xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด.. ขุมพลัง “ไฮโดรเจนเหลว” GR Corolla แข่งจบครบ 24 ชั่วโมง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้ดีว่าโตโยต้าเดิมพันกับเทคโนโลยีไฮโดรเจนเอาไว้สูงเพื่อเป็นอีกทางเลือกของการขับเคลื่อนในอนาคตแบบไร้มลพิษ นอกเหนือจากพลังไฟฟ้าหรือ BEV ที่กำลังฮ็อตฮิตอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าโตโยต้าเองก็ได้สร้างความเชื่อมั่นว่า ไฮโดรเจนสามารถใช้งานได้จริงผ่านการใช้งานที่เหนือระดับจากการใช้งานปกติในชีวิตประจำวัน ด้วยการส่งลงสู่สนามแข่ง ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยและต้องอาศัยความรวดเร็วในการทำงาน โดยเฉพาะการเติมเชื้อเพลิง ซึ่งถือว่าเป็นการตอบคำถามเดิมๆ เกี่ยวกับข้อจำกัดของการนำไฮโดรเจนเหลวมาใช้งานที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

โตโยต้าใช้สนามแข่งเป็นเครื่องพิสูจน์ในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เพิ่งเริ่ม และเริ่มมาได้สักระยะ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งบ้านเราคุ้นเคยกันมาแล้ว เพราะโตโยต้าเคยนำมาแล่นในสนามแข่งที่ประเทศไทยแล้วครั้งหนึ่ง รวมถึงการนำมาลงแข่งในสนามจริงตามทัวร์นาเมนท์ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง


ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เชิญสื่อมวลชนจากไทยได้ไปสัมผัสกับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต รายการสำคัญอย่าง “NAPAC Fuji SUPER TEC 24 Hours” เป็น 1 ในรายการแข่งขันของ “Super Taikyu Series 2024” ที่จัดแข่งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และรายการนี้เป็นการแข่งขันแบบมาราธอน 24 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากสนามอื่นๆ ในทัวร์นาเมนท์นี้ ซึ่งมีทั้งหมด 7 สนาม และอีก 6 สนามเหลือจะเป็นการแข่งขันในแบบ 4-5 ชั่วโมงเหมือนกับการแข่งเซอร์กิตประเภทอื่นๆ

รายการ NAPAC Fuji SUPER TEC 24 Hours เป็นสนามที่2 ของปี และมีจัดขึ้นที่สนามFuji Speedway โดยในแบบ24 ชั่วโมงเหมือนกับการแข่งขันของADAC ที่นูร์บูร์กริง และLe Mans 24 ชั่วโมงที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นสังเวียนที่พิสูจน์ในแง่ของความอึดในทุกอย่าง ตั้งแต่ทีมงาน ตัวนักแข่ง และตัวรถ เช่นเดียวกับสมรรถนะที่จะต้องอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงเวลา24 ชั่วโมง



สิ่งที่น่าสนใจคือ ในปีนี้กลุ่มที่ได้รับการจับตามองคือST-Q ซึ่งเป็นคลาสพิเศษที่เพิ่งเริ่มมีการแข่งขันในปี 2021 เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในตลาดโลก เรียกว่าเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีในสนามแข่งกับการใช้งานจริงในตลาด ดังนั้น การแข่งคลาสนี้เน้นไปที่ยานพาหนะที่พัฒนาโดยผู้ผลิต เมื่อคำนึงถึงอนาคต เรากำลังใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นกลาง และกำลังทดสอบเทคโนโลยีใหม่ในS-Tai เพื่อนำไปปรับใช้สำหรับยานยนต์ที่ใช้งานจริง

และโตโยต้าได้ส่งรถยนต์ของตัวเองลงแข่งถึง 4 รุ่นด้วยเชื้อเพลิงที่ไม่เหมือนกัน คือ GR Corolla สำหรับการใช้ไฮโดรเจนเหลว ตัว GR Yaris ใช้เชื้อเพลิงแบบ GR-DAT ตามด้วย GR86 CNF Concept ใช้เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และ GR Supra ที่ใช้เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่


มากันถึง 4 คัน 4 แบบ แต่คันที่เป็นไฮไลท์จริงๆ คือ GR Corolla เพราะไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่โตโยต้ามุ่งพัฒนามานาน และมีความต้องการที่จะผลักดันให้สามารถใช้งานอย่างแพร่หลายได้สักที และสิ่งที่น่าสนใจคือ ในรถแข่งคันนี้ไม่ได้ใช้ไฮโดรเจนที่เป็นก๊าซเหมือนกับในอดีต แต่ใช้ไฮโดรเจนเหลว

การเปลี่ยนสถานะของ Hydrogen จากที่ 2 ปีก่อน จะทำให้ปริมาณในการจัดเก็บลงถังนั้น ทำได้มากกว่าเดิม ส่งผลให้รถสามารถทำการแข่งขันได้ยาวนานขึ้น จากเดิมที่ทำการแข่งในสนามFuji Speedway เมื่อ2 ปีก่อน ได้ประมาณ12 รอบ หรือประมาณ 54 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ ปี 2023 ที่มีการเปลี่ยนเป็นHydrogen แบบเหลว สามารถวิ่งได้เพิ่มเป็น 20 รอบ หรือประมาณ 90 กิโลเมตร แต่ในปีนี้ หลังจากเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใหม่หลายอย่าง เลยมีการประเมินว่า น่าจะวิ่งได้มากถึง 30 รอบ หรือประมาณ135 กิโลเมตรเลยทีเดียว


แต่ที่น่าสนใจคือ ไฮโดรเจนเหลวจะถูกใช้ในรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell ด้วย นั่นเท่ากับว่าจะเป็นการทดสอบในหลายเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกัน เช่น ความปลอดภัยหากเกิดการชน เพราะอย่างที่ทราบกันว่า สนามแข่งมีความเสี่ยงสูงต่ออุบัติเหตุ และถ้าชนแล้วมักจะเกิดความรุนแรง ความทนทานในการใช้งาน ผลต่อสมรรถนะ และความรวดเร็วในการเติมไฮโดรเจนเหลว ซึ่งในอดีตต้องใช้เวลานาน เนื่องจากต้องค่อยๆ ปล่อยไหลเข้าสู่ถังเก็บแรงดันสูงในตัวรถ

โตโยต้า ในสนามแข่งเป็นเครื่องพิสูจน์เรื่องนี้มาโดยตลอด และในปีนี้ก็เช่นกัน

สำหรับผลการแข่งขันสนามนี้ในกลุ่มของ ST-Q นั้น จริงอยู่ที่อันดับ 1 จะเป็นของ GR Supra Racing Concept ซึ่งใน 24 ชั่วโมงแล่นได้ 715 รอบสนาม ด้วยความเร็วเฉลี่ย 135.702 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ อันดับที่ 8 ซึ่งรถแข่งรุ่น GR Corolla H2 Concept ของทีม ORC Rookie ซึ่งแม้ว่าจะตามหลังอันดับ 1 ถึง 383 รอบ (เพราะรถแข่งคันนี้แล่นได้ 332 รอบสนาม) แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือ รถแข่งคันนี้แล่นจนจบการแข่งขัน โดยแล่นไป 24 ชั่วโมง 2 นาที 21.246 วินาที


ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะแม้ว่าจะแล่นได้ไม่ได้จำนวนรอบมากเท่ากับคันที่ชนะเลิศ แต่อย่างน้อย สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นคือ เทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายในมีความทนทาน ด้วยการแล่นต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง และตอบสนองด้วยสมรรถนะในการขับเคลื่อนที่ยอดเยี่ยมในการต่อกรกับรถแข่งคันอื่นๆ ในสนาม นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นว่าจุดอ่อนซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอกับเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงอย่างปัญหาเรื่องการหลุดเล็ดรอดของน้ำเข้าสู่อ่างน้ำมันเครื่อง สามารถแก้ไขได้แล้ว

ขณะที่รถแข่งอีกคันของทีม ORC Rookie คือ GR86 CNF Concept ซึ่งใช้เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ก็จบอันดับที่ดีไม่ต่างกัน โดยอยู่ที่ 5 แล่นครบ 24 ชั่วโมง และทำไปได้ 640 รอบสนาม


ทั้งหมดคือ ความตั้งใจของโตโยต้า ในการมองหาทางออกใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนสำหรับคนยุคหน้า และใช้มอเตอร์สปอร์ตเป็นเวทีในการทดสอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า โลกของเรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกเยอะในการขับเคลื่อน โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเดิมๆ และที่สำคัญ บางเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่า จะมีเทคโนโลยีไหนบ้าง ที่สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น