xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรป-อเมริกา รถไฟฟ้าไม่ฮ็อต ไฮบริดพุ่งราคาถูกกว่า-กังวลการใช้งานแบตฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดรถยนต์ทั่วโลกในช่วงไตรมาสแรกมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกหลักและมีความต้องการสูงเหมือนกับช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ รถยนต์ไฮบริดทั้งในรูปแบบของธรรมดาและแบบเสียบปลั๊กหรือ PHEV กลับกลายเป็นทางเลือกที่ลูกค้าจากทั้ง 2 ทวีปให้ความสนใจอย่างมากขึ้น


ภาพรวมยังพอไปได้ ยุโรป-อเมริกาตลาดไตรมาสแรกยอดขึ้น

จากการเปิดเผยของ ACEA ยอดขายรถยนต์ในตลาดยุโรปตะวันตกถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นแม้ว่าในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียวจะมียอดขายลดลง 2.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จนมีตัวเลยอยู่ที่ 1,383,419 คัน แต่เมื่อมองในภาพรวมของยอดขายช่วงไตรมาสแรกแล้ว ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นราวๆ 4.9% โดยมียอดขายรวมอยู่ที่ 3,395,049 คัน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคมไม่เติบโตตามที่คาดหวังนั้นเป็นเพราะการชะลอตัวของตลาดใหญ่ในยุโรป เช่น เยอรมนี (-6.2%) สเปน (-4.7%) อิตาลี (-3.7%) และฝรั่งเศส (-1.5%) โดยการลดลงมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของตลาดและช่วงเทศกาลอีสเตอร์ซึ่งส่งผลเสียต่อยอดขาย

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกานั้น ยอดขายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกเติบโตแบบสวนกระแสดอกเบี้ยที่มีราคาแพง โดยมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีตัวเลขรวมราวๆ 3.8 ล้านคัน


ที่เหมือนกันคือไฮบริดมาแรง แต่ EV ลดลง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 ตลาดมีแนวโน้มที่รถยนต์ไฮบริดกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ผ่านไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างในยุโรป ส่วนแบ่งในตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ลดลงเหลือ 13% จาก 13.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ขณะที่รถยนต์ไฮบริดขยับเพิ่มขึ้นเป็น 29% จาก 24.4% ส่วนแบ่งการตลาดรวมของน้ำมันเบนซินและดีเซลลดลงเหลือ 47.8% จาก 51.8% สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาบางอย่างที่ถูกส่งออกมา และอาจจะสร้างความกังวลให้กับแบรนด์ที่กำลังเทหมดหน้าตักเพื่อเดิมพันกับการเติบโตของรถยนต์พลังไฟฟ้า

“แม้ว่าตัวเลขการจดทะเบียนสำหรับไตรมาสแรกของปี 2024 จะให้ภาพเชิงบวกที่สมเหตุสมผล แต่ข้อมูลในเดือนมีนาคมก็ยังมีความน่ากังวล” Felipe Munoz นักวิเคราะห์ของ JATO Dynamics กล่าว “ราคาเฉลี่ยของรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ยังคงสูงอยู่ และนั่นทำให้ผู้บริโภคก็ลังเลที่จะเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนั้น ยังความกังวลในเรื่องของแบตเตอรี่ ในด้าน Life Cycle ของมันว่าจะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ นี่คือ อีกปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคในยุโรปยังเกิดความลังเลใจอยู่”

อย่างไรก็ตาม Munoz ยังกล่าวอีกว่า โดยธรรมชาติของตลาดยุโรปแล้ว ในไตรมาสแรกยอดขายมักจะไม่เป็นไปตามที่หวัง โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีเรื่องของปัจจัยเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาเป็นตัวที่ทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่



ผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ลดลงได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) เพิ่มขึ้น ในยุโรป มียอดจดทะเบียนถึง 382,700 คันระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนการจดทะเบียนรายไตรมาสสูงสุดสำหรับหมวดหมู่นี้นับตั้งแต่ปี 2021

“ผู้บริโภคคุ้นเคยกับรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ประเภทนี้อยู่ในตลาดมานานกว่าสองทศวรรษแล้ว สำหรับผู้บริโภคหลายคน ตัวเลือกเหล่านี้คือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา ณ ตอนนี้ เพราะราคาถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้า และไม่ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งไม่มีอยู่อย่างหลากหลายในหลายประเทศ’ Munoz ให้ความเห็นเพิ่มเติม

ส่วนในตลาดสหรัฐอเมริกานั้น ทาง AP รายงานว่า แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในแง่ภาพรวมของไตรมาสแรกจะดีขึ้น แต่รถยนต์พลังไฟฟ้ากลับไม่ได้มีตัวเลขเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดตามเทรนด์หรือกระแสที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้งาน โดยเฉพาะการขาดแคลนเรื่องจุดชาร์จบนพื้นที่สาธารณะ รวมถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และที่สำคัญคือ ค่าประกันภัย

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 3.3% หรือมีตัวเลขอยู่ที่ 270,000 คันในช่วงไตรมาสแรก ต่ำกว่าตัวเลขในไตรมาสแรกของปีที่แล้วถึง 47% ซึ่งในช่วงนั้น ยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าในอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะความต้องการของลูกค้า และส่วนแบ่งในตลาดของรถยนต์พลังไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงแค่ 7.15% ในไตรมาสแรกของปีนี้



รถยนต์พลังไฟฟ้าจีนก็ได้รับผลกระทบ

สิ่งที่น่าสนใจคือ รถยนต์พลังไฟฟ้าจีนทั้งแบรนด์ที่เป็นสัญชาติจีนโดยตรง หรือผ่านแบรนด์เก่าแก่ในยุโรป แต่จีนเป็นเจ้าของอย่าง MG ต่างได้รับผลกระกันถ้วนหน้า และทำให้ยอดขายในยุโรปช่วงไตรมาสแรกไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนรวมถึง MG จำนวน 33,000 คันในยุโรปเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นส่วนแบ่ง 6.1% ของรถยนต์พลังไฟฟ้าที่จดทะเบียนทั้งหมดในยุโรป

เมื่อมองในแง่ของแบรนด์แล้ว MG มีสัดส่วนในการจดทะเบียนในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของแบรนด์รถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีน สูงสุดคือ 61% ส่วน BYD มีสัดส่วนอยู่ที่ 24% ตามด้วย Great Wall มีสัดส่วนอยู่ที่ 5%

จากข้อมูลของ Munoz การลดลงของการจดทะเบียนรถยนต์โดยรวมในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ยอดขายลดลงสำหรับแบรนด์จีน ‘ผู้ผลิตจากจีนไม่ได้รับการยกเว้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในตลาดรถยนต์ใหม่ของยุโรป นอกจากนี้ พวกเขายังอาจรู้สึกถึงผลกระทบของการตรวจสอบเชิงลบที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการสอบสวนของคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้า EV ของจีน’ Munoz ให้เหตุผล

ข้อมูล JATO Dynamics ว่าตลาด 4 แห่งที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปแสดงให้เห็นว่าราคาขายปลีกเฉลี่ยของ HEV ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ต่ำว่ารถยนต์เบนซิน (รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Mild Hybrid หรือ MHEV) และดีเซลถึง 11% และ 21% ลำดับ ที่สำคัญ รถยนต์ไฮบริดถูกกว่ารถยนต์พลังไฟฟ้าที่ขายอยู่ในยุโรปถึง 27%

‘แล้วอย่างนี้ทำไมผู้บริโภคในยุโรปถึงจะต้องซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้าด้วยละ ในเมื่อพวกเขามีตัวเลือกที่ดีกว่าในด้านราคา’ Munoz ทิ้งท้าย



กำลังโหลดความคิดเห็น