ่ส่งท้ายปีในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์โลกคงหนีไม่พ้นดีลประวัติศาสตร์ของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Honda และ Nissan ในการจับมือกันเพื่อต่อสู้กับการรุกรานของบริษัทรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนที่ทะลักออกมาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

ขณะที่ Mitsubishi ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ร่วมกับ Nissan มาก่อนหน้านี้ ยังไม่มีการยืนยันถึงอนาคตของตัวเองกับโปรเจ็กต์นี้ และจะให้คำตอบอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2025 และถ้า Mitsubishi ตอบตกลง จะทำให้กลุ่มพันธมิตรนี้มีขนาดใหญ่ในด้านตัวเลขยอดขายเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองแค่ Toyota และ Volkswagen Group

รวมกันเราอยู่..วลีฮิตแห่งยุค 1990

การจับมือเป็นพันธมิตรหรือการควบรวมกิจการบางส่วนเพื่อแชร์องค์ความรู้ หรือรวมกันเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งเรื่องของต้นทุนและเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีให้เห็นมาโดยตลอด และดีลประวัติศาสตร์ที่มีให้เห็น คือ การจับมือกันของ Daimler ผู้จำหน่ายรถยนต์ Mercedes-Benz และ Smart กับ Chrysler ในชื่อ DaimlerChrysler ในปี 1998 (ก่อนที่จะแยกทางกันในปี 2008)

ขณะที่ Nissan เองหลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในด้านการเงินในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และถูกกอบกู้โดย Carlos Ghosn พวกเขาก็เข้าร่วมกับ Renault ด้วยการทำงานในเชิงกลยุทธ์โดยทั้ง 2 บริษัทรวมตัวกันในปี 2002 ภายใต้ชื่อบริษัท Renault-Nissan BV ก่อนที่ Mitsubishi จะตามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือในปี 2016 ในปี 2023 ทั้ง 3 บริษัทมีความเห็นร่วมกันในการปรับปรุงข้อกำหนดในการทำงานและอำนาจในการบริหารเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการเพื่อรับมือกับการฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19


อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง Renault, Nissan และ Mitsubishi ไม่ใช่การควบรวมกิจการหรือการซื้อกิจการ บริษัททั้ง 3 แห่งจะเข้าร่วมกันผ่านข้อตกลงร่วมกัน โครงสร้างนี้มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงกระแสการรวมกิจการในทศวรรษ 1990 และต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับ General Motors และ PSA Group และ Mitsubishi รวมถึง Volkswagen Group และ Suzuki แม้ว่าการรวมกิจการหลังจะล้มเหลวก็ตาม พันธมิตรเองได้ขยายขอบเขตของตนอย่างมาก โดยสร้างความร่วมมือเพิ่มเติมกับผู้ผลิตรถยนต์ รวมทั้ง Daimler ของเยอรมนี และ Dongfeng ของจีน

การทำงานครั้งใหม่เพื่อความอยู่รอด

เช่นเดียวกับยุคทศวรรษที่ 1990 และ 2000 การควบรวมกิจการและการทำงานในเชิงพันธมิตรถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในแง่ของการแข่งขัน เพราะสามารถแชร์องค์ความรู้ที่แต่ละแบรนด์มีอยู่เพื่อลดระยะเวลาและงบประมาณในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการลดต้นทุนเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลงและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด เพราะสามารถใช้การผลิตในเชิงปริมาณเข้ามาควบคุมได้ แต่ครั้งนั้น คือ การแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ที่มีปริมาณการผลิตเยอะ เช่น Toyota หรือ Volkswagen

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวละครที่เป็นภัยคุกคามของบริษัทรถยนต์ขนาดกลางจะเปลี่ยนไปเป็นการเข้ามาของบริษัทรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีน และอาจจะรวมถึง Tesla ของสหรัฐอเมริกาด้วยก็ตาม แต่นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังให้ความเห็นว่า เป้าหมายของการทำงานของกลุ่มบริษัทคือ การลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยเฉพาะในเรื่องของการลดต้นทุนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับตลาดรถยนต์ระดับกลาง


สำหรับการควบรวมกิจการระหว่าง Honda ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น กับ Nissan ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก นับตั้งแต่ Fiat Chrysler และ PSA ควบรวมกิจการในปี 2021 เพื่อก่อตั้งกลุ่มบริษัท Stellantis ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงถึง 52,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“การเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์จีนและผู้เล่นหน้าใหม่ได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ไปมากทีเดียว” Toshihiro Mibe ซีอีโอของ Honda กล่าว โดยอ้างถึงแนวโน้มทางเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ “เราต้องสร้างขีดความสามารถเพื่อต่อสู้กับพวกเขาภายในปี 2030 มิฉะนั้นเราจะพ่ายแพ้”

ทั้ง 2 บริษัทมีเป้าหมายยอดขายรวมกัน 30 ล้านล้านเยน (191 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และมีการประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานอาจจะมีมากกว่า 3 ล้านล้านเยนผ่านการควบรวมกิจการที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้ และมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฮบริด (HV) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากสำหรับ Nissan ที่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจตกต่ำอย่างมากเนื่องมาจากไม่สามารถนำรถไฮบริดเข้ามาจำหน่ายในอเมริกาเหนือได้

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม ทั้ง 2 บริษัทกล่าวว่ากำลังพิจารณาความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ และขยายความร่วมมือไปยัง Mitsubishi Motors ในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนที่แล้ว Nissan ประกาศแผนที่จะเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คนและกำลังการผลิตทั่วโลก 20% หลังจากยอดขายในตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาลดลง

นอกจากนี้ Honda ยังรายงานรายได้ที่ต่ำกว่าที่คาดไว้เนื่องจากยอดขายในประเทศจีนตกต่ำ แม้ว่าธุรกิจรถจักรยานยนต์และรถยนต์ไฮบริดที่มั่นคงจะช่วยให้ Honda มีฐานการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้บริการของ Honda กล่าวยืนยันในการรวมกิจการครั้งนี้ว่า "นี่ไม่ใช่การกอบกู้นิสสัน" แม้ว่าการพลิกฟื้นธุรกิจของ Nissan จะถูกรวมเป็น "เงื่อนไขเบื้องต้น" สำหรับการควบรวมกิจการครั้งนี้ก็ตาม


ทุกอย่างเสร็จสิ้นในปี 2026 ส่วน Mitsubishi ยังต้องรอ

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ทั้ง Honda และ Nissan มุ่งหวังที่จะสรุปการเจรจากันในเดือนมิถุนายน 2025 ก่อนที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาภายในเดือนสิงหาคม 2026 หรือหลังจากที่หุ้นของทั้ง 2 บริษัทจะถูกเพิกถอนออกจากการจดทะเบียน

สำหรับตัวละครที่ 3 ซึ่งปรากฏกายอยู่ในการแถลงข่าวด้วย แต่ยังไม่ได้มีการยืนยันออกมาคือ Mitsubishi ซึ่งจะให้คำตอบที่ชัดเจนในช่วงปลายเดือนมกราคม และถ้าทั้ง 3 ค่ายรวมตัวกันแล้ว นั่นเท่ากับว่าตัวเลขในเชิงยอดขายของทั้ง 3 แบรนด์รวมกันจะทำให้ขยับแซงหน้ากลุ่มพันธมิตรจากเกาหลีใต้อย่าง Kia และ Hyundai ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 3 ทันทีด้วยตัวเลขประมาณ 7.4 ล้านคัน ขณะที่ Toyota ซึ่งเป็นเบอร์ 1 มีตัวเลขอยู่ที่ 11.23 ล้านคัน และ Volkswagen อยู่ที่ 9.2 ล้านคัน

ที่ผ่านมา Honda และ Nissan เสียส่วนแบ่งในด้านยอดขายของตัวเองในตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนให้กับ BYD และแบรนด์จีนเจ้าถิ่นรายอื่นๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดซึ่งเต็มไปด้วยซอฟต์แวร์นวัตกรรม และมีแนวโน้มว่า ในตลาดโลกเอง ทั้ง 2 แบรนด์อาจจะลำบากในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทตลาด และการรุกคืบออกมาของแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนที่มีจุดเด่นในเรื่องของราคา ความคุ้มค่า และนวัตกรรม


Ghosn ให้ความเห็นรวมกันแล้วไม่น่าเวิร์ค

อย่างไรก็ตาม Carlos Ghosn อดีตประธานของ Nissan ซึ่งขณะนี้ถูกญี่ปุ่นหมายจับในข้อหาหลบหนีการประกันตัวและหลบหนีไปเลบานอน กล่าวว่าเขาไม่เชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง Honda และ Nissan จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทั้ง 2บริษัทไม่ได้เสริมซึ่งกันและกันในการทำงานเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

“จากมุมมองด้านอุตสาหกรรม มีความซ้ำซ้อนในทุกที่ระหว่างทั้ง 2 บริษัท’ Ghosn กล่าว โดยยืนยันว่าการเสริมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นในการควบรวมกิจการ แต่ระหว่าง Honda และ Nissan ไม่มีเลย “หากการควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น ... ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จ” เขากล่าวเสริมทางออนไลน์จากเลบานอน ซึ่งเป็นที่ที่เขาทำงานอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับ Ghosn หลบหนีจากญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2019 ขณะที่เขากำลังรอการพิจารณาคดีในข้อกล่าวหา รายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ละเมิดความไว้วางใจ และยักยอกเงินของบริษัท

ขณะที่ทาง Renault ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Nissan กล่าวว่าจะ "หารือกับ Nissan และพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด"

ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว การจับมือกันของทั้ง 2 ฝั่งจะเกิดขึ้นจริงและอยู่รอดปลอดภัยได้นานไหม


กำลังโหลดความคิดเห็น