หลังจากที่มีการประกาศเดินหน้าสู่ยุคของรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV ของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปในช่วงต้นทศวรรษที่ 2020 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดกลุ่มนี้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าในการลงทุนแทบจะในทันที โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV และเป็นชิ้นส่วนที่น่าจะมีราคาแพงที่สุดในรถยนต์ประเภทนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในตลาดกลุ่มใหญ่อย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ได้มีแนวโน้มในการขยายตัวอย่างที่ควรจะเป็น แถมการรุกรานรถยนต์พลังไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าจากจีนกลายเป็นหอกที่ทิ่มแทงอุตสาหกรรมรถยนต์ของพวกเขา ก็ยิ่งทำให้นโยบายในการปฏิเสธรถยนต์พลังไฟฟ้าเริ่มมีความแข็งแกร่ง และเป็นการตอกย้ำว่าที่คาดการณ์กันว่า รถยนต์พลังไฟฟ้าจะแจ้งเกิดได้ก่อนปี 2030 กลายเป็นความหวังอันริบหรี่แล้ว
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ของยุโรปเองก็ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ จากปัจจัยนี้ และแผนการที่วางเอาไว้โดยบรรดาผู้ผลิตที่อยู่ในซัพพลายเชนของระบบการผลิตแบตเตอรี่ต่างได้รับผลกระทบกันเต็มๆ เพราะความพยายามในการดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าลดลงและปัจจัยอื่นๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ บริษัท Northvolt ของสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า ได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายจากสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการกระทบต่อความหวังของยุโรปในการสร้างอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อแข่งขันกับจีน
ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Northvolt คือ การยกเลิกสัญญาของแบรนด์รถยนต์ โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา BMW ยกเลิกสัญญาผลิตเซลล์แบตเตอรี่มูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับ Northvolt สื่อเยอรมันรายงานว่าบริษัทสวีเดนซึ่งก่อตั้งโดย Peter Carlsson อดีตวิศวกรแบตเตอรี่ของ Tesla ได้ทำสัญญาจัดหาระยะยาวกับ BMW เมื่อปี 2020 แต่ไม่สามารถจัดหาเซลล์แบตเตอรี่ตามที่สัญญาไว้ได้ทันเวลา
นอกจากนั้น จากรายงานล่าสุด มีการยืนยันแล้วว่าอีก 9 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาแบตเตอรี่ที่เตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังไฟฟ้าในยุโรปเตรียมยุติแผนการและอาจจะต้องล้มโครงการทั้งหมด ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ผลกระทบที่อาจส่งต่อในระยะยาว
สัญญาณของเหตุนี้เริ่มมีให้เห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2024 แต่ผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติงานของบริษัทเริ่มมีให้เห็นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี โดย ACC ประกาศระงับการผลิตในโรงงานในเยอรมนีและอิตาลี และเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ราคาถูกกว่า เพื่อความคุ้มค่ากับต้นทุน โดยก่อนหน้านั้นภายในปี 2030 ทาง ACC มีแผนที่จะใช้เงินกว่า 7 พันล้านยูโรในการซื้อโรงงานขนาดใหญ่ 3 แห่งในยุโรป โดยแต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิต 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง แต่ดูเหมือนว่าโปรเจ็กต์นี้จะถูกพับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น อีก 2 โปรเจ็กต์ที่ภาครัฐเตรียมดึงนักลงทุนมาสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในเมืองซันเดอร์แลนด์ และโคเวนตรี้ ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องพับแผนการผลิตตามไปด้วย หลังจากที่มีข่าวว่านักลงทุนขอยื่นชะลอการลงทุนเนื่องจากภาพรวมของตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในยุโรปไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง
ก่อนหน้านี้ในปี 2023 ทางฝั่งสหภาพยุโรปได้เปิดเผยว่ามีการยื่นข้อลงทุนของผู้ผลิตแบตเตอรี่ในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก และมีมากกว่า 250 แห่งที่จะผุดขึ้นในประเทศต่างๆ ของสหภาพยุโรปภายในปี 2033 ทั้งในสเปน อิตาลี นอรเวย์ ฝรั่งเศส และอิตาลี เพื่อให้เป็นแหล่งซัพพลายเชนสำหรับการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าในการแข่งขันกับแบรนด์จีน
ซึ่งจากรายงานล่าสุดมีประมาณ 10 แห่งได้ดำเนินงานไปแล้ว แต่ที่เหลือยังขึ้นสถานะของการอยู่ในแผนทำงาน แต่ไม่มีการยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ส่วนอีกกว่าครึ่งดูเหมือนว่ากำลังชะลอโครงการอยู่เพื่อรอดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
‘ปัญหาที่เกิดขี้นในตอนนี้คือ รถยนต์พลังไฟฟ้าจากยุโรปเดินเกมได้ช้ากว่าแบรนด์จีนอย่างมาก จริงอยู่ที่ในตลาดไฮเอนด์ที่ราคาไม่ใช่ปัจจัย เป็นสิ่งที่พวกเขายังสามารถแข่งขันได้ แต่ในแง่ของตัวเลขและยอดขายที่เป็นฐานสำคัญของตลาด แบรนด์รถยนต์ยุโรปกลับไม่สามารถทำราคาแข่งขันกับจีนได้ ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากความเป็นเอกภาพในเชิงนโยบายแล้ว ต้องยอมรับว่า ความล่าช้าในเชิงภาครัฐ และระบบราชการของแต่ละประเทศยังเป็นตัวถ่วงที่ทำให้การพัฒนาผลผลิตออกสู่ตลาดช้าลง’
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ยานยนต์ในยุโรปยังระบุอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Northvolt และอีกหลายโครงการอาจจะเป็นแค่ยอดเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาเท่านั้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าเติบโตช้าลง บริษัทต่างๆ รวมถึง Volkswagen, Stellantis และ Mercedes กำลังลดขนาดหรือปรับโฟกัสโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตในจีนกำลังลดต้นทุน และสหรัฐฯ กำลังดึงเงินลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ออกไปด้วยการอุดหนุนที่คุ้มค่า จีนมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ส่วนเกินอยู่แล้ว ซึ่งทำให้สามารถผลิตเซลล์ได้ในราคาเพียงเศษเสี้ยวของต้นทุนในยุโรป และยังมีข้อได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีเซลล์รุ่นต่อไป ทั้งหมดนี้หมายความว่าตลาดแห่งนี้เสี่ยงต่อการล้าหลังยิ่งขึ้นในการแข่งขันเพื่อสร้างและขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต
การผลิตเซลล์แบตเตอรี่และแบตเตอรี่สำเร็จรูปในยุโรปถือเป็นลำดับความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ตั้งอยู่ในยุโรป ภูมิภาคนี้ต้องการโรงงานขนาดใหญ่ประมาณ 50 แห่งภายในทศวรรษหน้า หากต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าของตนเองและบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ประเภทนี้
ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปกำลังลงทุนอย่างหนัก แต่พวกเขากำลังตามหลังผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนในการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานของ BEV แบบครบวงจร ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเหล่านี้กำลังมุ่งเป้าไปที่ยุโรปด้วยการส่งออกแบตเตอรี่ในทุกรูปแบบ
“ยุโรปมาสายเกินไป” Andy Palmer ประธานบริษัท Inobat กล่าว “จากมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีการผลิตในประเทศเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานและลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง”
เอเชียครองตลาดแบตเตอรี่
โรงงานใหม่ทั้งหมดเหล่านี้ยังต้องเผชิญการแข่งขันจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของเอเชียที่กำลังขยายกิจการเข้ามาในยุโรป CATL ผู้ผลิตเซลล์รายใหญ่ที่สุดในโลกมีโรงงานในเยอรมนีและกำลังเพิ่มโรงงานอีกแห่งในฮังการี ขณะที่ LG Chem ผลิตแบตเตอรี่ในโปแลนด์มาเป็นเวลาหกปีแล้วที่โรงงานแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
Yann Vincent ซีอีโอของ ACC กล่าวว่าบริษัทในยุโรปยังคงมีบทบาทที่ต้องเล่นต่อไปหากไม่อยากตามหลังแม้ว่าพวกเขาจะดิ้นรนอยู่ก็ตาม หากยุโรปไม่สามารถสร้างห่วงโซ่ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าของตัวเองได้ขึ้นมาได้ พวกเขาจะเจอกับปัญหาในด้านต้นทุนอย่างแน่นอน และส่งผลตามไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7% ของเศรษฐกิจยุโรป ‘เพราะแบรนด์เหล่านี้จะหันความสนใจไปที่ผู้ผลิตเอเชีย เช่นเดียวกับลูกค้าของแผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และชิปคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว’
ดูเหมือนว่ายุโรปจะไม่สามารถตามทันจีนซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มาหลายทศวรรษได้ โดยจีนครองตลาดไปแล้วกว่า 80 % และเป็นผู้นำด้านต้นทุนด้วยส่วนต่างที่มาก จีนเพิ่งเริ่มนำเสนอเซลล์แบตเตอรี่ราคาถูกที่ไม่ใช้โคบอลต์หรือนิกเกิลเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้ ACC ตัดสินใจถอยกลับมาและประเมินใหม่ว่าควรเน้นที่เซลล์ LFP แทนเซลล์ NMC ที่วางแผนจะผลิตหรือไม่
รายงานจากศูนย์การศึกษาด้านยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศระบุว่าจีนใช้เงิน 230,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังไฟฟ้าในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา นั่นเป็นสาเหตุที่ผู้ผลิตในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต้องแข่งขันกันอย่างหนักในปัจจุบัน นอกจากนั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วและการรุกล้ำเข้าสู่ตลาดโดยรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนยังเป็นสาเหตุที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในจีนอย่างมากในช่วงไม่นานนี้ ไม่มีทางที่ธุรกิจในประเทศจะแข่งขันได้เมื่อบริษัทจีนมีความก้าวหน้าไปไกลมาก
ฝั่งยุโรปปิด แต่ฝั่งจีนเข้ามาลงทุนเพิ่ม
แม้ว่าโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของฝั่งยุโรปจะมีหลายโครงการที่ชะงักและรอการตัดสินใจ ทางฝั่งจีนอาศัยช่วงเวลานี้เข้ามาลงทุนในยุโรปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับมองเห็นช่องทางที่จะเจาะเข้ามาครองตลาดในภูมิภาคนี้ ล่าสุด บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Contemporary Amperex Technology Co Ltd หรือ CATL วางแผนที่จะสร้างโรงงานร่วมทุนในสเปนกับบริษัทผลิตรถยนต์ Stellantis ของยุโรปเพื่อเสริมสร้างตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
บริษัท 4 ฝ่าย รวมถึง CATL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และบริษัทในเครือ 2 แห่งของ Stellantis ได้ลงนามในข้อตกลง ซึ่ง CATL และ Stellantis วางแผนที่จะร่วมกันระดมทุนสำหรับบริษัทร่วมทุนในสเปน โดยแต่ละบริษัทถือหุ้น 50 %ตามประกาศในตลาดหลักทรัพย์
CATL และ Stellantis จะใช้บริษัทร่วมทุนดังกล่าวสำหรับการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ร่วมทุนในเมืองซาราโกซา ในเขตปกครองตนเองอารากอน ประเทศสเปน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมโดยประมาณ 4,038 ล้านยูโร และจะเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ของ CATL ในยุโรป
ถือเป็นอีกงานหนักสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ยุโรป กับยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมาสู่สังคมของการลดมลพิษ เพราะศึกนี้นอกจากพวกเขาจะตัดสินใจช้าแล้ว ยังถูกคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนกระหน่ำอย่างหนัก จนแทบจะไม่เหลือทางออกในการเดินเกมเลย