‘รวมกันเราอยู่’ น่าจะยังเป็นคำกล่าวที่สุดคลาสสิกที่ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัยและในทุกวงการ พอๆ กับคำกล่าวที่ว่า ‘ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร’ เพราะล่าสุด มีการเปิดเผยว่า ฮอนด้า, นิสสัน และมิตซูบิชิ ร่วมมือกันเพื่อเป็นพันธมิตรในการร่วมผลิตรถยนต์รุ่นใหม่โดยวางเป้าหมายในการจำหน่ายเอาไว้ที่ 8 ล้านคันตลอดทั้งโปรเจ็กต์ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อดีดลูกคิดคำนวนต้นทุนแล้ว น่าจะทำให้รถยนต์รุ่นนี้สามารถแข่งขันกับรถยนต์พลังไฟฟ้าราคาถูกจากจีนที่กำลังตีตลาดทั่วโลกอยู่ในตอนนี้
ข่าวนี้ได้รับการเปิดเผยจากนิคเคอิ บิสซิเนส สื่อในญี่ปุ่น ซึ่งยืนยันว่า ทั้ง 3 บริษัทเปิดโปรเจ็กต์ใหม่ร่วมกันด้วยการสร้างกลุ่มบริษัทรถยนต์ใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้วอลุ่มในเรื่องยอดขายเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการผลิต โดยตั้งเป้ายอดขายรถยนต์รวมของกลุ่มนี้เอาไว้ที่ 8 ล้านคัน นั่นหมายความว่า จากเดิมที่ 3 บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจในแบบต่างคนต่างทำ พวกเขาก็จะกลับมาร่วมกันสร้างรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถแชร์พื้นฐานร่วมกันได้ โดยอาศัยเรื่องของปริมาณยอดขายและกำลังการผลิตมาใช้ในการลดต้นทุนต่อหน่วยเพื่อแข่งขันกับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เน้นกลยุทธ์การแข่งขันด้วยการใช้ราคามาเป็นตัวนำ
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม ทางฮอนด้า และนิสสันได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงไม่ผูกมัดในการผลิตส่วนประกอบสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ในแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ยานยนต์ ถือเป็นสัญญาณเพิ่มเติมว่าผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังหันความสนใจและรวมกลุ่มกันใหม่เพื่อมุ่งเน้นไปที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่น
ล่าสุดนิสสันเพิ่งประกาศว่าได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงอีกฉบับกับ Mitsubishi Corporation "เพื่อสำรวจความคิดริเริ่มร่วมกันใหม่ในด้านยานยนต์รุ่นต่อไปและบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมในภูมิภาคและสร้างชุมชนแห่งอนาคตที่สดใส" Mitsubishi Corporation ถือหุ้น 20% และนิสสัน ถือหุ้น 34% ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนรองในกลุ่มพันธมิตรนิสสัน และ เรโนลต์
เชื่อว่าข่าวความร่วมมือล่าสุดน่าจะเป็นการต่อยอดจากการลงนามครั้งแรกที่เกิดขึ้น 2 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยที่มีนิสสัน เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งหมด ขณะที่อีกกระแสบอกว่าเป็นการทำงานที่ต่อเนื่องมาจาก MOU ฉบับก่อนหน้าที่ฮอนด้ากับมิตซูบิชิลงนามร่วมกันในเดือนตุลาคม 2023 เพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Altna โดยจะถือหุ้นร่วมกัน 50/50% และจะเริ่มดำเนินธุรกิจร่วมกันในเดือนกรกฎาคมนี้
โดย Altna ถูกจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายต่อการนำรถยนต์ไฟฟ้าไปใช้ในสังคมและการทำให้สังคมปลอดคาร์บอน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ซึ่งมีทรัพยากรจำกัดต่างๆ และปรับปรุงการหมุนเวียนทรัพยากรภายในประเทศญี่ปุ่น และการรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับความสามารถในการปรับเปลี่ยนผ่านแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าเพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในพลังงานผสมประเทศญี่ปุ่น
จากการเปิดเผยของทั้ง 2 บริษัทระบุว่า Altna จะมุ่งมั่นที่จะนำเสนอบริการการเดินทางรูปแบบใหม่ที่จะลดต้นทุนรวมของการเป็นเจ้าของสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสร้างการดำเนินการด้านแหล่งจ่ายไฟรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้สามารถใช้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ในระยะยาว โดยการรวมเทคโนโลยีควบคุมและเชื่อมต่อของฮอนด้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เข้ากับความรู้ความชำนาญด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบ MC ซึ่งขยายไปถึงการบริหารจัดการระบบแบตเตอรี่สำรองและการดำเนินการชาร์จไฟอัจฉริยะ
ไม่ว่าการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะมาจาก MOU ฉบับไหนก็ตาม มีการสะท้อนให้เห็นว่า การจับมือของ 3 บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเพื่อก่อตั้งสิ่งที่เรียกว่า Auto Group ของพวกเขาขึ้นมานั้น เหมือนกับเป็นการบอกนัยๆ 2 เรื่องด้วยกัน
อย่างแรก คือ ความร่วมมือของนิสสัน และเรโนลต์ แห่งฝรั่งเศสในฐานะพันธมิตรกำลังถอดถอย และใกล้ถึงทางตันในเร็วๆ นี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นิสสันตั้งใจที่จะลงทุน 600 ล้านยูโรใน Ampere ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเรโนลต์ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างการลงทุน แต่สุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ 2024 เรโนลต์ประกาศว่าจะไม่เสนอขาย Ampere อีกต่อไป แถมยังประกาศด้วยว่ากำลังหารือเกี่ยวกับการแบ่งปันแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้ากับโฟล์กสวาแกนแทน
นั่นทำให้นิสสันจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรใหม่เพื่อขยับเขยื้อนธุรกิจของตัวเองบ้าง และความร่วมมือในครั้งนี้คือ ทางออกของเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ เป็นการยืนยันให้เห็นว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าราคาไม่แพงมากจากจีนคือ ภัยคุกคามที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ทั่วไปที่ไม่ใช่ระดับหรู และเป็นการยืนยันอีกว่าบางโปรเจ็กต์ของ ฮอนด้าที่เคยประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เช่น การพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell กับทาง GM อาจจะไม่ได้ไปต่อ เพื่อที่จะมาทุ่มให้กับโปรเจ็กต์นี้ของทั้ง 3 แบรนด์
ก่อนหน้านี้ ทาง NHK ญี่ปุ่นมีการรายงาน ฮอนด้าญี่ปุ่นประกาศว่าจะลดกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลง 50% อันเป็นผลมาจากการสูญเสียตลาดให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่เชื่อว่าตัวเลขยอดขายและส่วนแบ่งของตลาดจะกลับมาสู่สภาพปกติเหมือนกับในอดีตได้ และความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตของฮอนด้า ในประเทศไทยลดลงจาก 270,000 คัน เหลือ 120,000 คันต่อปี
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 บริษัทปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวนี้ ขณะที่มีรายงานว่า การผลักดันให้เกิดโปรเจ็กต์มาจากทางนิสสัน ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น กำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่องในตลาดที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งของบริษัท คือ สหรัฐอเมริกาและจีน
ตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนของ นิสสัน เมื่อดูจากตัวเลขยอดขายในปีธุรกิจที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายของทั้ง 2 ตลาดถือว่ามีสัดส่วนที่เยอะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งปีของนิสสัน และกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นิสสันต้องปรับตัวเลขประมาณการในเรื่องผลประกอบการของบริษัทใหม่ทั้งหมด หลังจากที่ยอดขายในไตรมาสแรกของนิสสัน ลดลง และทำให้กำไรในไตรมาสแรกของบริษัทหายไปเกือบหมด
ความร่วมมือกันจะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นสามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำลังเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นในรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีบริษัทอย่าง บีบายดีและเทสล่า ครองตลาดอยู่ทั้งในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแบรนด์ญี่ปุ่นเคยแข็งแกร่งมาก่อน แต่ตอนนี้ต้องเผชิญหน้ากับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนที่เพิ่มปริมาณการผลิตอย่างรวดเร็วและชนะใจผู้บริโภคด้วยรถยนต์ราคาถูกที่อัดแน่นไปด้วยซอฟต์แวร์
เรียกว่าถ้าไม่ขยับและจับมือไปด้วยกัน โอกาสที่จะถูก Disrupt ออกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีสูงมาก