xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ดท้าชนรถไฟฟ้าจีน ลดต้นทุนกระบะใหม่สู้ศึกตลาด EV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่จะอยู่รอดในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้ายุคนี้ และอาจจะรวมถึงยุคหน้า ปัจจัยสำคัญคือเรื่องของต้นทุน และแม้ว่ายอดขาย Ford F-150 Lightning จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 และเพิ่มขึ้น 86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยอดขายแผนกรถยนต์พลังไฟฟ้าของ Ford ก็ยังขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ตามรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้

ความท้าทายครั้งใหญ่และต่อเนื่องประการหนึ่งคือ การลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า และแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับที่สามารถขายได้อย่างมีกำไร นอกเหนือจาก Tesla ซึ่งใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้สำเร็จ นั่นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งนี้ถือเป็นงานที่ซับซ้อนและยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาอาจจะพ่ายแพ้ต่อสงครามรถยนต์พลังไฟฟ้าหลังจากการไหลเข้าของรถยนต์พลังไฟฟ้าราคาถูกจากจีนในตลาดแต่ละแห่งของโลก

สิ่งเดียวที่ยังกั้นการทะลักเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนในสหรัฐอเมริกา คือ กำแพงภาษีที่ภาครัฐตั้งขึ้นมา แต่นั่นคือ สิ่งที่ไม่จีรังและยั่งยืน เพราะอาจจะทลายลงเมื่อไรก็ได้เมื่อนโยบายทางการเมืองเปลี่ยนไป ดังนั้น สิ่งเดียวที่ผู้ผลิตรถยนต์จะสามารถต่อสู้และแข่งขันในตลาดอันโหดร้ายแห่งนี้ได้คือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

สำหรับ Ford แล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังจะเจอเส้นทางที่ไปสู่จุดนั้นแล้ว

การรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 Jim Farley ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ford กล่าวว่าปิกอัพขนาดกลางขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ารุ่นใหม่ของ Ford ถูกวางแล้วว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการเปิดตลาดประเภทนี้ และเป้าหมายของพวกเขาคือ จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ราคาต้นทุนเท่ากับที่จีนทำได้ และนั่นหมายความว่าจะต้องทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


หลังจากที่ผู้ผลิตได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในการเดินหน้าสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า Ford กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มรถยนต์พลังไฟฟ้าราคาไม่แพงรุ่นใหม่เพื่อรองรับกับการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่จะเปิดตัวในอนาคต แพลตฟอร์มใหม่นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายรถยนต์พลังไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่า (เริ่มต้นที่ประมาณ 25,000 ดอลลาร์) เท่านั้น แต่ยังคาดว่าจะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและวิ่งได้ไกลกว่ารุ่นปัจจุบันอีกด้วย โดยรุ่นแรกที่ใช้แพลตฟอร์มใหม่นี้คือ ปิกอัพขนาดกลางรุ่นใหม่ของพวกเขา

Jim Farley ซีอีโอของ Ford ซึ่งยอมรับว่าหลงใหลใน Xiaomi SU7 อย่างมาก ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับปิกอัพรุ่นใหม่ว่า จะมีโครงสร้างต้นทุนที่เทียบเท่ากับต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์จีนที่ผลิตในเม็กซิโก ซึ่งจะทำให้ Ford สามารถแข่งขันได้มากกว่าปัจจุบัน อีกทั้ง Farley ยังกล่าวอีกว่าทีมงานที่พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่นี้ทำผลงานได้เกินความคาดหมาย

“ตลอด 40 ปีในอุตสาหกรรมนี้ ผมได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นตัวเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขัน (Game Changer) มากมายหลายรุ่น” Farley กล่าว “แต่รถปิกอัพไฟฟ้าขนาดกลางที่ออกแบบโดยทีมงานของเราในแคลิฟอร์เนียถือเป็นหนึ่งในผลผลิตที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ปิกอัพรุ่นนี้จะมีต้นทุนเทียบเท่ากับของผู้ผลิตรถยนต์จีนรายใดก็ตามที่วางแผนผลิตปิกอัพในเม็กซิโกในอนาคต เรารู้ได้อย่างไร เพราะชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่จำเป็น 60% ของปิกอัพรุ่นนี้มีราคาออกมาแล้ว”

เมื่อไม่นานมานี้ Ford ได้เลื่อนแผนการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าบางส่วนของตัวเองออกไปเนื่องจากความต้องการที่มีไม่มากพอกับปริมาณการผลิต อีกทั้งที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุน ดังนั้น แผนการสร้างรถยนต์พลังไฟฟ้าทรง SUV และมีที่นั่ง 3 แถวถูกยกเลิกและจะเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฮบริดแทน อย่างไรก็ตาม มีรถปิกอัพพลังไฟฟ้าอย่างน้อย 2 คันที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งก็คือ “Project T3” ซึ่งกำหนดเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2027 และคาดว่าจะเป็นรุ่นต่อจาก F-150 Lightning และโครงการปิกอัพ “skunkworks” ที่พัฒนาโดยทีมงานในแคลิฟอร์เนีย โดยปิกอัพจากโปรเจ็กต์นี้เพิ่งได้รับการเปิดเผยว่าเป็นรถขนาดกลางแทนที่จะเป็นขนาดเล็กตามที่คาดไว้ในตอนแรก



“เป็นประสบการณ์ที่เปิดหูเปิดตาให้เราได้เห็นจริงๆ ว่าส่วนประกอบขั้นสูงจำนวนมากควรมีค่าใช้จ่ายเท่าใดบ้าง เพราะเราคิดว่าบริษัทอย่าง BYD มีข้อได้เปรียบอย่างเหลือเชื่อในเรื่องราคาของแบตเตอรี่ซึ่งเข้าถึงได้ และพวกเขามีจุดแข็งในเรื่องนี้” Farley กล่าว “ดังนั้น เราจึงต้องสร้างโอกาสแบบเดียวกันนี้ให้เกิดขึ้นในส่วนส่วนประกอบของระบบไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ กระปุกเกียร์ มอเตอร์ ฯลฯ จึงจะเพิ่มโอกาสลดต้นทุนจนสามารถแข่งขันได้”

ปัจจุบัน Ford กำลังสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในมิชิแกน ซึ่งจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออนฟอสเฟต (LFP) ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป โดยจะพยายามเลียนแบบกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนโดยควบคุมห่วงโซ่อุปทานในการผลิตแบตเตอรี่ของตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ Ford จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าที่ผลิตในจีนได้ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าช่วยลดต้นทุนได้ลงในระดับหนึ่งเลย และเมื่อบวกกับการลดต้นทุนในชิ้นส่วนอื่นๆ ก็จะช่วยทำให้รถยนต์พลังไฟฟ้าตามแนวคิดนี้มีราคาแข่งขันได้ในตลาด

นอกจากนั้น Ford วางแผนการผลิตส่วนประกอบในตัวรถภายในโรงงานของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าทำได้ ก็จะสามารถควบคุมห่วงโซ่อุปทานของการผลิตได้มากขึ้น เพราะตรงนี้ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนนำมาใช้และสามารถลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเร่งการดำเนินการตามการเปลี่ยนแปลงด้วยการเปิดตัวผลผลิตใหม่ๆ ออกมาโดยใช้เวลาในการพัฒนาสั้นลง

นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ Ford ต้องการลดต้นทุนคือการทำให้รถยนต์ของตัวเองมีความเรียบง่ายขึ้น Farley อธิบายว่า "จำนวนชิ้นส่วนในรถยนต์นั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เมื่อคุณทำให้ส่วนประกอบมีความเรียบง่ายลงจนถึงระดับนั้น กระบวนการต่อเนื่องที่ตามมาจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การส่งผ่านไปยังซัพพลายเออร์ทำได้เร็ว ไม่เสียทั้งเวลาและขั้นตอนในการผลิต ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนในส่วนต่างๆ ที่ลดลง”


ในยุโรป Ford นำเสนอรถยนต์ 2 รุ่นที่ผลิตบนแพลตฟอร์ม MEB ของ Volkswagen นั้นคือ Explorer และ Capri โดยวิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนและทำให้รถยนต์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น แต่หลังจากนั้น Ford ก็ประกาศว่าจะลดความร่วมมือ Volkswagen และมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบรถยนต์ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของตนเอง เพราะมองดูแล้วยังไม่สามารถขยับลดต้นทุน และระยะเวลาได้อย่างรวดเร็วตามที่คาดหวัง

แม้ว่าผู้ผลิตจะยังคงมุ่งมั่นกับการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า แต่ Ford ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์หลายรายที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2035 ตามข้อเสนอของสหภาพยุโรป

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Autocar ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า Ford ได้พิจารณาแผนการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030 ของตัวเองใหม่ โดย Marin Gjaja หัวหน้าฝ่ายผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model E ของ Ford กล่าวว่า

"ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถทุ่มสุดตัวได้จนกว่าลูกค้าของเราจะแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของพวกเขาว่าพร้อมแล้วกับเรื่องนี้ ซึ่งในตลาดแต่ละแห่งก็มีทีท่าที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของลูกค้าที่มีมากจนน่ากังวล เราไม่เห็นว่าการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2030 จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจของเราหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าของเรา” และเขาสรุปว่าเป้าหมายนั้น “ทะเยอทะยานเกินไป” สำหรับ Ford

อย่างไรก็ตาม ด้วยกลยุทธ์ของ Farley และทีมพัฒนาแพลตฟอร์มของ Ford ที่ค้นพบเส้นทางใหม่นั้น ถือเป็นข่าวดีที่ทำให้ Ford มีโอกาสอย่างมากที่จะกลายเป็นแบรนด์รถยนต์แรกๆ ที่กล้าท้าชนกับรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนโดยที่มีราคาในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้นจริง ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าจับตามองเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น