แม้ว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าจะกลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกที่กำลังจะซื้อรถยนต์คันใหม่ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายของ BEV เหล่านี้มีอัตราแบบก้าวกระโดด แต่สุดท้ายแล้วบรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างเชื่อตรงกันว่า ในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในด้านการเติบโต และอาจจะมีการขยายตัวช้ากว่าที่เคยถูกประเมินเอาไว้
หลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดช่วงหลายปีที่ผ่านมา การให้คำมั่นสัญญาที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและกระแสตอบรับที่ดี จนหลายตลาดทั่วโลกต้องเผชิญกับความปั่นป่วน บริษัทผลิตรถยนต์ เช่น Toyota, Ford และ Volvo กำลังปรับลดแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลง เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคยังมีความแตกต่างกันในทั้ง 2 ฝั่ง
ในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ของ Morgan Stanley กล่าวว่าการชะลอตัวของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะคงอยู่ต่อไปอีก 12-18 เดือน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าโมเมนตัมของรถยนต์ไฟฟ้าจะ "กลับมาฟื้นตัว" อีกทั้งในช่วงปี 2027 และจะเป็นการสวิงตัวกลับในระดับที่มีอัตราการขยายตัวที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า นี่คือ การ "การชะลอตัว" ไม่ใช่เรื่องของยอดขายลดลง แน่นอนว่าอัตราส่วนของคนที่ซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้ายังมีอยู่ แต่จะไม่ถูกโหมกระหน่ำแบบรุนแรงและรวดเร็วเหมือนกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า ในช่วงปี 2025-2026 เราอาจจะได้เห็นตัวเลขของอัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วไม่ได้เป็นตัวเลข 2 หลักเหมือนกับที่ผ่านมา
มีการประเมินว่า ระหว่างปี 2024 ถึง 2026 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลกจะเติบโตจาก 14% เป็น 17% ซึ่งลดลง 3% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยจะแตะระดับ 32% ของตลาดโลกในปี 2030 (แต่ก็ลดลง 8% จากที่นักวิเคราะห์ของธนาคารคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้)
‘เราผ่านช่วงช็อคของความเปลี่ยนแปลงกันมาแล้ว ดีมานด์ที่มหาศาลอันมาจากความต้องการทดลองกับของใหม่ เพื่อหลีกหนีจากความเจ็บปวดในเรื่องของราคาน้ำมัน และการเดินตามนโยบายของภาครัฐที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งหน้าสู่การเดินทางด้วยรถยนต์พลังไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้คือ ตัวขับเคลื่อนให้ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในช่วงแรกเติบโตอย่างมาก’ นักวิเคราะห์ที่ไม่ระบุนามรายหนึ่งกล่าว ‘อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านช่วงชุลมุนมาแล้ว เราจะพบว่า ในท้ายที่สุดตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าก็เหมือนกับตลาดรถยนต์ประเภทอื่น คือ มันอาจจะไม่ได้ดีตามที่พวกเขาคาดหวัง’
ดังนั้น ยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าน่าจะยังคงเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพียงแต่ไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน
มีการเปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้รถยนต์พลังไฟฟ้าจะชะลอตัวคือ เรื่องของระบบสาธารณูปโภค เช่น ที่ชาร์จสาธารณะ และความสะดวกในการใช้งานที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้รถยนต์ ทำให้หลายคนเลือกที่จะชะลอการตัดสินใจ และเลือกที่จะหันไปหารถยนต์ไฮบริดทั้งแบบ HEV และ PHEV จนทำให้ยอดขายขยับตัวสูงขึ้นแบบมีนัยยะในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งคือ เรื่องความสะดวกในการใช้งานที่ไม่ต้องปรับพฤติกรรมมากมาย และช่วยประหยัดน้ำมันในระดับที่เห็นภาพชัด ที่สำคัญ คือ มีราคาที่ถูกกว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าที่ไม่ได้รับการอุดหนุนในด้านราคาจากทางภาครัฐเหมือนกับช่วงที่เปิดขายในตอนแรกๆ และเมื่อพิจารณาจากยอดขายรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา Morgan Stanley จึงปรับเพิ่มประมาณการอัตราการใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดทั่วโลกเป็น 14% ภายในปี 2030 ซึ่งสูงกว่าประมาณการก่อนหน้านี้ 3.5%
ยอดขายที่ไม่เพิ่มขึ้น ส่วนในตลาดใหญ่ก็จะมาจากตลาดอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เอื้อมถึงได้และภาษีนำเข้าของผู้ผลิตในจีน "ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้" นักวิเคราะห์ระบุว่าราคารถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน 20-30% อัตราดอกเบี้ยที่สูงก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน
ประกอบกับผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกยังกำลังชะลอการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งยังไม่ทำกำไร บริษัทส่วนใหญ่ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ลงทุนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาและสายการผลิตใหม่ แต่ยังไม่บรรลุผล ดังนั้น พวกเขาจึงทุ่มเงินเป็นสองเท่าในการลงทุนด้านรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแทน
บางบริษัทเริ่มกลับลำและไม่ดำเนินนโยบายในการผลิตรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่ประกาศออกมาเมื่อต้นทศวรรษที่ 2020 ซึ่ง Volvo คือ รายล่าสุด ซึ่งหลังจากที่มองเห็นการชะลอตัวของตลาด การเดินหน้าสู่เป้าหมายของการเป็นแบรนด์ Pure BEV อย่างที่เคยมีมา ก็ต้องเปลี่ยนไปเพื่อความอยู่รอดเหมือนกับที่ Volkswagen และ Mercedes-Benz ทำไปแล้วก่อนหน้านั้น
แล้วตลาด BEV จะกลับมาไหม ?
คำถามที่เกิดขึ้น คือ แล้วความต้องการแบบถล่มทลายที่มีต่อ BEV จะกลับมาอีกครั้งเหมือนกับในช่วงแรกหรือไม่ ? คำตอบ คือ มี แต่อาจจะไม่ใช้คลื่นลูกใหญ่แห่งความต้องการเหมือนกับช่วงแรกๆ โดยจากที่ Morgan Stanley ประเมินไว้ คือ ปี 2027 นั่นหมายความว่าอะไรหลายอย่างที่เคยเป็นจุดด้อยของการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าจะต้องหมดไป เช่น แท่นชาร์จสาธารณะ ความสะดวกในการใช้งาน เช่น ระยะทางในการแล่นต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ราคาของรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ลดลง (โดยไม่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนของทางภาครัฐ) และตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าดึงดูดใจหลากหลายมากขึ้น
แต่มีอีกเหตุผลที่น่าสนใจคือ อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความร่วมมือใหม่ระหว่างบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างผู้ผลิตในจีนและตะวันตก
“การเพิ่มความร่วมมือระหว่าง OEM ดั้งเดิมและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเห็นได้จาก VW-XPeng, Stellantis-Leap และ VW-Rivian อาจช่วยกระตุ้นความสนใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง” รายงานระบุ
แบรนด์รถยนต์ที่เกิดมาก่อนจะมีจุดเด่นในเรื่องของความสามารถในการผลิตเป็นจำนวนมาก ห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่พัฒนาแล้ว แบรนด์ที่แข็งแกร่ง และการเข้าถึงเงินทุน แบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ มีอำนาจเหนือกว่าเมื่อพูดถึงซอฟต์แวร์ สถาปัตยกรรมไฟฟ้า (ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในวงกว้างมากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาและยุโรปกำลังดิ้นรนเพื่อผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าที่มีราคาไม่แพงอย่างมีกำไรสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ผู้ผลิตในจีนซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากมาย มีองค์ความรู้ในเรื่องวงจรการพัฒนารถยนต์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีขั้นสูง และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่ภาษีศุลกากร คือ อุปสรรคที่จะขัดขวางความก้าวหน้าของพวกเขาในตลาดขนาดใหญ่ของประเทศในแถบตะวันตก
ทั้งหมดนี้ทำให้การร่วมทุนดูเหมือนเป็นผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายลงตัวที่สุดในตอนนี้ และมันเกิดขึ้นแล้ว กลุ่ม Volkswagen ซึ่งเพิ่งลงนามข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับ Rivian เพื่อใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ยานยนต์และสถาปัตยกรรมไฟฟ้าของบริษัทสตาร์ทอัพ หรือการจับมือกับ XPeng ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น
คำถามใหญ่คือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะอนุญาตให้บริษัทร่วมทุนจีน-อเมริกาสร้างรถยนต์พลังไฟฟ้าในบ้านตัวเองได้หรือไม่ แม้จะมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ตาม เพราะสหรัฐอเมริกามีแผนที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน 100% ขณะที่ทางแบรนด์จีนอย่าง BYD ก็ต้องมองหาทางออกด้วยการตั้งโรงงานในประเทศที่อยู่ในกลุ่ม NAFTA เช่น เม็กซิโก เพื่อเลี่ยงปัญหานี้ ซึ่งสุดท้ายดูเหมือนทางออกนี้ก็ถูกปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยทั้งจากสหรัฐอเมริกา และแคนาดา
ในเมื่อแข่งขันกันเองอาจจะพากันพัง ดังนั้น การร่วมมือระหว่างกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด