สิ่งที่น่าสนใจในรายงานชิ้นล่าสุดของ S&P Global Mobility ซึ่งติดตามในเรื่องของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในสหรัฐอเมริกา คือ มีแนวโน้มว่าคนอเมริกันจะซื้อรถยนต์กันน้อยลง และอายุเฉลี่ยของการครอบครองรถยนต์ถูกขยับเพิ่มเป็น 12.6 ปี เรียกว่าการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ตามไซเคิลของอายุตลาดแทบจะลดลงจากเดิมที่มักจะเปลี่ยนรถยนต์ใหม่การเปิดตัวกลายมาเป็นการใช้งานที่นานขึ้น
สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงเรื่องนี้คือ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของคนอเมริกัน และสภาพเศรษฐกิจ โดยทาง S&P Global Mobility ระบุว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนอเมริกันทนใช้รถยนต์ต่อไป แทนที่จะเปลี่ยนรถยนต์ใหม่เมื่อถึงอายุที่ต้องเปลี่ยนคือ ราคารถยนต์ในปัจจุบันแพงขึ้นอย่างมาก โดยราคาเฉลี่ยของรถยนต์ในตลาดเมืองลุงแซมอยู่ที่ 45,000 เหรียญสหรัฐฯ แม้ว่าจะลดลงจากปีที่แล้วราวๆ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่สุดท้ายนี่คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้คนตัดสินใจใช้รถยนต์คันเดิมต่อไป
‘เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยนี้ถือว่าไม่สูงเท่าไร แต่กับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อ นี่คือ สัญญาณอันตรายในแง่ยอดขายรถยนต์ใหม่ โดยที่ยังไม่นับรวมปัจจัยในด้านอื่นๆ อีกด้วย’ Todd Campau หัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้ของ S&P Global Mobility กล่าว
ในช่วงโควิดและหลังโควิด ตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาในเรื่องของยอดขายมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะพวกเขาไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันการส่งมอบเนื่องจากภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอีกส่วนประกอบในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรถยนต์ในปัจจุบันโดยอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกาเผชิญกับปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2020 แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายกลับมากระเตื้องขึ้นในระดับ 13-15 ล้านคันต่อ หลังจากที่มีการอัดฉีดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เย้ายวนบวกกับการเปิดตัวรถใหม่ และการส่งมอบรถยนต์ได้ทันความต้องการ
‘ปีนี้เราคิดว่า ตลาดรถยนต์ใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็น่าจะอยู่ช่วงราวๆ 15.6 ล้านคันเหมือนกับ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจัยเชิงลบในเรื่องของเศรษฐกิจ’ Campau กล่าวเพิ่มเติม
เศรษฐกิจและความไม่สนใจครอบครองของคนรุ่นใหม่
สภาพเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การตัดสินใจชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ของคนอเมริกัน โดยตอนนี้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และทำให้ค่าครองชีพของคนอเมริกันเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ยังไม่ดีขึ้นเหมือนกับสมัยก่อน COVID-19 ซึ่งจากการสำรวจของ Bank of America มีการระบุว่า 46% ของคนวัย Gen Z หรือผู้ที่เกิดในช่วง (1998 เป็นต้นมา) ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ไม่ว่าจะด้านในด้านหนึ่งอยู่ แม้ว่าจะทำงานแล้วก็ตาม
นอกจากนั้น ความสามารถในการครอบครองของพวกเขายังลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้าน หรือรถยนต์ โดยจากการเปิดเผยในวิจัยของ Bank of America ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18-27 ปีไม่มีความสามรถในการซื้อบ้านหรือรถยนต์ได้เลยในช่วง 5 ปีนับจากนี้ อีกทั้งส่วนใหญ่ชอบที่จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากว่าที่จะครอบครองรถยนต์ส่วนตัวที่คนในกลุ่มนี้มองว่าเป็นภาระมากกว่าความสะดวกสบาย
นอกจากนั้น จากการวิจัยเปิดเผยว่า ตัวลขขั้นต่ำของยอดผ่อนชำระของค่างวดรถยนต์ยังเป็นอุปสรรคในการผ่อนชำระสำหรับบางครัวเรือนอีกด้วย โดยเมื่ออ้างอิงจากตัวเลขราคาขายเฉลี่ย มาเข้าสูตรในการคำนวนดอกเบี้ยและระยะในการผ่อนนั้น การผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ 729 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับหลาย ๆ คน โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในสหรัฐฯ จะไม่สามารถจ่ายค่ารถใหม่โดยเฉลี่ยได้อีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องปันรายได้สำหรับจ่ายให้กับเรื่องอื่นๆ ของการใช้ชีวิต
‘มันเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ดูแล้วเริ่มเยอะเมื่อมองจากรายได้ของแต่ละครัวเรือนที่เกิดขึ้น สำหรับบางครัวเรือนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว การเลือกใช้งานต่อไป โดยที่ไม่ต้องเอาภาระส่วนนี้เข้ามาแบกเอาไว้เพียงเพื่อให้ได้รถยนต์ที่ใหม่กว่า ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับพวกเขา’ Todd กล่าวเพิ่ม
รถยนต์ไฟฟ้า ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐคืออีกปัจจัย
นอกจากนั้น จากรายงานของ S&P Global Mobility ยังระบุอีกว่า การครอบครองรถยนต์ที่ยาวนานขึ้นยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ไม่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความน่ากังวล เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยที่มาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีกำลังซื้อแต่ยังลังเลใจอยู่ ซึ่งการเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้าและพวกยานยนต์เสียบปลั๊ก คือ สิ่งที่ทำให้หลายคนชะลอและลังเลใจเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรถยนต์ใหม่
เหตุผลที่ประกอบกับเรื่องตรงนี้จะมีทั้งการดูเรื่องสมรรถนะของแบตเตอรี่ที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของพวกเขา เช่นเดียวกับเรื่องของจำนวนของสถานีชาร์จสาธารณะ ซึ่งดูเหมือนว่าในสหรัฐอเมริกา การเพิ่มปริมาณในส่วนนี้ยังไม่ครอบคลุมกับความต้องการตามที่มีการประกาศออกมาของนโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน
จากตัวเลขที่มีการเปิดเผยออกมาในปี 2023 นั้น สหรัฐอเมริกา มีจำนวนสถานีชาร์จ 64,187 แห่ง เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 และมีจำนวนที่ชาร์จ 175,575 หัว เพิ่มขึ้น 21.1% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 โดยแคลิฟอร์เนียถือเป็นมลรัฐที่มีสถานีชาร์จไฟเยอะที่สุด 16,580 แห่งถือเป็น 28% ของอัตราส่วนสถานีชาร์จสาธารณะในสหรัฐอเมริกา
ตรงนี้สอดคล้องกับตัวเลขของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือ Passenger Car ซึ่งอายุในการครอบครองจะยาวนานกว่ารถยนต์ในกลุ่มปิกอัพหรือ SUV ด้วยตัวเลข 14 ปี เพราะในปัจจุบัน รถยนต์พลังไฟฟ้ากำลังเป็นเทรนด์ใหม่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาดจะเป็นกลุ่มของรถยนต์นั่งมากกว่าปิกอัพ
ครอบครองนานกว่าคนยุโรป
จากตัวเลข 13.6 ปีในการครอบครองรถยนต์ 1 คันของคนอเมริกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายการตลาดรถยนต์จะต้องทำงานกันหนักขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว พบว่าตัวเลขนี้มีความใกล้เคียงกัน และสอดคล้องกัน
เมื่อมองกลับไปที่ประเทศที่อยู่ในกลุ่มยุโรปตะวันตกแล้ว ส่วนใหญ่อาจะเฉลี่ยในการครอบครองรถยนต์จะอยู่ไม่เกิน 10 ปี อย่างในเยอรมนีจะอยู่ที่ 10 ปีเท่ากับสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ 10.3 ปี ฝรั่งเศส 10.8 และอิตาลี 12.5 ปี โดยที่ออสเตรียและเดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยในการครอบครองรถยนต์ต่ำที่สุด คือ 8.9 ปี ส่วนกรีซครอบครองนานสุด คือ 17.3 ปี
แม้ว่าในงานวิจัยของทางฝั่งยุโรปจะไม่มีการยืนยันออกมาว่าเหตุผลที่อายุเฉลี่ยในการครอบครองรถยนต์จะอยู่ระดับ 11.8 ปีจะเป็นผลมาจากอะไรก็ตาม แต่บรรดานักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าเหตุผลมีความสอดคล้องกัน ทั้งเรื่องของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น รวมถึงการเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ชะลอการตัดสินใจ และขอดูทิศทางกับความแน่นอนของรถยนต์ประเภทเสียบปลั๊กก่อน
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อสภาพเศรษฐกิจเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่งของโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ การเกิดผลกระทบในเชิงโดมิโน่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะในปีนี้ หลายประเทศต่างพบกับปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจซบเซา และส่งผลไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องรอดูกันต่อไปว่า แนวโน้มและทิศทางจะดีขึ้น หรือว่าจะช่วยกันดึงจนทำให้เกิดวิกฤตตามมา