xs
xsm
sm
md
lg

EU สกัด ดาวรุ่งรถไฟฟ้าจีน ขึ้นภาษีนำเข้า 45 % จีนย้ำทำไม่ถูกอาจสร้างรอยร้าวได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV จะเติบโตอย่างมาก และกลายเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก แต่การเดินหน้าเปิดเกมรุกของแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าสัญชาติจีนในตลาดใหญ่ของโลกอย่างอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก) และสหภาพยุโรป หรือ EU ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่สามารถเดินเข้ามาแล้ววางรากฐานรวมถึงโดยยอดขายได้เหมือนกับบางประเทศที่พวกเขาเคยมีประสบการณ์ที่ดีมา

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคและถูกมองคือ รูปแบบหนึ่งของการกีดกันการค้า และทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมในมุมมองของแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน คือ การตั้งกำแพงพิกัดและภาษีศุลกากร รวมถึงภาษีนำเข้า ซึ่งช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีนมีปัญหาเรื่องนี้กับ EU และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะฝั่ง EU ซึ่งอ้างถึงเรื่องการที่จีนไม่ให้ตรวจสอบเรื่องราคารถยนต์ ที่ได้รับการอุดหนุนแบบซ้ำซ้อนจากรัญบาลจีนจนกระทั่งตั้งราคาที่ถูกมาก และอาจจะส่งผลระบบนิเวศน์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของภูมิภาคนี้

ในตอนนั้น EU ขยับภาษีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในกรณีที่แบรนด์นั้นๆ ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไป และออกแนวเชิงลบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคาดว่า EU อาจจะตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาแบบตายตัวเลย เพราะมองว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนคือภัยคุกคามต่อตลาดของพวกเขา


จีนย้ำ EU ทำไม่ถูก และอาจสร้างรอยร้าวได้

สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันเสาร์ว่า การตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะเร่งขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนนั้น ถือเป็นภัยคุกคามต่อความร่วมมือหลายสิบปีระหว่างจีนและสหภาพยุโรป และเป็นอันตรายต่อเป้าหมายการเดินหน้าเพื่อลดความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางสหภาพยุโรปยืนยันว่าจะเร่งขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน แม้ว่าเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปจะปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี่ก็ตาม และถือเป็นข้อพิพาททางการค้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างสหภาพยุโรปและปักกิ่งในรอบ 10 ปี

นอกจากนั้นสำนักข่าวซินหัวยังยืนยันถึงแหล่งข่าวระดับสูงภายในรัฐบาลจีนที่มองการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือ การเผยให้เห็นถึง "แรงกระตุ้นที่หยั่งรากลึกในนโยบายคุ้มครองการค้า" ของ EU และเป็นการกีดกันการค้าอย่างชัดเจน

"แทนที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ภาษีศุลกากรเหล่านี้กลับเสี่ยงที่จะจุดชนวนให้เกิดข้อขัดแย้งทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลเสียไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อความทะเยอทะยานของยุโรปในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ปลอดคาร์บอนด้วย" สำนักข่าวซินหัวระบุ "หนทางข้างหน้านั้นชัดเจน คือ ต้องยกเลิกภาษีศุลกากรเพื่อการค้า แล้วหันมาเจรจากันต่อไป"

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนของยุโรปพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศบางรายกังวลว่าอาจประสบกับความสูญเสียอย่างมากจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีน เพราะตลาดยุโรปเองให้ความสนใจต่อความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการหันมาใช้รถยนต์พลังไฟฟ้ากันมากขึ้น และขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกหลายแบรนด์

William Reinsch ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า วิธีการทำงานของเศรษฐกิจจีนแตกต่างจากระบบตลาดที่เสรี เพราะรัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตในจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จากนั้นก็มีการลงทุนมากเกินความจำเป็น และเมื่อมีการผลิตเกินความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้ต้องส่งออกไปยังตลาดโลก และนั่นคือ สาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องออกนอกประเทศ



ขยับแน่ขึ้นจากไม่เกิน 20% เป็น 45%

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน ทาง EU ได้ออกมาตรการของการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ไม่เกิน 10% มาเป็นระหว่าง 15-37% สำหรับแบรนด์ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องต้นทุนในการผลิตและการตั้งราคาขายรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ผลิตในจีน ซึ่งทำให้บางแบรนด์ในยุโรปที่มีฐานการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าในจีนโดนลูกหลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทางสหภาพยุโรปได้ลงมติจัดเก็บภาษีรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนสูงถึง 45% และคณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจในการบังคับใช้ภาษีนี้ต่อไปอีก 5 ปี โดยแหล่งข่าวระบุว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 10 ประเทศสนับสนุนภาษีดังกล่าว ในขณะที่เยอรมนีและอีก 4 ประเทศคัดค้าน และมี 12 ประเทศงดออกเสียง

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสืบสวนพบว่าจีนได้ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังไฟฟ้าของตนอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และจีนได้ขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้าจากยุโรป เช่น ผลิตภัณฑ์นม เนื้อหมู บรั่นดี และรถยนต์ เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำดังกล่าว

การปรับภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นนั้น จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อนำรถยนต์เข้าสู่กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการค้าของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกล่าวว่า ภาษีศุลกากรดังกล่าวจะช่วยต่อต้านการอุดหนุนของจีนที่ทางคณะกรรมาธิการฯ เล็งเห็นว่าไม่เป็นธรรม หลังจากการสอบสวนกรณีการอุดหนุนเป็นเวลานาน 1 ปี

กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้แสดงจุดยืนคัดค้านการขึ้นภาษีครั้งนี้อย่างสุดตัว โดยเรียกภาษีนี้ว่า “ไม่ยุติธรรม ไม่ปฏิบัติตาม และไม่สมเหตุสมผล” และได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้กล่าวว่า คณะกรรมาธิการจะยังคงเจรจากับปักกิ่งต่อไป และอาจจะมีการหาทางออกที่เหมาะสมได้



จำเป็นต้องปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์

แม้ว่าเยอรมนี ซึ่งเป็นทั้งประเทศที่มีแบรนด์รถยนต์อยู่ในตลาดมากที่สุด และเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของยอดขาย แต่เยอรมนีกลับไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ และเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ออกเสียงคัดค้าน แต่ทว่าทางคณะกรรมาธิการของ EU มองว่า การกระทำครั้งนี้ก็เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และกำลังปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้สามารถคงอยู่และยืนหยัดในการต่อสู้ได้

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินออกมาแล้วว่า แม้จะมีการขึ้นภาษีนำเข้าถึง 45% แต่เมื่อดูโดยรวมแล้วรถยนต์พลังไฟฟ้าของจีนก็ยังมีราคาถูกกว่าแบรนด์ในยุโรปอยู่ดี ซึ่ง Felipe Muñoz นักวิเคราะห์อาวุโสจาก JATO Dynamics กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนสามารถกดต้นทุนของรถยนต์ขนาดคอมแพ็กต์ให้ได้ในราคา 5,500 ดอลลาร์ (ราว 182,941 บาท) ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปต้องใช้ต้นทุนในการผลิตถึง 20,000 ดอลลาร์ (ราว 665,240 บาท) เลยทีเดียว ดังนั้น ช่องว่างในราคายังมีสูงมาก ซึ่งถึงจะโดนเรียกเก็บในระดับที่แพงขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีราคาแพงว่าแบรนด์ในยุโรป

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนลดต้นทุนในการผลิตได้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ สามารถผลิตได้จำนวนมาก ซึ่งช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยได้ ตามด้วยต้นทุนแรงงานต่ำกว่าหลายประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และความแข็งแกร่งของการจัดหาแบตเตอรี่



เยอรมนีคือหนึ่งเสียงที่คัดค้านการขึ้นภาษี โดยมีการระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการลงทุนของบริษัทรถยนต์จีนในประเทศเยอรมนีมากกว่าประเทศอย่างฝรั่งเศส และอิตาลีที่ออกเสียงสนับสนุนข้อกำหนดในครั้งนี้ โดยสมาคมการค้ายานยนต์ของเยอรมนี ยืนยันว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันที่ลงทุนในตลาดจีนอย่างแน่นอน

ตรงนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ Oliver Blume ซีอีโอของ Volkswagen ซึ่งยืนยันว่า สหภาพยุโรปควรพิจารณาปรับภาษีที่วางแผนไว้กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนในยุโรป “แทนที่จะใช้ภาษีที่ลงโทษ ควรให้เครดิตการลงทุนร่วมกัน ผู้ที่ลงทุน สร้างงาน และทำงานกับบริษัทในท้องถิ่นควรได้รับประโยชน์เมื่อต้องเสียภาษี” ซีอีโอของ Volkswagen กล่าวในการสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Bild am Sonntag

แน่นอนว่าเมื่อข้อกำหนดนี้ได้รับการโหวตผ่านและเริ่มนำมาใช้แล้ว สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาคือ การที่ EU จะต้องลดการพึ่งพาจากจีนในด้านต่างๆ ทั้งการนำเข้าและส่งออก นายมาริโอ ดรากี อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้กล่าวเตือนเมื่อไม่นานนี้ว่า การแข่งขันที่รัฐบาลจีนหนุนหลังนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสหภาพยุโรป ซึ่งอาจทำให้สหภาพยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจได้

และแม้จะมีความตึงเครียด แต่สหภาพยุโรปและจีนก็มีการค้ามูลค่า 7.39 แสนล้านยูโร (8.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2566 และประเทศสมาชิกบางประเทศมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับภาษีศุลกากรใหม่นี้ เพราะหลังจากที่มีการลงมติออกมา ทางการจีนก็เตรียมขึ้นภาษีสินค้าจากยุโรป เช่น ผลิตภัณฑ์นม เนื้อหมู บรั่นดี และรถยนต์ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ผลิตในยุโรปประสบปัญหาได้

ในเมื่ออัดยาแรงเข้าไปขนาดนี้ ก็ต้องเตรียมรับแรงกระแทกระดับสูงตามมาด้วย และเชื่อว่า การเปิดช่องให้ทั้ง 2 ฝ่ายยังสามารถเจรจากันได้ น่าจะทำให้สามารถมีทางออกร่วมกันที่ดีกว่านี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน การยืดหยุ่นในเชิงการทำงานดีกว่าการกีดกันทางการค้าด้วยภาษี



กำลังโหลดความคิดเห็น