xs
xsm
sm
md
lg

อียู ลงมติรีดภาษีรถไฟฟ้าจีน 45% เริ่มปลายต.ค. บ.รถเยอรมนีชี้มาผิดทาง-ปักกิ่งคำรามกีดกันการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อียูลงมติเรียกเก็บภาษีอีวีที่ผลิตในจีนสูงสุด 45% นับจากปลายเดือนตุลาคม
ชาติสมาชิกอียูไฟเขียวเรียกเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจีนสูงสุด 45% เริ่มต้นปลายเดือนนี้ แม้กังวลว่า อาจเป็นการจุดชนวนสงครามการค้ากับปักกิ่ง และแม้เยอรมนีออกโรงคัดค้านหนักแน่นก็ตาม ด้านจีนโต้ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องตามมาตรฐาน และไร้เหตุผล ขณะที่ซินหัวเรียกร้องบรัสเซลส์ยุติการกีดกันการค้าและหันหน้าเจรจาสะสางความขัดแย้งต่อ

สมาชิก 10 ชาติของสหภาพยุโรป (อียู) อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี และโปแลนด์ โหวตสนับสนุนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรอีวีที่ผลิตในจีนเพิ่มอีก 35.3% จากอัตราปัจจุบันที่ 10% ขณะที่ 5 ประเทศนำโดยเยอรมนีและฮังการีคัดค้าน และอีก 12 ประเทศซึ่งรวมถึงสเปนและสวีเดน งดออกเสียง

เท่ากับว่า คณะกรรมาธิการยุโรปที่อนุมัติขั้นตอนนี้ชั่วคราวตั้งแต่เดือนมิถุนายนหลังตรวจสอบพบว่า รัฐบาลจีนให้การช่วยเหลือบริษัทรถท้องถิ่นอย่างไม่เป็นธรรมนั้น สามารถบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรกับอีวีจีนเป็นเวลา 5 ปีนับจากปลายเดือนนี้

มาตรการภาษีเพิ่มเติมนี้จะใช้ในอัตราต่างกันสำหรับรถที่ผลิตในจีนโดยบริษัทต่างชาติ เช่น เทสลาที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพียง 7.8%


บรัสเซลส์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้มีจุดประสงค์ในการปกป้องผู้ผลิตรถยุโรปในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการจ้างงานถึง 14 ล้านตำแหน่งทั่วอียู แต่ไม่ได้รับการอุดหนุนมโหฬารแบบที่ค่ายรถจีนได้จากปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปหยอดว่า อาจยกเลิกมาตรการภาษีในอนาคต หากจีนแก้ไขข้อกังวลของอียูได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้อเมริกาและแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีอีวีจีนถึง 100%

มาตรการภาษีของอียูเสี้ยมฝรั่งเศสตีกับเยอรมนี โดยปารีสยืนยันว่า มีความจำเป็นเพื่อสร้างตลาดแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับค่ายรถของอียูในการแข่งขันกับค่ายรถจีน

ทว่า เบอร์ลินที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่ง และมีผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบีเอ็มดับเบิลยู โฟล์คสวาเกน และเมอร์เซเดส ที่ล้วนทุ่มลงทุนหนักในจีน แย้งว่าอียูเสี่ยงทำร้ายตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้เจรจากับปักกิ่งต่อ

เมอร์เซเดสชี้ว่า มาตรการภาษีเป็น “ข้อผิดพลาด” และขอให้บรัสเซลส์ชะลอการบังคับใช้ ด้านโฟล์คสวาเกนเห็นด้วยว่าเป็น “แนวทางที่ผิด” และเรียกร้องให้อียูและจีนหารือกันต่อเนื่องจากเชื่อว่า ยังมีวิธีแก้ไขปัญหาแบบอื่น ด้านบีเอ็มดับเบิลยูขานรับว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็น “สัญญาณอันตราย” สำหรับอุตสาหกรรมรถของยุโรป



เดือนที่แล้วนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซของสเปน เปลี่ยนใจและขอให้บรัสเซลส์ “ทบทวน” แม้แรกเริ่มนั้นมาดริดสนับสนุนการขึ้นภาษีอีวีจีนก็ตาม บ่งชี้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับการตอบโต้ของพญามังกรกำลังแผ่ซ่านทั่วยุโรป

ฮังการีเป็นอีกประเทศที่คัดค้าน โดยก่อนการลงมติ นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน วิจารณ์ว่า มาตรการภาษีศุลกากรเป็น “ขั้นตอนต่อไปที่จะนำไปสู่สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับบรัสเซลส์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อีวีเท่านั้น แต่อียูยังเปิดการสอบสวนกรณีการอุดหนุนอุตสาหกรรมแผงพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมของจีน ทางด้านปักกิ่งขู่เอาคืนอย่างสาสม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดการตรวจสอบบรั่นดี ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อหมูที่นำเข้าจากอียู

จีนพยายามหยุดยั้งการขึ้นภาษีโดยหวังว่า จะสามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาข้อสรุปที่เป็นที่พอใจของอียูไม่ได้

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนแถลงเมื่อวันศุกร์ว่า ปักกิ่งยังคงเชื่อว่า การสอบสวนกรณีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอีวีของจีนเป็น “ข้อสรุปที่อียูกำหนดไว้แล้ว” และระบุว่า มาตรการภาษีของบรัสเซลส์ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องตามมาตรฐาน และไร้เหตุผล


วันต่อมา (5 ต.ค.) สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน วิจารณ์ว่า แทนที่จะส่งเสริมความร่วมมือ มาตรการภาษีของอียูกลับเสี่ยงสุมไฟความขัดแย้งทางการค้าที่อาจส่งผลร้ายไม่เฉพาะต่อความสัมพันธ์ปักกิ่ง-บรัสเซลส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเป้าหมายของยุโรปเองในการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำทับว่า อียูต้องยุติมาตรการภาษีที่เป็นการกีดกันการค้านี้และเดินหน้าเจรจาเพื่อสะสางความขัดแย้ง

จีนนั้นฝากความหวังว่า อุตสาหกรรมไฮเทคจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังซวนเซ นอกจากนี้อียูยังเป็นตลาดนอกประเทศใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมอีวีของจีน

ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และแบรนด์อย่างบีวายดีเริ่มขยับขยายออกไปโตนอกประเทศ สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ ว่า บริษัทท้องถิ่นของตนจะไม่สามารถแข่งขันกับรถราคาถูกจากจีนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น