สถานการณ์ในแง่ภาพรวมของตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าทั่วโลกช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เรียกว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ได้มีการเติบโตในอัตราส่วนแบบก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่บริษัทรถยนต์ส่วนใหญ่คาดหมายและคาดการณ์เอาไว้ ถ้าไม่นับตลาดจีนที่ถือว่ายังมีดีมานด์ล้นเหลือสำหรับการสร้างยอดขายให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้าแล้ว ในตลาดหลักหลายแห่ง เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปในบางประเภท ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกอย่าง เช่น ไฮบริดกลับมีตัวเลขที่เพิ่มเติมขึ้น สวนทางกับสิ่งที่ควรจะต้องเป็นในยุคที่อะไรๆ ก็รถยนต์พลังไฟฟ้า
แน่นอนว่าอีกสิ่งที่น่าสนใจและเกิดขึ้นตามมาคือ ดูเหมือนว่าบริษัทรถยนต์หลายแห่งเหมือนกับเพิ่งตื่นจากฝันหวาน และเริ่มมองหาการกระจายความเสี่ยงออกไป โดยเฉพาะการหันกลับมาเจียดงบประมาณเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ทั้งที่แต่เดิมหลายค่ายประกาศนโยบายออกมาอย่างชัดเจนว่าต่อไปนี้รถยนต์ใหม่ของตัวเองจะมีแต่รถยนต์พลังไฟฟ้าเท่านั้น
รถยนต์พลังไฟฟ้ายังเป็นเป้าหมายปลายทางอยู่นั่นแหละ แต่ดูเหมือนว่าที่มีการประเมินกันว่าปีนั้นปีโน้นจะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกันนั้น กลับกลายเป็นว่าไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ และเป้าหมายที่ประกาศออกมานั้นเหมือนกับภาพลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นจากการตื่นตูมของตลาดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
Volkswagen หั่นงบ EV หันมาพัฒนาเครื่องยนต์ ICE
ค่ายยักษ์ใหญ่ที่ประกาศชัดเจนว่าภายในปลายทศวรรษนี้จะต้องมีรถยนต์พลังไฟฟ้าวางขายไม่ต่ำกว่า 80% ของรถยนต์ใหม่ที่ถูกขายออกไป แต่สุดท้าย Volkswagen ยืนยันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนการใช้งบประมาณใหม่ โดยเชื่อว่าเงินจำนวนราวๆ 1 ใน 3 ของงบประมาณจำนวน 180 พันล้านยูโรที่ทุ่มลงไปในการพัฒนาโปรเจ็กต์ EV นับจากปี 2023 จะถูกส่งไปให้ชุบชีวิตให้กับวิศวกรที่ดูแลโปรเจ็กต์พัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE
แถลงการณ์นี้มาจากปากของอาร์โน แอนต์ลิตซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและด้านปฏิบัติการของ Volkswagen Group โดยมีการระบุว่าจะใช้เงินราวๆ 60 พันล้านยูโรในการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในของตัวเองให้สามารถแข่งขันอยู่ในตลาดได้ และงบประมาณนี้มาจากไหน ก็หั่นเอามาจากงบรวมของโปรเจ็กต์ EV อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น
คำกล่าวของเขาชัดเจนมาก คือ ‘รถยนต์ไฟฟ้าคือ อนาคต แต่สิ่งที่อยู่ในอดีตยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด’ นั่นหมายความว่า จากเดิมที่ Volkswagen ทุ่มเงินลงทุนโดยมองไปแค่เป้าหมายเดียวคือ รถยนต์พลังไฟฟ้านั้น ตอนนี้บอร์ดบริหารเริ่มมองใหม่ และคิดว่าการพัฒนาของที่มีอยู่ในแบบควบคู่กันไปคือ การลดความเสี่ยงจากความเสียหาย กรณีที่เป้าหมายในอนาคตไม่ได้เป็นไปตามที่คาด
แม้ว่าปีที่แล้ว Thomas Schäfer CEO ของ Volkswagen เรียก ICE ว่าเป็น "เทคโนโลยีเก่า" และดูจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องของการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในเพื่อรองรับกับเชื้อเพลิงแบบใหม่ที่เรียกว่า e-Fuel หรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ แต่บริษัทหลายแห่งในเครือ Volkswagen โดยเฉพาะกลุ่มระดับหรู ต่างมองว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นสิ่งที่จำเป็น และไม่จำเป็นที่จะต้องถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลตามที่เราคุ้นเคยกันมากว่า 100 ปีก็ได้
Porsche หนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ในเครือ Volkswagen Group มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่โรงงานแห่งหนึ่งในชิลี ขณะที่ Bugatti ยังคิดที่จะออกแบบปั๊มน้ำมันที่สามารถติดตั้งที่บ้านของเจ้าของและเติมเชื้อเพลิงสังเคราะห์ได้ Lamborghini เชื่อว่าเครื่องยนต์สันดาปสามารถประหยัดได้ด้วยการทำให้มันทำงานโดยใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล แถมยังมุ่งมั่นพัฒนาเครื่องยนต์แบบไฮบริดรุ่นใหม่ที่มีกำลัง 887 แรงม้าเพื่อวางใน Huracan รุ่นใหม่
นอกจากนี้ Bentley ยังสนใจเชื้อเพลิงที่เกือบจะปราศจากคาร์บอนอีกด้วย และยอมเลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังไฟฟ้าของตัวเองออกไปจนหลังปี 2030 หรือล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมร่วมๆ 3 ปี
Toyota, Subaru และ Mazda ยังมั่นใจใน ICE
แม้ว่าการประกาศของผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบันจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าที่กำลังจะมาถึงมากกว่าที่จะเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เป็นเทคโนโลยีเก่า แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกแบรนด์ โดยทั้ง Toyota, Subaru และ Mazda ได้จัดการประชุมร่วมกันในญี่ปุ่นเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่ ทั้ง 3 แบรนด์กำลังร่วมมือกันเพื่อเร่งการพัฒนาและลดต้นทุน เพื่อนำมาใช้จำหน่ายในอนาคตเพื่อรองรับกับตลาดที่ยังไม่พร้อมกับการใช้เทคโนโลยีพลังไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น และในประเทศโลกที่ 3
แทนที่จะออกแบบเครื่องยนต์ทั่วไปที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้ง 3 บริษัท แต่ทั้งหมดจะทำงานแยกกันภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อสร้าง "เครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีเอกลักษณ์" และเป็นตัวแทนของแบรนด์ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Toyota กำลังเตรียมเครื่องยนต์สี่สูบแถวเรียงใหม่ Mazda กำลังใช้เครื่องยนต์โรตารี และ Subaru ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงเครื่องยนต์บ็อกเซอร์แบบสูบนอน เพื่อให้เข้ากันได้กับเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นกลางหลายชนิด เช่น ไฮโดรเจนเหลว เชื้อเพลิงชีวภาพ และเชื้อเพลิงสังเคราะห์
นอกจากการประกาศแล้ว ยังมีตัวอย่างเครื่องยนต์ในอนาคตบางส่วนด้วย Mazda นำเครื่องยนต์โรเตอร์เดี่ยวและโรเตอร์คู่มาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวปั่นไฟหรือ เจนเนอเรเตอร์ ดังที่เห็นใน MX-30 และแนวคิดรถสปอร์ต Iconic SP เครื่องยนต์โรตารีทำหน้าที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อส่งไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นสัญญาณว่าสิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตได้
ในการประชุมนี้ Toyota ได้เปิดตัวเครื่องยนต์ 4 สูบที่กำลังทำการพัฒนาอยู่ โดยเป็นเครื่องยนต์ขนาด 1,500 และ 2,000 ซีซีที่จัดแสดงแยกกัน และไม่ได้มีข้อมูลมากมายนอกจากบอกว่า ให้ประสิทธิภาพในแง่ของแรงม้าที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับประสิทธิภาพในเรื่องของการเผาไหม้ ขณะที่ Subaru จะมุ่งหน้าไปในรูปแบบของเครื่องยนต์ลูกผสมแบบไฮบริด โดยเป็นการทำงานของเครื่องยนต์บ็อกเซอร์แบบ 4 สูบนอน 2,000 ซีซี ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 12.3 กิโลวัตต์และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดเล็ก
Hiroki Nakajima ประธานเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีของ Toyota กล่าวว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในทั้ง 2 รุ่นนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมให้กับ Toyota ในยุคที่ผู้ผลิตรถยนต์หันไปพัฒนาแต่รถยนต์พลังไฟฟ้า เพราะนี่คือ เครื่องยนต์ที่แตกต่างจากเครื่องยนต์สันดาปภายในของ Toyota ที่มีอยู่ในตลาด
และคาดว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่นี้จะเปิดตัวและพร้อมวางตลาดในปี 2027
แน่นอนว่างานนี้อาจจะดูเหมือนกับแบรนด์ทั้งหลายต่างพยายามฝืนการหมุนของโลกที่กำลังเดินหน้าไปสู่รถยนต์พลังไฟฟ้า แต่สิ่งที่เหมือนกับในทุกแบรนด์เกี่ยวกับความเห็นและการกำหนดแนวทางในการดำเนินธุรกิจ คือ การพัฒนาควบคู่กัน ไม่ใช่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เพราะจริงอยู่ที่ในท้ายที่สุดโลกต้องหันไปใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมที่เข้มงวดของกฎข้อบังคับในด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะทำให้การพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่คุ้มค่าแล้ว แต่ในช่วงรอยต่อลักษณะนี้ คือ ช่วงเวลาอันตรายที่อาจจะตัดสินอนาคตของบริษัทได้เลย