xs
xsm
sm
md
lg

สงครามราคาเดือด BYD สั่งซัพฯ ลดราคา หวังลุยตลาดอีกระลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตัดราคา ยังถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทางบริษัทรถยนต์จีนใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแย่งชิงยอดขาย และอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดจำนวนแบรนด์ที่อยู่ในตลาดจีนได้ในอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน และข่าวล่าสุดที่เชื่อว่าน่าจะทำให้ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในปีหน้าต้องสะเทือนอีกระลอกคือ การที่ BYD ประกาศกดดันให้บรรดาซัพพลายเออร์ที่สนับสนุนชิ้นส่วนให้กับแบรนด์อีก 10% เพื่อสร้างความได้เปรียบในเรื่องราคาสำหรับการแข่งขันในการสร้างยอดจำหน่ายรถยนต์พลังไฟฟ้าในปี 2025

Reuter รายงานโดยอ้างข้อมูลของ thepaper.cn สำนักข่าวดิจิทัลของจีนซึ่งระบุว่า BYD บริษัทรถยนต์ของจีน ขอให้ซัพพลายเออร์รายหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อลดราคาลง 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมในปีหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสงครามราคาอันโหดร้ายในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่อ้างอิงจากอีเมลที่รั่วไหลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจาก BYD


เชื่อว่านี่คือกลยุทธ์เด็ดของ BYD

แม้ว่าจะไม่มีการยืนยันจากทาง BYD แต่จากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร BYD ใน Weibo นั้น มีการยืนยันว่า BYD กำหนดเป้าหมายลดราคาสำหรับซัพพลายเออร์เมื่อทำการซื้อในปริมาณมาก ซึ่งด้วยความที่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีวอลลุ่มอยู่ในมือเชื่อว่าสามารถต่อรองได้และไม่บังคับแต่อย่างใด



ที่ผ่านมา BYD เหมือนกับเจอกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการสร้างความปั่นป่วนให้กับแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มรถยนต์สันดาปภายในเองด้วย และจากแหล่งข่าวภายในที่ไม่เปิดเผยมีการระบุว่า นี่คือทีเด็ดของพวกเขาที่มีความเชื่อมั่นมานาน หลังจากที่โค่น Tesla และชิงการเป็นเจ้าตลาดรถยนต์ในกลุ่ม NEV หรือรถยนต์พลังงานใหม่มาได้ แม้ว่ายอดขายหลักๆ ของ BYD จะอยู่ที่ในประเทศจีนก็ตาม

จากข้อมูลอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนระบุว่าช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ BYD ครองอันดับหนึ่งในการขายรถยนต์ในจีนด้วยส่วนแบ่ง 15.8% ของตลาดโดยรวม ขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอินคิดเป็นมากกว่าหนึ่งในสามของยอดขายทั้งหมดของประเทศ

ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด


Li Yunfei ผู้จัดการทั่วไปของแบรนด์และดูแลในส่วนของการประชาสัมพันธ์กล่าวว่า “การเจรจาราคาประจำปีกับซัพพลายเออร์ถือเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปในอุตสาหกรรมยานยนต์” เขากล่าว โดยในรายงานข่าวระบุว่า ทาง BYD ร้องขอให้ทางซัพพลายเออร์ส่งข้อเสนอกลับมาภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปใด้ในการจัดจ้างและดำเนินการ



ตามที่ระบุไว้ในอีเมลของ BYD มีการอ้างถึง ยอดขายที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องของ BYD อันเป็นผลมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ข้อได้เปรียบด้านสเกลของตลาด และห่วงโซ่อุปทานที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จ และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังซัพพลายเออร์ที่จะมีวอลลุ่มในการผลิตตามที่ระบุเอาไว้ โดย Tencent News อ้างอิงแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมรายหนึ่งที่ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นมา อำนาจการต่อรองของ BYD เหนือห่วงโซ่อุปทานจะเพิ่มขึ้นและแปรผันไปตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น

‘ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทจะเรียกร้องให้ซัพพลายเออร์ลดราคา โดยมักจะขอลดราคาปีละ 10-20% เพราะกำลังซื้อของ BYD นั้นสูงมาก ดังนั้น เว้นแต่ซัพพลายเออร์จะอยู่ในตำแหน่งที่แข็งแกร่งและผู้ผลิตรถยนต์ไม่สามารถหาตัวแทนได้ อำนาจในการต่อรองจึงจะเปลี่ยนขั้ว เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นใดนอกจากต้องปฏิบัติตาม’ คำกล่าวจากแหล่งข่าวภายในที่อ้างโดย Tencent News

นอกจากนั้น เขายังระบุว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ และสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สิ่งเดียวที่ซัพพลายเออร์ทำได้ คือ รักษาฐานลูกค้าเอาไว้ และค่อยกระจายความเสี่ยงนี้ออกไปยังแอคเคาน์อื่นๆ



ค่ายอื่นขยับตัวตามเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ Tesla ประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนว่าลูกค้าชาวจีนที่สั่งซื้อรถยนต์รุ่น Model Y 2 รุ่นที่มีราคาถูกก่อนวันที่ 31 ธันวาคม จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมอีก 10,000 หยวน (1,380 ดอลลาร์) เมื่อชำระเงินงวดสุดท้าย ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนของตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในจีน ซึ่งราคาเป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการดึงดูดการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่ BYD เท่านั้นที่ทำเช่นนี้ เพราะรายงานอีกฉบับจากหนังสือพิมพ์ China Securities Journal ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุว่าหน่วยงาน Maxus ของ SAIC Motor ได้ส่งจดหมายถึงซัพพลายเออร์โดยขอให้พวกเขาช่วยลดต้นทุนลง 10% เพื่อรับมือกับสงครามราคาของรถยนต์พลังไฟฟ้าในจีน

จีนยังเป็นตลาดฮ็อตของรถยนต์พลังไฟฟ้า


อำนาจในการต่อรองของบริษัทรถยนต์ที่มีเหนือบรรดาซัพพลายเออร์นั้นมาจากการที่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินว่าในเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้จะเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ที่รถยนต์ในกลุ่มพลังงานใหม่ หรือ NEV ซึ่งรวมรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊กหรือ PHEV เข้าไปด้วยนั้น จะมียอดขายเกิน 1 ล้านคันต่อเดือนเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน



จากข้อมูลของ สมาคมรถยนต์โดยสารแห่งประเทศจีน (CPCA) ระบุว่ามีแนวโน้มสูงมากว่าในเดือนพฤศจิกายน ยอดขายปลีกรถยนต์พลังงานใหม่เพื่อการโดยสารหรือ NEV ในจีนอยู่ที่ประมาณ 1.28 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม และนั่นหมายความว่าจะเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ที่ยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ในจีนมีตัวเลขเกิน 1 ล้านคัน

คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สัดส่วนเปรียบเทียบรถยนต์ NEV กับรถยนต์สันดาปภายในในแง่ของยอดขายจะมีการปรับตัวอีกครั้ง โดย NEV จะมีส่วนแบ่งในตลาดสูงถึง 53.3% ซึ่งขยับจาก 52.9% ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งสัญญาณนี้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของประชากรรถยนต์ที่มีแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบทั้ง PHEV และ BEV ในจีน ซึ่งตอนนี้ทำยอดขายแซงหน้ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปแล้ว

ขณะเดียวกัน BYD ยังถือว่าทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เชื่อว่าตัวเลขยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ หรือ BEV ของแบรนด์จะสูงถึง 506,804 คันเลยทีเดียว และถือเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่แบรนด์มียอดขายต่อเดือนเกิน 500,000 คัน



แต่ถ้าแยกเฉพาะรถยนต์พลังไฟฟ้าหรือ BEV เพียงอย่างเดียวแล้ว BYD จะมีตัวเลขยอดขาย 198,065 คันในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (หรือคิดเป็น 39.1% ของยอดขายรวมทั้งหมด) โดยเพิ่มขึ้น 16.41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 4.46% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน

ที่สำคัญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา BYD ทำสถิติยอดขายแบบ New Height ติดต่อกัน เรียกว่าทุบสถิติและสร้างสถิติขายใหม่กันในทุกเดือนเลย เรียกว่านับจากที่แบรนด์มียอดขายร่วงลงอยู่ในระดับต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ด้วยตัวเลขเกินแสนคันนิดๆ ซึ่งถือเป็นตัวเลขต่ำสุดนับจากเดือนเมษายน 2022 แล้ว BYD สามารถดีดตัวเองขึ้นมาสร้างยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยการมียอดขายดีดกลับมาอยู่ที่ 300,000 กว่าคันในเดือนมีนาคม 2024 ก่อนที่จะทะยานจนมีตัวเลขเกิน 500,000 คันต่อเดือนเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สำหรับรุ่นที่ครองยอดขายสูงสุดในแบรนด์ คือ Song โดยมีตัวเลขยอดขายอยู่ที่118,743 คันในเดือนพฤศจิกายน และเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่รถยนต์รุ่นนี้มียอดขายสูงสุดต่อเนื่อง



นับจากปี 2022 เป็นต้นมา BYD ลดกำลังการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและทดแทนด้วยการเพิ่มกำลังผลิตของเครื่องยนต์แบบไฮบริดเสียบปลั๊ก หรือ PHEV และรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV

สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดจีน อาจจะดูแล้วเหมือนกระบวนการทำงานที่เป็นปกติ แต่อย่างที่ทราบกันดี ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ BYD หมายความว่าการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงในอุตสาหกรรม NEV ของจีนคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปีหน้าและเชื่อว่าจะมีค่ายอื่นๆ ดำเนินการตามในแนวทางนี้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าช่วงกลางปี 2024 เคยมีการประเมินถึงเรื่องของศักยภาพแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในจีนว่าจะเป็นเช่นไรท่ามกลางสงครามการตัดราคาที่ดุเดือดเช่นนี้ โดยก่อนหน้านี้มีการยืนยันว่า การใช้กลยุทธ์นี้คือ เครื่องมือสำคัญในการคัดเลือกผู้อยู่รอดในตลาดให้ดำเนินธุรกิจต่อไป เรียกว่าใครสายป่านไม่ยาว และบริหารเรื่องความคล่องตัวของกระแสเงินสดได้ไม่ดีก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป

เชื่อกันว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2025 อาจจะเหลือแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าหลักๆ ในจีนไม่ถึง 10 รายจากเดิมที่มีเป็นร้อยๆ ราย



กำลังโหลดความคิดเห็น