xs
xsm
sm
md
lg

“รถไฮบริด” เค้กชิ้นใหม่ ค่ายจีนเตรียมยึดหัวหาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีกสัญญาณที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น หรืออาจจะรวมถึงเกาหลี ต้องอยู่ในระดับที่ ‘เหนื่อย’ ในตลาดรถยนต์ตอนนี้ คือ การเปิดแนวรุกใหม่ของจีน ในตลาดรถยนต์ไฮบริด ที่ในอดีตมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำทั้ง Toyota, Honda, Nissan และ Mitsubishi

รถยนต์ไฮบริด ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างกลางของการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) สู่การขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษที่นำโดยรถยนต์พลังไฟฟ้า (BEV) ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ รถยนต์ไฮบริดจึงกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นไฮบริดธรรมดา (HEV) หรือแบบเสียบปลั๊ก (PHEV)


ตัวเลือกที่มาแทน BEV

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ไฮบริดในตลาดโลกได้รับความนิยมมากขึ้น จนมียอดขายในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ในระดับที่น่าพอใจคือ ความกังวลของลูกค้าในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ระบบชาร์จสาธารณะที่ยังไม่พร้อม และราคาที่ค่อนข้างสูง


ครึ่งแรกของปี 2024 รถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปและสหรัฐอเมริกามียอดขายอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับรถยนต์ไฮบริดที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมองในภาพรวมของตลาดโลก ทาง IEA (International Energy Agency) คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดจะมียอดขายรวมกันประมาณ 17 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 20% เทียบกับปี 2023

เดือนมิถุนายน 2024 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ในยุโรป แม้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังครองตลาดกลุ่มใหญ่อยู่ด้วยตัวเลข 47.1% (เบนซิน 34.3% , ดีเซล 12.7%) แต่รถยนต์ไฮบริดก็ถือว่าไม่เป็นรอง เพราะเมื่อรวม HEV และ PHEV เข้าด้วยกันแล้ว จะมีส่วนแบ่งถึง 35.6% (HEV 29.5% , PHEV 6.1%) แต่ถ้านับรวม BEV (14.4%) ด้วย ส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์พลังงานใหม่จะสูงถึง 50% แซงหน้ากลุ่ม ICE ไปเรียบร้อย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า สัดส่วนยอดขายหรือยอดจดทะเบียนรถยนต์ในกลุ่มที่มีแบตเตอรี่ในตัว (HEV+PHEV+BEV) น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ราคาของรถยนต์ไฟฟ้า BEV ถูกกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ราวๆ ปี 2030 การสลับขั้วของเทคโนโลยีจะเริ่มขึ้น และรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในก็จะลดลง


ตลาดนี้ยังถูกครองโดยญี่ปุ่น

ตลาดรถยนต์ไฮบริดเริ่มต้นขึ้นในปี 1997 พร้อมกับการมาของ Toyota Prius ในญี่ปุ่น และสำหรับตลาดโลกเริ่มในปี 2000 เมื่อฮอนด้า (Honda) เริ่มบุกตลาดด้วย Insight และ Civic Hybrid ซึ่งเมื่อมองจากภาพรวมแล้ว รถยนต์ไฮบริดที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น

โตโยต้า (Toyota) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2023-24 บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า หรือ 5.3 ล้านล้านเยน (34,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขายรถยนต์ได้ 11 ล้านคันทั่วโลก (รวม Lexus) เพิ่มขึ้น 7.3% จากปีก่อน สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจัยที่ส่งให้มีกำไรถึงขนาดนี้

โยอิจิ มิยาซากิ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทกล่าวว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เป็นผลมาจากความต้องการ HEV ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโตโยต้าขายได้ 3.6 ล้านคันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 32.1% จากปีก่อน โดยมีอเมริกาเหนือเป็นตลาดหลัก


นักวิเคราะห์ประเมินว่า ความต้องการรถยนต์ไฮบริดจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตรงข้ามกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ชะลอตัวลง สาเหตุมาจากความไม่พร้อมของระบบชาร์จสาธารณะ ราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูง และความกังวลในเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค

มีการเปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ไฮบริดจะยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง และดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าปัจจัยลบข้างต้นเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าจะหายไป โดยเฉพาะในเรื่องราคา


ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เมื่อรถไฮบริดจีนผงาด

การมาของรถยนต์ไฟฟ้าจีนส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าเมื่อตลาดรถยนต์ไฮบริดมีความต้องการเพิ่มขึ้นแบบมีนัยยะ แม้จะแค่ระยะสั้น เราก็อาจจะได้เห็นการรุกระลอกที่ 2 ของแบรนด์จีน และนี่คือสิ่งที่น่ากังวล

2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้า BEV ของจีนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดโลกได้มากขนาดไหน หลายภูมิภาคถึงกับต้องงัดมุกเก่าขึ้นมาใช้ นั่นคือการตั้งกำแพงภาษี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านตัวเอง


ในตลาดโลก บางแบรนด์ของจีนมีรถทั้ง HEV และ PHEV ทำตลาดอยู่ แต่ด้วยราคาที่ยังพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่แข่ง ดังนั้น 'ชื่อเสียง' และ 'ความเชื่อมั่น' จึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงเลือกแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมานานและพวกเขายังมั่นใจอยู่

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าแบรนด์จีนยังคงใช้กลยุทธ์ราคา และปล่อยผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมาถล่มตลาดไฮบริด ในรูปแบบเดียวกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่พวกเขาประสบความสำเร็จมาแล้ว และในตลาดรถยนต์จีน PHEV ถือเป็นรถยนต์พลังงานใหม่ หรือ NEV (New Energy Vehicle) ที่ภาครัฐพร้อมสนับสนุนในด้านต่างๆ ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการรุกออกสู่ตลาดภายนอก


จากการเปิดเผยของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน ยอดขายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดเพิ่มขึ้นเป็น 879,000 คัน คิดเป็น 50.8% ของยอดขายทั้งหมด ยอดขายรถยนต์ใหม่ลดลง 2% เหลือ 1.73 ล้านคัน และถือเป็นครั้งแรกของจีนที่รถยนต์พลังงานใหม่ หรือ NEV มียอดขายเกิน 50% เรียกว่าแซงหน้ารถยนต์แบบ ICE ไปแล้ว

นั่นหมายความว่า ถ้าจีนจะรุกตลาดทั่วโลกรอบ 2 ด้วยรถยนต์ทั้ง HEV หรือ PHEV ด้วยแนวทางแบบเดิม ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจสามารถถล่มคู่แข่งในตลาดให้กระอักได้ ด้วยกลยุทธ์ด้านราคาที่เย้ายวน พร้อมสเป็กที่เหนือกว่า

ตัวอย่างเช่น MG 3 ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาด้วยราคาไม่เกิน 600,000 บาท (ในช่วงเริ่มต้น) ถือว่าป่วนตลาดรถยนต์ในกลุ่ม Eco Car (ในแง่ราคา) และ B-Segment (ในแง่สเป็ก) ได้ในระดับหนึ่ง เพราะนอกจากราคาที่ดีแล้ว ตัวเลขการประหยัดน้ำมันในระดับ 26.2 กิโลเมตรต่อลิตร หรือน้ำมัน 1 ถังไปถึงเชียงใหม่ได้สบายๆ ก็ถือว่าไม่ธรรมดา


หรืออย่าง BYD Sealion 6 กับราคาเพียง 1.039 ล้านบาท ทั้งๆ ที่อยู่ในคลาสเดียวกับ Honda CR-V หรือ SUV กลุ่ม C-Segment พร้อมสเป็กแบบจัดเต็ม คงกระชากความสนใจจากผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ตลาด BEV ได้อย่างแน่นอน

สำหรับตลาดรถยนต์ไฮบริดทั้ง HEV และ PHEV ในประเทศไทยถือว่ามีจำนวนไม่น้อย ด้วยตัวเลขยอดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ 187,000 คันโดยประมาณ ตัวเลขระดับนี้ถือว่าเป็นอีกชิ้นเค้กที่ผู้ผลิตจีนกำลังจับตามอง และพร้อมกระโจนเข้าใส่ได้ทุกเมื่อ บอกเลยว่างานนี้ถ้าแบรนด์ญี่ปุ่นตั้งรับไม่ดี โอกาสพ่ายศึกมีสูง




กำลังโหลดความคิดเห็น