xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง 4 ว่าที่รถใหม่ BYD คันไหนจะขายไทย ขับแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หลังจากที่มีการประกาศว่าในปี 2567 แบรนด์ BYD จะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ทำตลาดในประเทศไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 รุ่น โดยได้มีการเปิดตัวรุ่นแรกไปแล้วคือ Seal U ในช่วงงานมอเตอร์โชว์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


ดังนั้นเพื่อเป็นการสานต่อคำประกาศดังกล่าว เรเว่ ออโตโมทีฟ ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ BYD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ รถรุ่นใหม่ 4 รุ่น ที่คาดว่า จะทำตลาดในเมืองไทย โดยเป็นการขับในสนามแข่งแบบสั้น และเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นที่จำหน่ายอยู่ในประเทศจีน ส่วนจะมีรุ่นใดบ้าง ติดตามกันได้


BYD Seagull

รถสไตล์แฮทช์แบ็คขนาดเล็กแบบ 5 ประตู ที่พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม 3.0 มอเตอร์เดี่ยวขับหน้า กำลังสูงสุด 55 กิโลวัตต์ (74 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 135 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 13 วินาที เบลด-แบตเตอรี่ ขนาด 38.88 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งไกลสุด 400 กม. ตามมาตรฐาน NEDC น้ำหนักตัวรถ 1,160 กิโลกรัม การชาร์จไฟรองรับสูงสุด 40 กิโลวัตต์


ระบบช่วงล่างด้านหน้า แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลัง ทอร์ชัน บีม ระบบเบรกดิสก์เบรกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ล้อขนาด 16 นิ้ว พร้อมยางขนาด 175/55 R16 รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 4.95 เมตร ภายในออกแบบเน้นฟังก์ชันการใช้งาน หน้าจอกลางขนาด 10.1 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto

สำหรับการทดลองขับแบบสั้น จัดเป็นรถขับสนุก ความแรงไม่สูงมากนัก แม้ตัวเลขจะน้อยแต่ไม่ถึงกับอืด ใกล้เคียงกับบรรดาอีโคคาร์ในเมืองไทย ช่วงล่างไม่ถึงกับนุ่มหรือแข็งจนเกินไป ถ้ามองตามมาตรฐานของรถเล็กเรียกว่า เกาะถนนดีในระดับที่พึงพอใจได้ พวงมาลัยเบา เหมาะกับการใช้งานในเมือง คล่องตัว ยังต้องรอลุ้นว่า จะทำรุ่นพวงมาลัยขวาหรือไม่









BYD M6
BYD M6

รถ MPV อเนกประสงค์ขนาดกระทัดรัด อาศัยโครงสร้างพื้นฐานของรุ่น E6 แต่ปรับปรุงใหม่หมด รวมถึงการใช้แพลตฟอร์ตใหม่ 3.0 และเสริมด้วยระบบช่วงการขับขี่เต็มรูปแบบ ระยะฐานล้อ 2,800 มม. ถือว่ายาวในระดับเดียวกับรถคอมแพค มีเบาะให้เลือกทั้งรุ่น 6 ที่นั่งแบบ Captain Seat และแบบ 7 ที่นั่งปกติ

หัวใจในการขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหน้า กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ (204 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 8.6 วินาที เบลด-แบตเตอรี่ LFP ขนาดความจุ 71.8 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งไกลสุด 500 กม. ตามมาตรฐาน NEDC รองรับความแรงในการอัดประจุแบบกระแสตรง(DC)ที่ 115 กิโลวัตต์


ระบบเสริมความปลอดภัยแน่นมาก เช่น ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน, ระบบช่วยเตือนการชนด้านหลังและช่วยเบรก กล้องมองรอบคัน 360 องศา, ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผันพร้อม Stop and Go ถุงลมนิรภัยรอบคัน เป็นต้น

การขับขี่นี่คือ รถที่ช่วงล่างลงตัวและมีความหนึบแน่นเหมาะกับครอบครัว ความนิ่งของตัวรถคือจุดที่โดดเด่นที่สุด พวงมาลัยเบามือ ควบคุมง่าย น้ำหนักเบรกลงตัวพอดี จะมีจุดใหญ่คือ กระจกหลังคาแบบ Glass Roof ที่น่าจะร้อนไม่น้อยหากวิ่งกลางแดดในเมืองไทย เบาะนั่งใหญ่และหนานุ่ม เรียกว่าขับแล้วประทับใจที่สุดใน 4 คันนี้ โดยมีรุ่นพวงมาลัยขวามาแล้ว ฉะนั้นลุ้นเพียงอย่างเดียวคือ ราคาค่าตัวถ้าเหมาะสมและได้ส่วนลดจากโครงการของรัฐบาลด้วย เชื่อว่าผู้บริโภคจะตอบรับดี







BYD Sealion7
BYD Sealion7

รถ SUV ขนาดใหญ่สไตล์สปอร์ต ดีไซน์ท้ายลาด ซึ่งคาดว่าจะถูกวางตำแหน่งเป็นเรือธงของรถ BYD ในไทย ด้วยวัสดุภายในที่จัดอยู่ในเกรดพรีเมียมและราคาค่าตัวที่วางจำหน่ายในประเทศจีน อยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาท ด้วยความยาวของตัวถังที่ 4,830 มม. และมีระยะฐานล้อ 2,930 มม. ทำให้ถือว่าเป็นรถขนาดใหญ่

หัวใจของการขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์คู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ กำลังสูงสุด 390 กิโลวัตต์ (522แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 670 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 4.5 วินาที เบลด-แบตเตอรี่ ขนาด 82.5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งไกลสุด 540 กม. ตามมาตรฐาน NEDC รองรับการชาร์จด้วยกระแสตรงความแรงสูงสุดที่ 150 กิโลวัตต์


หน้าจอความบันเทิงขนาดใหญ่ 15.6 นิ้ว ลำโพง Dynaudio 12 ตำแหน่ง ปรับเปลี่ยนสีไฟภายในห้องโดยสารได้มากถึง 128 สี ระบบเสริมความปลอดภัยเต็มรูปแบบไม่ต่างจาก BYD M6 โดยเพิ่มระบบแสดงผลบนกระจกหน้าให้อีกด้วย


สำหรับความรู้สึกหลังการขับขี่ ทุกครั้งที่กดคันเร่งจะมีอาการพุ่งทะยานแม้ว่าจะเป็นโหมด Normal เรียกว่าอัตราเร่งดีเกินคาด พวงมาลัยเบามือ ควบคุมง่าย ช่วงล่างเซ็ตมาค่อนข้างแข็ง แต่ด้วยความแรงทำให้บางจุดที่ขับมีอาการโยนตัวให้รู้สึกได้ ทัศนวิสัยด้านหน้าเคลียร์ชัดสไตล์สปอร์ต ส่วนด้านหลังกระจกเล็กไปสักหน่อย ภาพรวมคือ แรงและหรู แถมยังมีขนาดใหญ่ และแน่นอนว่ามีรุ่นพวงมาลัยขวาแล้ว ฉะนั้นมีความเป็นได้สูงในการทำตลาดเมืองไทย







Denza D9
Denza D9

Denza จะถูกแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ เน้นเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยมโดยเฉพาะ โดยตัวรถเป็นอเนกประสงค์สไตล์รถตู้ ลักษณะเดียวกันกับ MG Maxus9 และ โตโยต้า อัลฟาร์ด มีจุดเด่นอยู่ที่การตกแต่งภายใน เบาะนั่งทางด้านหลังสไตล์หรูหรา พร้อมฟังก์ชันอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน

ระบบขับเคลื่อนเป็นมอเตอร์คู่ ขับเคลื่อนสี่ล้อ กำลังรวมสูงสุด 275 กิโลวัตต์ (370 แรงม้า) แรงบิดสูงสุด 470 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 6.9 วินาที เบลด-แบตเตอรี่ ขนาด 103 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งไกลสุด 580 กม. ตามมาตรฐาน NEDC รองรับการชาร์จด้วยกระแสตรงความแรงสูงสุดที่ 166 กิโลวัตต์ โดยสามารถชาร์จได้ 2 จุดพร้อมกัน


เบาะนั่งแถวที่สองปรับไฟฟ้า 10 ทิศทางแบบ Business Class ระบายอากาศและปรับอุ่นได้ พร้อมเบาะนวดไฟฟ้า 10 จุด ที่พักแขนแบบหน้าจอสัมผัส LCD มัลติฟังก์ชัน หน้าจอความบันเทิงสำหรับผู้โดยสารตอนหลังขนาด 12.8 นิ้ว เบาะแถวที่3 ปรับได้ 4 ทิศทาง หลังคา Panoramic Glassroof ขนาด 1.1 ตารางเมตร กระจกกันเสียง 2 ชั้น รอบคัน


การขับขี่ ง่ายและให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล การโยนตัวน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ ช่วงล่างถือว่าทำมาได้ตอบโจทย์การขับขี่ในเมืองที่ความเร็วไม่สูงมากได้เป็นอย่างดี ส่วนการนั่งทางด้านหลังค่อนข้างนุ่ม ให้ความรู้สึกโอ่โถง โล่งสบาย อาการโยนตัวเวลาเข้าโค้งแรงๆ มีให้รู้สึกได้ ตามลักษณะของตัวรถที่ค่อนข้างใหญ่ เสียดายที่ได้ขับน้อยไปสักหน่อยจึงยังไม่รู้ถึงการขับขี่บนถนนจริงแบบทางยาวๆ ข้ามจังหวัดว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะรถในลักษณะนี้มักจะใช้เดินทางไกล







หลังจากที่ได้ลองขับและสัมผัสทั้ง 4 คัน สิ่งที่รับรู้ได้คือ ความตั้งใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับรสนิยมและพฤติกรรมการขับขี่ของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า 3 ใน 4 รุ่นที่เราได้ขับในคราวนี้ จะทำตลาดในเมืองไทย แต่จะมีการปรับสเปกให้เหมาะสมกับเมืองไทยแค่ไหนอย่างไรนั้น ต้องรอชมตอนเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น