นักวิเคราะห์เชื่อมาตรการรีดภาษีสินค้าเมดอินไชน่าของไบเดนจะส่งผลด้านเศรษฐกิจเพียงจำกัด ซ้ำไม่ระคายเคืองต่อสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทจีน หรือสกัดกั้นอีวีจีนบุกชิงส่วนแบ่งยอดขายในอเมริกา ขณะเดียวกัน การไม่ตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดเหมือนที่เคยเป็นมายังสะท้อนความมั่นใจที่เพิ่มมากขึ้นของปักกิ่ง
คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมตั้งแต่กระบอกฉีดยาไปจนถึงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า
จีนประณามการกระทำของคณะบริหารของไบเดน และประกาศตอบโต้ขั้นเด็ดขาดเพื่อผลประโยชน์ของชาติ กระนั้น ปฏิกิริยานี้บ่งชี้พลวัตใหม่เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเก็บภาษีสินค้าจีนมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าวอชิงตัน-ปักกิ่ง
เอเชีย ไฟแนนเชียลระบุว่า หนึ่งในข้อแตกต่างคือ ทำเนียบขาวยุคปัจจุบันส่งสัญญาณเตือนปักกิ่งล่วงหน้าทั้งมาตรการที่จะใช้และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รวมถึงอีวีและแบตเตอรี่ ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเพียงจำกัด อีกทั้งยังไม่กระทบต่อสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทจีน
ปฏิกิริยาของจีนยังแตกต่างจากเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยครั้งนี้สื่อแดนมังกรตอบโต้โดยกล่าวหาว่า อเมริกากลืนน้ำลายตัวเองเรื่องหลักการการค้าเสรี รวมทั้งอาจบั่นทอนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ และทำให้คนอเมริกันต้องจ่ายแพงขึ้น
ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ทำเนียบขาวทำลายจิตวิญญาณของข้อตกลงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับไบเดนร่วมกันผลักดันเมื่อปลายปีที่แล้วที่ซานฟรานซิสโก
ขณะที่เมื่อปี 2018 คณะผู้เจรจาของปักกิ่งโจมตีว่า วอชิงตันกำลังเอามีดจ่อคอจีน และสื่อของทางการแนะนำให้รัฐบาลออกมาตรการตอบโต้รุนแรง เช่น บอยคอตต์สินค้านำเข้าจากอเมริกา หรือเทขายพันธบัตรคลังสหรัฐฯ
นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงมากมายนับจากสงครามการค้าปี 2018 ตัวอย่างเช่น ตอนนั้นบริษัทจีนผลิตอีวีไม่ถึง 800,000 คัน แต่ปี 2023 กำลังการผลิตของจีนเพิ่มขึ้น 8 เท่า จีนยังแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นผู้ส่งออกรถเบอร์หนึ่งของโลก และค่ายรถจีนกำลังเร่งขยายตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงยุโรป
ขณะเดียวกัน หัวเว่ยที่ถูกอเมริกาแซงก์ชันรุนแรงในปี 2019 กลับฟื้นคืนชีพและเป็นหัวหอกกระตุ้นดีมานด์ชิปที่ผลิตในจีน ตลอดทั้งท้าทายแอปเปิลในธุรกิจสมาร์ทโฟนและเทสลาในตลาดอีวีจีน
“สิ่งที่ฆ่าเราไม่ตายจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ดูเหมือนวลีนี้ใช้ได้จริงกับบริษัทเทคโนโลยีจีน” ซินหัววิจารณ์ในบทความเกี่ยวกับมาตรการภาษีล่าสุดของอเมริกา
รอบนี้ปักกิ่งยังรู้ล่วงหน้า เพราะเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายคนของสหรัฐฯ มักกลับไปป่าวประกาศหลังเยือนจีนว่า กำลังผลิตอีวี แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ของจีนที่เกินกว่าตลาดภายในประเทศรองรับไหว ถือเป็นความเสี่ยงต่อตำแหน่งงานและธุรกิจของอเมริกา
สำหรับประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่และสื่อของรัฐบาลจีนโต้ว่า อีวีจีนเป็นผู้นำในตลาดเพราะความได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทานและนวัตกรรม ไม่ใช่มาตรการอุดหนุนอย่างที่ตะวันตกกล่าวหา
นักวิเคราะห์ยังมองว่า แม้ไบเดนสั่งโขกภาษีอีวีจีนจาก 25% เพิ่มเป็น 100% แต่ยังคงเหลือช่องให้อีวีราคาถูกของจีนเข้าไปตัดราคารถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกา หรือนำเข้าอีวีจีนจากโรงงานผลิตในประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโก มิหนำซ้ำมาตรการนี้ยังไม่ช่วยแก้ปัญหารถเครื่องยนต์สันดาปที่นำเข้าจากจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์และการค้าชี้ว่า การขึ้นภาษีของอเมริกาเป็นการกีดกันการค้าระยะสั้นที่ทำได้แค่ยื้อเวลา แต่ไม่อาจหยุดยั้งอีวีจีนได้
แดน เฮิสช์ ประธานร่วมฝ่ายยานยนต์และอุตสาหกรรมของบริษัทที่ปรึกษา เอลิกซ์พาร์ตเนอร์ส ฟันธงว่า อีวีจีนบุกตลาดอเมริกาแน่ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เท่านั้น
บริษัทรถจีนประกาศเจตนารมณ์มาเป็นสิบปีว่า จะส่งรถเข้าไปขายในอเมริกาภายใต้แบรนด์ของตัวเอง แต่ตอนนี้ยังไม่มีค่ายไหนทำสำเร็จ แม้คุณภาพรถจีนดีขึ้นผิดหูผิดตาในช่วงไม่กี่ปีมานี้อันเป็นผลจากมาตรการอุดหนุนของปักกิ่งเพื่อส่งเสริมการเติบโตของการผลิตในประเทศก็ตาม
กระนั้น มาตรการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทรถระดับโลก เช่น เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) สูญเสียส่วนแบ่งในตลาดจีนอย่างรวดเร็ว โดยจีเอ็มและค่ายรถดั้งเดิมอื่นๆ พบว่า ยากที่จะแข่งขันกับรถราคาถูกของจีน ซึ่งรวมถึงอีวี ยกตัวอย่างเช่น “ซีกัล” ของบีวายดีที่ราคาเริ่มต้นแค่ราว 10,000 ดอลลาร์ โดยที่บีวายดียังทำกำไรได้
แม้ซีกัลยังไม่ได้เข้าไปขายในอเมริกา แต่บีวายดีกำลังขยายตัวทั่วโลก รอยเตอร์รายงานว่า หลังจากไบเดนประกาศมาตรการภาษีใหม่ไม่กี่ชั่วโมง บริษัทอีวียักษ์ใหญ่ของจีนแห่งนี้ได้แถลงข่าวเปิดตัวชาร์ก รถกระบะไฮบริดในเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำสถานะที่แข็งแกร่งของบีวายดีในตลาดอเมริกาเหนือ
สเตลลา หลี่ ประธานบีวายดี อเมริกาส์ แถลงว่า ที่เลือกเม็กซิโกเพราะเป็นตลาดที่ดีมานด์รถกระบะโตเร็วมาก พร้อมยืนยันว่า มาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ไม่ส่งผลต่อบีวายดี เนื่องจากบริษัทมีแผนสร้างโรงงานในเม็กซิโก แต่ไม่มีเป้าหมายบุกตลาดอเมริกา
ซีเอ็นบีซีระบุว่า การพุ่งเป้าที่อีวีจีนอาจสืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้รับสัญญาณเตือนจากยุโรปที่รถจีนเข้าไปท่วมตลาดอย่างรวดเร็ว
สหภาพยุโรป (อียู) ระบุเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า อีวีจีนครองส่วนแบ่งยอดขายในตลาดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวของยุโรปราว 8% และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 15% ในปีหน้า บรัสเซลส์ยังเชื่อว่า อีวีจีนตัดราคาบริษัทรถท้องถิ่นถึง 20%
โคโค จาง รองประธานฝ่ายวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลของไอเอ็นจี กรุ๊ป มองว่า ถ้ามาตรการภาษีของไบเดนสามารถสกัดการส่งออกของจีนได้จริงจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงในยุโรป
จางสำทับว่า มาตรการภาษีลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ อาจบีบให้บริษัทจีนเคลื่อนไหวเร็วขึ้นในการตั้งฐานการผลิตหรือร่วมทุนในประเทศต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการส่งออก และความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจคล้ายกับตอนที่บริษัทรถญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ตลอดจนถึงฮุนได มอเตอร์ และเกีย มอเตอร์ของเกาหลีใต้ บุกตลาดอเมริกาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว