xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ค่ายรถเบรกแผนอีวี โอกาสสูงถูกคู่แข่งทิ้งไกลกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชี้การที่ค่ายรถหลายแห่งพากันเบรกเป้าหมายอีวีจะส่งผลให้ยอดการผลิตอีวี รถบรรทุกและเอสยูวีไฟฟ้าในปี 2030 ลดลงหลายล้านคัน นอกจากนั้นบริษัทที่ชะลอแผนปุบปับยังเสี่ยงถูกคู่แข่งระดับโลกอย่างบีวายดีของจีนทิ้งห่างไกลกว่าเดิม

บรรยากาศในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มพลิกผันเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการที่บริษัทเพียงไม่กี่แห่งประกาศขึงขังเรื่องดีมานด์อีวีชะลอตัว จนมาถึงตอนนี้บริษัทหลายแห่งกำลังชะลอการลงทุนและลดเป้าหมายเกี่ยวกับอีวี

รายงานฉบับใหม่จากบลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านพลังงานสะอาด ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้แค่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกในตลาดอีวีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตออกมาภายในปลายทศวรรษนี้ด้วย

บีเอ็นอีเอฟประเมินว่า บริษัทรถ 14 แห่งที่กำหนดเป้าหมายอีวีสำหรับปี 2030 จะผลิตอีวีรวมกัน 23.7 ล้านคันในปีนี้ ลดลงจาก 27 ล้านคันที่บริษัทเหล่านั้นเชื่อว่า จะขายได้ถ้ายังคงเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้เมื่อปลายปี 2023

บีเอ็นอีเอฟตั้งข้อสังเกตว่า ยอดขายอีวีทั่วโลกและในอเมริกายังคงเพิ่มขึ้นและผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมคาดหมายการเติบโตในระยะยาว นอกจากนั้น การเติบโตที่ชะลอลงจำนวนมากยังมาจากปัญหาเกี่ยวกับเทสลา กระนั้น กระแสนี้ส่งผลให้บริษัทรถชั้นนำที่เริ่มลังเลมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ไว้

แหล่งข่าวในค่ายรถหลายแห่งเปิดเผยกับอินไซด์อีวีส์ว่า เคยคาดหวังว่า จะได้เห็นจุดเริ่มต้นที่ยอดขายอีวีพุ่งขึ้นถาวร สวนทางกับยอดขายรถเครื่องยนต์สันดาปที่ทรุดลง ทว่า แม้ยอดขายรถใช้น้ำมันตกลงตั้งแต่ปี 2018 แต่ยังไม่เห็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนอย่างที่ค่ายรถเหล่านั้นต้องการ ซ้ำทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการทุ่มเทเวลาและเงินเพิ่มกับระบบส่งกำลังรถยนต์หลายแบบพร้อมกันโดยที่ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้

การชะลอแผนอีวีไม่ใช่ข่าวร้ายข่าวเดียวที่ทำให้กลุ่มคนที่ต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะกระแสหลัก แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า บริษัทรถที่เหยียบเบรกแรงเกินไปอาจเสียเปรียบในระยะยาวขณะที่การแข่งขันร้อนแรงมากขึ้น



บีเอ็นอีเอฟระบุว่า ปีนี้มีค่ายรถใหญ่ 6 แห่งที่ลดเป้าหมายยอดขายอีวีสำหรับทศวรรษปัจจุบัน โดย 3 บริษัทในจำนวนนี้ลดเป้าหมายสำหรับปี 2030 ลง 3.3 ล้านคัน

เมอร์เซเดส-เบนซ์ที่เคยประกาศว่า ยอดขายรถทั่วโลกทั้งหมดจะมาจากอีวีภายในปี 2030 ตอนนี้ลดเป้าหมายลง 50% เช่นเดียวกับฟอร์ดที่ปรับแผนมาเป็นขายอีวีอย่างเดียวเฉพาะในยุโรปภายในปี 2030 ซึ่งบีเอ็นอีเอฟประเมินว่า จะกระทบกับยอดขายอีวีทั่วโลกของฟอร์ด 40% ในปีดังกล่าว

วอลโว่ลดเป้าหมายในการขายเฉพาะอีวีภายในปี 2030 เช่นเดียวกัน โดยประกาศว่า ยอดขายอย่างน้อย 90% จะประกอบด้วยยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวและปลั๊กอินไฮบริดภายในสิ้นทศวรรษ

บีเอ็นอีเอฟสำทับว่า นอกจาก 3 บริษัทนี้ โฟล์คสวาเกนและสเตลแลนทิส สองค่ายรถใหญ่ที่สุดของยุโรป ยังห่างไกลจากเป้าหมายปี 2030 และมีความเป็นไปได้ว่า จะต้องปรับแผนเหมือนกัน

ไม่ใช่แค่เป้าหมายสำหรับปี 2030 เท่านั้น แต่เป้าหมายระยะสั้นก็ถูกลดทอนเช่นเดียวกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) กลับลำเป้าหมายการผลิตอีวีในอเมริกาเหนือ 1 ล้านคันภายในปี 2025 โดยซีอีโอ แมรี บาร์รา ให้เหตุผลว่า ตลาดยังพัฒนาไม่เต็มที่

โตโยต้า มอเตอร์ที่ลังเลในการอ้าแขนรับกระแสอีวีแต่เชื่อมั่นกับไฮบริดมากกว่านั้น ลดเป้าหมายยอดขายอีวีในปี 2026 จาก 1.5 ล้านคัน เหลือเพียง 1 ล้านคัน

บีเอ็นอีเอฟวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายอีวีปี 2025 ของค่ายรถต่างๆ และพบว่า เป้าหมายรวมกันเดิมอยู่ที่ 17.6 ล้านคัน (จาก 16 บริษัท) ตอนนี้ลดเหลือ 11.9 ล้านคัน (จาก 12 บริษัท)

เป้าหมายเหล่านั้นถูกประกาศออกมาเมื่อต้นทศวรรษ ในจังหวะที่บรรยากาศรายล้อมอีวีเต็มไปด้วยสีสันชีวิตชีวาและนัยที่มีต่อมูลค่าตลาดรวม



ราคาหุ้นเทสลาพุ่งขึ้นอย่างน่าประทับใจ สตาร์ทอัพอีวีออกจากมุมมืดและกลายร่างเป็นบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ค่ายรถชั้นนำอย่างจีเอ็มและฟอร์ดล้วนมุ่งมั่นกับอนาคตของอีวี ตอนนั้นดอกเบี้ยยังต่ำ และอุตสาหกรรมรถดั้งเดิมโดยรวมรู้สึกว่า ต้องสู้เต็มที่เพื่อตามให้ทันเทสลา

แต่อยู่ๆ ดูเหมือนสถานการณ์กลับตาลปัตร ผู้ผลิตรถเฝ้าสังเกตการณ์ว่า ใครจะมีเป้าหมายอีวีที่เป็นจริงและวัดผลได้ ขณะที่ตลาดจีน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายบริษัทตั้งเป้าหมายอีวีไว้สูงลิบ กลับทอดทิ้งค่ายรถตะวันตกส่วนใหญ่ รวมทั้งค่ายรถร่วมภูมิภาค และเลือกใช้รถที่ผลิตในท้องถิ่นแทน

ทั้งนี้ การที่ยอดขายอีวีชะลอตัวมีสาเหตุมากมายหลายประการ เช่น ตลาดใหม่นี้ยังคาดเดาได้ยาก ราคาแพง ดอกเบี้ยสูง และผู้บริโภคกังวลกับการชาร์จและระยะการขับขี่


อย่างไรก็ตาม บีเอ็นอีเอฟเตือนว่า การชะลอแผนการอีวีมีความเสี่ยงอย่างมาก เช่น จะทำให้การสร้างศักยภาพการทำกำไรล่าช้าออกไป เนื่องจากการทำเงินจากอีวีหมายถึงการบรรลุการประหยัดจากขนาดอย่างเหมาะสม ที่สำคัญผู้นำตลาดอย่างบีวายดีและเทสลาคงไม่นั่งรอให้บริษัทเหล่านั้นตามทัน เท่ากับว่า บริษัทรถดั้งเดิมถูกทิ้งไกลออกไปทุกที

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข่าวร้าย บีเอ็นอีเอฟชี้ว่า แผนการขายอีวี 528 รุ่นของค่ายรถทั้งหมดในปี 2030 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยอดขายอีวีและปลั๊กอินไฮบริดในอเมริกามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 20% ในปีนี้ แม้มีข่าวพาดหัวออกมาไม่ขาดสายว่า ตลาดอีวีอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม

บีเอ็นอีเอฟทิ้งท้ายว่า ฮุนได เกีย และบีเอ็มดับเบิลยูอาจเป็นจุดสว่างที่กำหนดเป้าหมายอีวีที่มีโอกาสเป็นจริงได้ และยกย่องความสำเร็จของบีวายดีในการบรรลุเป้าหมายยุติการขายรถเครื่องยนต์สันดาปและหันมาทุ่มเทกับอีวีและปลั๊กอินไฮบริดเต็มตัว



กำลังโหลดความคิดเห็น