ศิลปะคือสื่อที่ชัดเจนที่สุดที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเด็กทำได้เขาจะมั่นใจ และผลิตผลงานไปปักธงไทยบนเวทีระดับโลกได้ไม่ยาก ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ประธานคณะกรรมการ กล่าว ในงาน “TOYOTA Dream Car Art Contest”
“โตโยต้ารถยนต์ในฝัน” หรือ “TOYOTA Dream Car Art Contest” เป็นโครงการประกวดภาพวาดระบายสีระดับโลก จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทย ให้เยาวชนได้มีโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง ภายใต้หัวข้อ “รถยนต์ในฝัน” ให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความสนใจในเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างโอกาส สนับสนุนความสามารถของเยาวชนไทย ให้พัฒนาก้าวไกลสู่เวทีสากล
ที่สำคัญนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้แก่โครงการฯเยาวชนไทย ที่ได้พระราชทานพระวโรกาสจาก สมเด็จพระกษิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด “TOYOTA Dream Car Art Contest 2024 ” ในระดับประเทศ
สำหรับเยาวชนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของทั้ง 3 รุ่น ในส่วนของทางโครงการฯ จะมอบทุนการศึกษา พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่เยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และมอบประกาศนียบัตรพร้อมทุนการศึกษาเป็นรางวัลชมเชยอีก 7 รางวัล ในทุกรุ่นการแข่งขัน
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวในพิธีมอบรางวัลว่า ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี ที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทย ได้พัฒนาความรู้ ความสามารถ รวมถึงพัฒนาทักษะทางด้านศิลปะ โดยเน้นที่การแสดงออก ทางด้านจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดภาพระบายสี และในทุกปีเราได้สนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ด้วยการคัดเลือกผลงานส่งเข้าประกวดระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น หลายปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยของเรา สามารถคว้ารางวัลระดับโลกและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้รวมทั้งสิ้นถึง 43 รางวัล ซึ่งรางวัลนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลงานใน Portfolio สมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยและเป็นเกียรติคุณติดตัวต่อไปได้อีกด้วย
แน่นอนว่ากว่าจะได้ผู้ชนะเลิศคนที่ทำงานหนักมากสุดคือ คณะกรรมการการตัดสินการประกวดทั้ง 5 ท่าน ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร เป็นประธานคณะกรรมการ สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ดร.ปทุมมา บำเพ็ญทาน อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, อาจารย์ทีฆวุฒิ บุญวิจิตร หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ,ศิริวรรณ เต็มผาติ ที่ปรึกษาโครงการ Conceptual Designer Ink Studio
และในโอกาสนี้ ทาง เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้สัมภาษณ์ ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร ประธานคณะกรรมการ ถึงความยากลำบากต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ เพราะมีภาพเป็นหมื่นส่งเข้ามาประกวด
-การจัดงานในปีนี้
ปีนี้เราจัดภายใต้แนวคิด “รถยนต์ในฝัน” โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ตามอายุ 1. รุ่นอายุต่ำกว่า 8 ปี 2.รุ่นอายุ 8-11 ปี และ3. รุ่นอายุ 12-15 ปี
-ขั้นตอนในการคัดเลือก
ต้องบอกว่าปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดเยอะมากถึง 10,000 ภาพ ทั้ง 3 ระดับ คณะกรรมการมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินอยู่ 3 อย่าง คือหนึ่ง ความคิด สร้างสรรค์ ครีเอทีฟ จิตนการ สอง เรื่องความเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น สาม ขาดไม่ได้เลย ทักษะด้านศิลปะ ตามอายุ พัฒนาการ คณะกรรมการทั้งหมดจะมีความเป็นอิสระส่วนตัวในการพิจารณา
-ผลงานปีนี้กับปีที่ผ่านมามีความแตกต่างกันอย่างไร
การคัดเลือกผลงานรอบสุดท้าย 9 ผลงานที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยปีนี้ต่างจากผลงานปีที่ผ่านมาทุกปี การคัดเลือกอยู่ในโครงเดิม แต่ว่าปีนี้จะมีพิเศษ เราจะเน้นเรื่องแนวความคิดสร้างสรรค์ จิตนการของเด็ก เป็นระดับแรก ที่สำคัญต่อมาคือเรื่องที่เด็กไทยจะขาดมากคือเรื่องความเป็นตัวตนที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวเราจะเน้นเรื่องนี้ ส่วนทักษะ ฝีมือ ไม่ต้องห่วงเด็กไทยเก่งมาก
คณะกรรมการจะพิจารณากันอย่างละเอียดในทัศนะ มุมมองที่หลากหลาย จะมีความคิดทบทวนผลงานปีที่ผ่านมา นำมาเปรียบเทียบด้วยในเรื่องของแนวคิด เนื้อหาเรื่องราวเทคนิค จะต้องหาสิ่งที่มีความใหม่กว่าเดิม ความแปลก ในทุกด้าน
-อยากให้พูดถึงโครงการ นี้ต่อสังคมและเด็กไทย
ผมคิดว่าเป็นโครงการที่มีคุณูปการ มีคุณค่า ในแง่การกระตุ้นส่งเสริมในภาพรวม ภาพใหญ่ไปทั้งประเทศ และขอขอบคุณโตโยต้า มอเตอร์ เพราะมีศักยภาพที่สามารถกระจายไปทั่วประเทศได้ อย่างทั่วถึง ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องการลงพื้นที่ ทั้งประเทศ ไปให้ความรู้ เผยแพร่ กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นจากเหนือ จรดใต้ ที่สำคัญเป็นการกระตุ้น เรื่องของการให้การศึกษา พัฒนาทางด้านศิลปะ โดยรวม ๆ เป็นตัวทำให้เกิดรูปธรรม เพราะว่าความคิดสร้างสรรค์ และจิตนการเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ
-เด็กที่เข้าประกวดเมื่อ 10 ปีก่อนกับปัจจุบัน มีการพัฒนาอะไรบ้าง
คือ กล้าขึ้น เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาตอนเริ่มโครงกร เราจะคัดเลือกเน้นความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ ฝีมือมาก่อน เพราะเราต้องส่งไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น สำหรับปัจจุบัน ผมคิดว่าเรื่องจิตนการและความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับแรก แต่ตอนนี้ควรมีเรื่องความเป็นตัวตนเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งตรงนี้ ประเทศพัฒนาไม่มีปัญหา เพราะเขาถูกเลี้ยงมาอย่างอิสระทางความคิดแต่เด็กไทยการเรียน การสอน กระบวนการเลี้ยงดูจากครอบครัว ถูกตีกรอบ ทำให้ไม่ชอบคิด มีการลอกเลียนแบบ ทั้งที่การแสดงออกคือหัวใจของการพัฒนา
-ส่งผลให้เราเสียเปรียบ
ต้องเสียเปรียบ เพราะว่า ภาพจะเหมือน ๆ กัน และเป็นเรื่องยากที่คณะกรรมการจะหาภาพที่ประหลาด ๆ ฉีกกฎออกไป ไม่ได้ เราพยายามบอกผู้ใหญ่ที่คาดหวังว่านี่คือการประกวด อย่าไปซีเรียส การคาดหวังของผู้ใหญ่มันไปกดดันเด็ก เราต้องปล่อยให้เขามีอิสรเสรี
เด็กต่างจังหวัดมีทักษะสูงมากเพราะมีเวลาเยอะ เด็กกรุงเทพฯ เวลาน้อย นั่งรถไปเรียน นั่งรถกลับบ้านก็หมดเวลาแล้ว
-มีอะไรฝากถึงครูสอนศิลปะไหม
ผมคิดว่าทุกวันนี้ครูสอนศิลปะโดยรวมมีการพัฒนาขึ้นมาก เด็กไทยมีศักยภาพทางนี้ดูได้จากเวทีการประกวดภาพวาดจากหลายที่ รูปแบบ ความคิด มีอิสระเพิ่มขึ้น เรื่องของความคิดเราไปบังคับไม่ได้ ห้ามบังคับ ทำได้เพียงกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง เพราะมันไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่ศิลปะคือสื่อที่ชัดเจนที่สุดที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเด็กทำได้เขาจะมั่นใจ และผลิตผลงานที่ไปปักธงไทยในเวทีระดับโลกได้ไม่ยาก