xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายรถไฟฟ้าชะลอตัว โตโยต้า เปิดเกมรุกด้วยขุมพลังไฮบริด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โตโยต้า อาจจะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่เชื่องช้าที่สุดในการพัฒนายานยนต์พลังไฟฟ้า แต่พวกเขาอาจจะกลายเป็นเจ้าแรกที่เลิกผลิตรถยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในออกสู่ตลาด และเปลี่ยนมาใช้ขุมพลังลูกผสม โดยหันมาเดินพันแบบหมดหน้าตักกับเทคโนโลยีที่พวกเขาเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1997 นั่นคือ การขับเคลื่อนด้วยขุมพลังไฮบริดทั้งแบบปกติและ PHEV

หลังจากที่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าส่งสัญญาณ และแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดในแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ อากิโอะ โตโยดะที่เคยกล่าวเอาไว้เมื่อต้นปี ซึ่งตอนนั้นเขาระบุว่า ส่วนแบ่งในตลาดโลกของ BEV ยังไงก็ไม่น่าจะเกิน 30% ของยอดขายทั้งหมด

โตโยต้า เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกของโลกที่นำเสนอเทคโนโลยีไฮบริดที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางรถยนต์ไฮบริดที่ผลิตขายในเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลกอย่าง Prius เมื่อปี 1997 ถือเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ให้กับการเดินทางในวงกว้างนอกเหนือจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน และแน่นอนว่าจากคำกล่าวของ โตโยดะ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือการยืนยันว่าการมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนในการขับเคลื่อนนั้นไม่ได้มีแค่รถยนต์พลังไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายทางเลือกและหนึ่งในนั้นคือการเชื่อมต่อทั้ง 2 โลกเข้าด้วยกันผ่านทางขุมพลังไฮบริด

โตโยต้า ยังมั่นใจกับเทคโนโลยีไฮบริดในการตอบโจทย์ของการใช้ชีวิตช่วงที่โลกยานยนต์กำลังอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และขณะที่หลายแบรนด์ประกาศออกมาว่าจะเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และแทนที่ด้วยรถยนต์พลังไฟฟ้าในปี 2030 แต่ดูเหมือนว่านี่คือเรื่องยากกว่าที่ประกาศกันออกโครมๆ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2020 และในทางกลับกันโตโยต้าอาจจะกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวของโลกที่ประสบความสำเร็จในการยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายแบบเพียวๆ แต่มาสู่การขับเคลื่อนด้วยขุมพลังไฮบริดแทน โดย 2 ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าเคยให้สัมภาษณ์กับ Reuter ว่า พวกเขากำลังดำเนินการเปลี่ยนรถยนต์โตโยต้าและเลกซัสส่วนใหญ่ และในที่สุดอาจจะรวมถึงรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายทุกรุ่นให้เป็นรุ่นไฮบริด โดยจะเริ่มจากตลาดอเมริกาเหนือก่อน

การที่โตโยต้า เน้นย้ำอย่างหนักแน่นในเรื่องไฮบริดมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในวงกว้างของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกต่ออุตสาหกรรมในปัจจุบันและความเชื่อดั้งเดิมของหน่วยงานกำกับดูแลที่ว่ารถยนต์ทุกคันในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า


การเติบโตที่เพิ่มขึ้นสวนประแสรถยนต์พลังไฟฟ้า

กลยุทธ์ไฮบริดของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้มุ่งหวังที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดส่วนหนึ่งของตลาดที่เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่สูงและปัญหาการชาร์จไฟในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและญี่ปุ่น

รถยนต์ไฮบริดของโตโยต้า ไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟ และสลับไปมาระหว่างพลังงานน้ำมันและไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง หรือใช้ทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่ รถยนต์ไฮบริดแบบ PHEV หรือแบบเสียบปลั๊กสามารถชาร์จไฟได้ และโดยทั่วไปจะวิ่งได้ประมาณ 40 ไมล์ (64 กม.) ใน EV Mode ก่อนที่เครื่องยนต์จะถูกสตาร์ทขึ้นมาทำงานเพื่อมารับช่วงต่อในการขับเคลื่อน

การเติบโตของไฮบริดของโตโยต้าเป็นผลมาจากการลงทุนหลายสิบปีในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพและสมรรถนะของระบบส่งกำลังน้ำมันเบนซิน-มอเตอร์ไฟฟ้าการตัดสินใจที่จะผลิตแต่รถไฮบริดนั้นกลายเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจสำหรับผู้ผลิตรถยนต์และลูกค้าเนื่องจากเทคโนโลยีสำหรับรถไฮบริดมักทำให้ราคาขายปลีกของรถยนต์เพิ่มขึ้นราวๆ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ

ตอนนี้โตโยต้าเลิกผลิต คัมรี่ ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินแล้ว และมาพร้อมกับขุมพลังไฮบริด ซึ่ง คัมรี่ ถือเป็นรถเก๋งที่ขายดีที่สุดในอเมริกา ขณะที่Land Cruiser และมินิแวนSienna ก็มีจำหน่ายเฉพาะรุ่นไฮบริดเช่นกัน แต่นั่นก็เฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือ

เดวิด คริสต์ หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดของโตโยต้า ในอเมริกาเหนือ กล่าวกับReuter ว่า โตโยต้า คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฮบริดจะยังคงเร่งตัวขึ้นต่อไปจนถึงปีหน้า เขากล่าว "เราจะครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%
ของยอดขายทั้งหมดอย่างแน่นอน" โดยยอดขายรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนพุ่งสูงขึ้น 66% จากปีที่แล้วเป็น 438,845 คัน เมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเพียง 15,107
คันเท่านั้น



เปลี่ยนมาเป็นไฮบริดทั้งหมด บันไดขั้นแรกสู่ความเปลี่ยนแปลง

จากการเปิดเผยของ Reuter ยืนยันว่า แหล่งข่าว2 รายที่ทราบเกี่ยวกับการหารือเกี่ยวกับการวางแผนผลิตภัณฑ์ของโตโยต้า กล่าวว่าผู้ผลิตรถยนต์รายนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเลิกผลิตรุ่นที่ใช้น้ำมันเบนซินเพียงอย่างเดียวสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

"ในอนาคต เรามีแผนที่จะประเมินทีละรายว่าการใช้รถยนต์ไฮบริดทั้งหมดจะสมเหตุสมผลหรือไม่" คริสต์ กล่าวอีกว่า การประเมินดังกล่าวจะมาพร้อมกับการออกแบบใหม่ทุกรุ่น หรืออาจจะเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุง RAV4 ที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับรุ่นปี 2026 โดย RAV4 ซึ่งเป็นรถ SUV ที่ขายดีที่สุดในอเมริกา มีรุ่นไฮบริดแล้ว ซึ่งคิดเป็นยอดขายประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

เมื่อตัดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV 2 รุ่น และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงอีก1 รุ่นที่วางจำหน่ายในอเมริกาเหนือออกไปแล้วโตโยต้าและเลกซัส มีรถยนต์จำหน่ายในตลาดรวมกันมี 31 รุ่น โดยมีเพียงแค่ 8 รุ่นเท่านั้นที่มาในแบบไฮบริดเพียงอย่างเดียว และอีก 8 รุ่นที่มีทางเลือกแค่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ส่วนที่เหลือเป็นแบบผสมระหว่างเครื่องยนต์ไฮบริดกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน

การใช้กลยุทธ์ไฮบริดจะช่วยให้โตโยต้ามีข้อได้เปรียบเฉพาะตัวในการปฏิบัติตามข้อจำกัดด้านการปล่อยคาร์บอนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของสหรัฐอเมริกา โดยผู้บริหารของโตโยต้า และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะที่สหรัฐฯ ลดความเข้มงวดในเรื่องมลพิษภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่ประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ตรงนี้ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฮบริดในตลาดสหรัฐอเมริกามีตัวเลขเพิ่มขึ้น และยอดขายที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถประหยัดต้นทุนในการปรับเปลี่ยนสเป็กเพื่อสอดคล้องกับกฎระเบียบได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้พวกเขามีเวลาในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อื่นๆ มากขึ้น โดยมาตรฐานการปล่อยมลพิษใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2027 ถึงปี 2032

คริสต์กล่าวว่าโตโยต้ายังไม่ได้กำหนดเส้นตายในการผลิตรถยนต์ไฮบริดทั้งหมด และรถยนต์บางรุ่น เช่น รถกระบะและรถประหยัด อาจใช้เวลานานกว่าปกติ เนื่องจากผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาสำหรับรุ่นเริ่มต้น


ไฟฟ้ารอก่อน จะเริ่มลุยปี 2030

นอกเหนือจากรถยนต์ไฮบริดแล้วในปี 2030 โตโยต้า ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนสัดส่วนของรถยนต์ที่จำหน่ายทั่วโลกอีกด้วย
โดย 30% ของจำนวนรุ่นทั้งหมดที่วางตลาดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นขายดีเพียงไม่กี่รุ่น


ก่อนหน้านี้โตโยต้า ได้ประกาศแผนการลงทุน 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในพัฒนาแบตเตอรี่ใหม่และแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าภายในเวลานั้น แต่เดือนพฤษภาคม ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้กลับจัดแสดงเครื่องยนต์สันดาปภายในต้นแบบขนาดเล็ก ซึ่งระบุว่าในอนาคตอาจใช้เชื้อเพลิงชีวภาพหรือน้ำมันเบนซินสังเคราะห์คาร์บอนต่ำ และสามารถจับคู่กับระบบส่งกำลังแบบไฮบริดได้

นั่นหมายความว่าเป้าหมายของเขาอาจจะเปลี่ยนไป และเชื่อว่าโตโยต้าจะเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้แพล็ตฟอร์มสำหรับไฮบริดเพียงอย่างเดียวออกมาก่อน นั่นคือ Corolla plug-in hybrid ซึ่งน่าจะเข้าสู่ตลาดจีนในปี  2026 และสหรัฐอเมริกาในปี 2027 จากนั้น ค่อยถึงคิวของรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วนรุ่นใหม่ๆ

Cox Automotive ซึ่งตั้งอยู่ในแอตแลนตา คาดว่าการเติบโตของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะยังคงอยู่ในระดับปานกลางอีกไม่กี่ปีข้างหน้า "การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจะยังคงดำเนินต่อไป แต่จะไม่ถึงระดับที่เราเห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา"Stephanie Valdez Streaty นักวิเคราะห์อาวุโสของ Cox กล่าว "รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้าทั่วไปจะยังคงกินยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในระหว่างนี้ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าและคุ้นเคยกว่า และไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทางอีกต่อไป"

การที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่มีความยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ เป้าหมายหลักของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าการมุ่งหน้าสู่ถนนสายนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ และจำเป็นจะต้องมีตัวเชื่อมต่อที่ชื่อว่า HEV และ PHEV


กำลังโหลดความคิดเห็น