xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจสุดโหด “นิสสัน” สร้างโป่งเทียมอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง พร้อมมอบรถแก่ WWF ศึกษา ดูแล พื้นที่ป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิสสันสนับสนุนองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ WWF ร่วมภารกิจรักษาและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งนิสสัน นาวารา รถกระบะพันธุ์อึด “ทน พร้อม ลุย” สนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ป่า พร้อมลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จ. สุราษฎร์ธานี สร้างโป่งเทียมเพิ่มแร่ธาตุเพื่อความสมบูรณ์ของสัตว์ป่าหายากในแหล่งทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าที่สำคัญทางภาคใต้ของไทย


วฤทธิ์ ภักดียิ่งยง รองประธานสายงานการขาย นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า “นอกจากภารกิจหลักของนิสสันในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต และยกระดับการเดินทางของผู้คนแล้ว นิสสันในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมไทยมานานกว่า 71 ปี ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนภารกิจป้องกัน และดับไฟป่าของกรมป่าไม้ในภาคเหนือ ในปีนี้ เราได้ขยายขอบเขตการทำงาน โดยร่วมมือกับ WWF ในภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่อื่นๆ เราเชื่อว่าการสนับสนุนจากนิสสัน จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยรถยนต์สมรรถนะสูงของเรา รวมถึงเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีค่าเพื่อประโยชน์ของคนไทย และโลกของเรา”


นิสสัน สนับสนุนรถกระบะนิสสัน นาวารา รุ่น PRO-4X ที่ “ทน พร้อม ลุย” ด้วยประโยชน์ใช้สอยเต็มพิกัด จำนวน 2 คันเป็นเวลา 6 เดือนให้แก่ WWF สำหรับใช้ในภารกิจศึกษา วิจัย ดูแล ฟื้นฟูพื้นที่ป่า และสัตว์ป่า เช่น การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติในป่าลึกเพื่อศึกษาจำนวน และพฤติกรรมสัตว์ป่า การบรรทุกอุปกรณ์สำหรับการบินโดรนเพื่อถ่ายภาพเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าเพื่อติดตามการฟื้นฟูป่า และความเสี่ยงในการบุกรุกใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า เป็นต้น


ทั้งนี้รถกระบะนิสสัน นาวารา รุ่น PRO-4X มากับเครื่องยนต์ทรงพลังความจุ 2.3 ลิตร 4 สูบ แบบทวินเทอร์โบ และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ สมรรถนะสูง แข็งแกร่งด้วยเชสซีเหล็กกล้า ที่สามารถลุยได้ทุกที่ และทุกรูปแบบของเส้นทาง ทั้งยังบรรทุกได้เต็มพิกัด นอกจากนี้ เทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ให้ความมั่นใจแก่ผู้ขับขี่ และสนับสนุนทุกภารกิจของ WWF ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการเก็บข้อมูลวิจัย การศึกษา การดูแลสัตว์ และพืชในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศหลากหลาย ท้าทาย ทั้งป่าที่มีความสลับซับซ้อน เขาสูง ลำธาร พื้นที่ชุ่มน้ำ และเส้นทางทุรกันดาร


ในภารกิจนี้ นิสสัน ยังได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้ พรรณพืช และสัตว์ป่าที่สำคัญของไทย พร้อมทั้งร่วมกับผู้จำหน่ายในพื้นที่สร้างโป่งเทียมร่วมกับ WWF เพื่อให้เป็นแหล่งแร่ธาตุเสริมสำหรับสัตว์ป่าในพื้นที่ อาทิ ช้างป่า เสือ หมี กระทิง วัวแดง สมเสร็จ นกนานาชนิด และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะสัตว์ป่าและป่าไม้มีความเชื่อมโยงเกื้อกูลกันอย่างใกล้ชิด


ธนะสิน ยิ้มน้อย ผู้จัดการโครงการ Eyes on the forest องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF ประเทศไทยกล่าวว่า “การสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างนิสสัน ช่วยให้ทีม WWF เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติงานที่เส้นทางเต็มไปด้วยความท้าทายได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น แม้ในช่วงฤดูฝนที่ทำให้การเดินทางยากกว่าปกติ การเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนแผนอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าจึงทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ความก้าวหน้าของการดำเนินงานของ WWF ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ต่อคนในพื้นที่และประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความยั่งยืนทางธรรมชาติของภูมิภาค และเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ดีสำหรับการอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกด้วย”


กีรติ เพชรทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง กล่าวว่า “งานอนุรักษ์ป่า และสัตว์ป่าเป็นงานปิดทองหลังพระ ยากที่คนทั่วไปจะได้เห็นความยากลำบาก กำลังกายและใจที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนทุ่มเทให้ การสนับสนุนจากนิสสัน และ WWF เป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันทำงานในส่วนที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ เพื่อความยั่งยืนทางธรรมชาติของไทยและของโลกด้วย"


นอกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จ. สุราษฎร์ธานี WWF ยังได้ใช้นิสสัน นาวารา รุ่น PRO-4X อีก 1 คันในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ทำภารกิจหลัก คือ การวิจัย เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผืนป่า และสัตว์ป่าสำคัญ เช่น เสือโคร่ง ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน จ. กำแพงเพชร ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่ฯ – ห้วยขาแข้ง และเป็นแหล่งที่พบเสือโคร่งจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รถกระบะนิสสัน นาวารา PRO-4X ได้สนับสนุนนำทีมวิจัยของ WWF และขนอุปกรณ์ที่จำเป็นเดินทางบุกป่าลึก ข้ามน้ำ ขึ้นเขาบนเส้นทางทุรกันดาร สำหรับการปฏิบัติภารกิจในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง


และในวันที่พวกเราเข้าไป เกิดฝนตกหลายชั่วโมง จนเจ้าหน้าที่ต้องประชุมใหญ่ ว่าจะนำสื่อมวลชนเข้าไปสร้างโป่งเทียมในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงได้หรือไม่ แต่สุดท้ายตัดสินใจลุย แม้เส้นทางจะโหด หนักหนาสาหัส พอสมควร แต่ก็สามารถทำภารกิจจนสำเร็จและออกมาอย่างปลอดภัย

ภารกิจเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของนิสสัน ประเทศไทย ที่จะสนับสนุนองค์กรพันธมิตรต่างๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อโลกที่น่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม


โป่ง (Saltlicks) คืออะไร

โป่งก็คือดินเนื้อค่อนข้างละเอียดที่มีรสเค็ม แต่ความเค็มของมันนี้เต็มไปด้วยแร่ธาตุอาหารหลากหลายชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม แมกนีเซียม กำมะถัน ทองแดง เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน ดังนั้น มันจึงกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญอีกแหล่งของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กินพืช เช่น กวาง วัวแดง กระทิงป่า ช้างป่า เนื่องจากพืชที่สัตว์กินเข้าไปไม่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุอย่างครบถ้วน พวกมันจึงต้องทดแทนแร่ธาตุที่ขาดด้วยการกินดินโป่งนั่นเอง


โดยทั่วไปแล้วโป่งซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการที่ฝนตกหนักและมีการชะล้างแร่ธาตุจากพื้นที่หนึ่งไปรวมตัวกันอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่งจนเกิดเป็นโป่ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนพื้นที่ราบเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ200-400 เมตร ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดงดิบ ซึ่งโป่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีสัดส่วนของธาตุอาหารที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ลักษณะของโป่งตามธรรมชาติแบ่งได้เป็น2 ชนิด คือ


1. โป่งดิน (Dry lick) เป็นโป่งที่สัตว์มีการใช้ปากเพื่อขุดกินดินเหล่านั้น โดยเริ่มกินผิวดินก่อนและกินลึกลงไปเรื่อย ๆ แต่จะมีความลึกไม่เกิน1 เมตร เมื่อสัตว์กินแร่ธาตุจากดินไปหมดแล้ว สัตว์จะทิ้งโป่งดินนี้แล้วไปหาโป่งใหม่แทน โป่งที่สัตว์ไม่กินแล้ว เรียกว่า โป่งร้าง

2. โป่งน้ำ (Wet licks)พบในบริเวณที่เป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำซึมบริเวณโป่งและมีน้ำขังตลอดปี ทำให้สัตว์ขุดกินได้ง่าย สัตว์ส่วนใหญ่จึงมักใช้โป่งน้ำบ่อยกว่าโป่งดิน


ประโยชน์ของโป่งต่อสัตว์ป่า มีทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม สำหรับประโยชน์ทางตรง ก็คือ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่กินพืช เช่น กวาง เก้ง ช้าง โดยสัตว์เหล่านี้จะกินดินจากโป่งและได้รับแร่ธาตุจากโป่ง ส่วนประโยชน์ทางอ้อม จะเอื้อต่อสัตว์ที่กินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivores) เช่น สิงโต เสือ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้จะใช้ประโยชน์จากโป่งเพื่อซุ่มโจมตีเหยื่อที่มากินโป่ง ซึ่งสัตว์ผู้ล่าก็จะได้แร่ธาตุจากส่วนนี้ ถือว่าเป็นการถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต (Energy flow) เป็นทอด ๆ


ในปัจจุบันโป่งตามธรรมชาติหายากขึ้นทุกที มนุษย์จึงมีการสร้างโป่งเทียม (Artificial Salt Licks) ขึ้น โดยการขุดดินเป็นบ่อและนำเกลือสมุทรผสมเข้าไป เพื่อให้สัตว์ป่าเข้ามากินแร่ธาตุทดแทนโป่งร้างที่หมดไป












กำลังโหลดความคิดเห็น