xs
xsm
sm
md
lg

รายงานใหม่ชี้สิ้นปี 2024 BYD ย้ำแค้นโค่นเทสลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ขณะนี้บีวายดียังทำได้แค่ไล่ตามเทสลา แต่รายงานการวิจัยชิ้นใหม่คาดบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังจากแดนมังกรแห่งนี้จะสามารถโค่นเทสลาขึ้นเป็นแชมป์ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ได้อีกครั้งภายในปลายปีนี้ ตอกย้ำธรรมชาติของตลาดอีวีโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แม้บีวายดีปาดหน้าเทสลาขึ้นเป็นผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดของโลกเป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2023 แต่สามเดือนต่อมา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์หนึ่งของอเมริกาแห่งนี้กลับมาชิงตำแหน่งคืนอย่างว่องไว

เทสลายังคงยึดตำแหน่งแชมป์ต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปีนี้ด้วยยอดขาย 443,956 คัน ขณะที่ยอดขายอีวีของบีวายดีแม้เพิ่มขึ้น 42% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ทำได้เพียง 426,039 คัน

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับใหม่จากเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช คาดการณ์ว่า บีวายดีจะล้มแชมป์ได้อีกครั้งภายในปลายปีนี้ ซึ่งตอกย้ำธรรมชาติของตลาดอีวีโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคาดว่า จีนยังคงเป็นพลังที่ครอบงำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่หรือ (BEV) ซึ่งมีบีวายดีเป็นผู้นำ


รายงานคาดว่า ยอดขายอีวีในจีนปีนี้จะสูงกว่าอเมริกาเหนือถึง 4 เท่า และจีนจะยังคงครองส่วนแบ่งยอดขาย BEV ในตลาดโลก 50% จนถึงปี 2027 และภายในปี 2030 ยอดขาย BEV ในจีนจะสูงกว่ายอดขายในอเมริกาเหนือและยุโรปรวมกัน

รายงานสำทับว่า การเติบโตในจีนเพียงพอที่จะทำให้บีวายดีล้มเทสลาและขึ้นเป็นผู้ผลิตอีวีใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2024

อนึ่ง ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตทั้งหมดของบีวายดีที่ครอบคลุมทั้ง BEV และไฮบริดอยู่ที่กว่า 3 ล้านคัน แซงหน้าปริมาณการผลิตของเทสลา (1.84 ล้านคัน) เป็นปีที่ 2 ติดกัน

อย่างไรก็ตาม บีวายดีผลิตรถยนต์นั่งที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว 1.6 ล้านคัน และไฮบริด 1.4 ล้านคัน ทำให้เทสลายังครองอันดับ 1 ในแง่ปริมาณการผลิต BEV

รายงานยังคาดการณ์ว่า ยอดขาย BEV ทั่วโลกปีนี้จะอยู่ที่ 10 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายรถใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในลดลง โดยการเติบโตของอีวีจะได้รับการสนับสนุนที่มีเป้าหมายในการปรับปรุงความคุ้มค่าและราคาที่จ่ายได้ของอีวีและแบตเตอรี่สำหรับอีวี



ข่าวนี้ออกมาหลังจากเดือนที่แล้วสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศขึ้นภาษีอีวีจากจีนเพื่อจัดการภัยคุกคามที่จะทำให้อุตสาหกรรมของอียูได้รับผลกระทบรุนแรงในเร็วๆ นี้


บีวายดีจะถูกเรียกเก็บภาษีอีก 17.4%, จีลี่ 20% และเอสเอไอซี 38.1% เพิ่มเติมจากภาษีมาตรฐาน 10% ที่เรียกเก็บจากอีวีนำเข้าอยู่แล้ว

ลิซ ลี ผู้ช่วยผู้อำนวยการเคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช ชี้ว่า มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของอียูที่เรียกเก็บจากอีวีจีนมีเป้าหมายเพื่อปรับระดับการแข่งขันในตลาดให้เท่าเทียมสำหรับผู้ผลิตอีวียุโรปที่ต้องต่อสู้กับอีวีราคาถูกที่นำเข้าจากจีน

อย่างไรก็ดี ลีเสริมว่า มาตรการเหล่านี้อาจผลักดันให้ค่ายรถจีนหลั่งไหลไปยังตลาดเกิดใหม่อย่างตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับบีวายดีนั้นคาดว่า จะเอาชนะมาตรการภาษีศุลกากรด้วยการเพิ่มการผลิตรถบางรุ่นในยุโรป


ขณะเดียวกัน แม้บีวายดีโด่งดังเป็นที่รู้จักจากอีวีราคาถูกอย่างแอตโต 3 และดอลฟิน แต่บริษัทแห่งนี้กำลังขยายสายการผลิตอย่างรวดเร็วครอบคลุมรถหรู รถกระบะ และซูเปอร์คาร์


ต้นปีนี้บีวายดีเปิดตัว “ซี ไลอ้อน 07” ราคาเริ่มต้น 26,250 ดอลลาร์ (957,000 บาท) ตัดราคาโมเดล Y ซึ่งเป็นอีวีที่ขายดีที่สุดของเทสลา นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ยังมีภาพ “หยังหวัง ยู9” ซูเปอร์คาร์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบีวายดี ห้อตะบึงในสนามแข่งรถ Nurburgring ของเยอรมนี

ในส่วนแผนการขยายตัวในต่างแดนนั้น เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) บีวายดีเพิ่งเปิดโรงงานแห่งแรกในไทยและถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 รถที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้ 30% จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้บีวายดียังใกล้บรรลุข้อตกลงสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในเม็กซิโกที่บริษัทเพิ่งนำรถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรก “Shark PHEV” ไปเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น