xs
xsm
sm
md
lg

“พิมพ์ภัทรา” ดันไทยศูนย์กลางผลิตรถสันดาป-รถอีวี หวังยานยนต์ไทยผงาดเวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
“พิมพ์ภัทรา” ประกาศความพร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค มั่นใจยึด TOP 10 ของโลก เล็งถกนายกฯ จัดพื้นที่ตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ในอีอีซี เอกชนคาดปีนี้ไทยผลิตรถยนต์แตะ 1.9 ล้านคัน ด้านนายกสมาคมอุตฯยานยนต์ไทย ฝากรัฐมองเห็นอุปสรรค-หาตลาดส่งออกเพิ่ม เชื่อรักษาฐานผลิตได้แน่ แถมไทยมีศักยภาพเป็นฮับ อีวีโลก

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ จัดงานเสวนา "เดลินิวส์ ทอล์ก 2024" เพื่อเผยแพร่ความรู้และทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก อย่างยั่งยืน” และมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?


น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่...ท็อปเทนโลก” ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ทั้งรถยนต์สันดานและรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการวางรากฐานการดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมการผลิตรถยนต์อีวีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น มาตรการสิทธิประโยชน์อีวี 3.0 ด้วยการลดภาษี ให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อ และมาในรัฐบาลชุดนี้ก็มีการสานต่อเป็นนโยบายอีวี 3.5 รวมถึงได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงมั่นใจว่าในด้านสิทธิประโยชน์ประเทศไทยเป็นรองใครในโลกแน่


นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดูแลและส่งเสริมระบบนิเวศในด้านอื่นๆเพื่อส่งเสริมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม ควบคู่กับการดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปที่เป็นฐานผลิตสำคัญของไทยควบคู่กันไปด้วย ล่าสุดได้มีการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการส่งเสริมและการบริหารจัดการแบตเตอรี่ภายในประเทศ เบื้องต้นจะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนเอกชน ให้เข้ามาบริหารจัดการแบตเตอรี่ทั้งการผลิตและรีไซเคิลอยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีโดยตรงเพื่อให้มีการดูแลอย่างครบวงจร และไม่กระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ยัง มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต่างๆเพิ่มขึ้น



ส่วนการดูแลรถยนต์สันดาปกำลังหาวิธีจัดการดูแลซากรถเก่าให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนยังเข้าไปส่งเสริมการปรับตัวของเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนรถยนต์รุ่นเก่าให้ปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการเติมความรู้คู่ทุน รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดูการพัฒนาเรื่องแรงงานและหลักสูตรการเรียนการสอนให้อัพเดททันสมัยกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้จาก 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนับเป็นดาวเด่นเป็นฐานผลิตรถ Product champion เช่น รถกระบะ รถ ECO Car โดยในปี 65 ไทยผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.07 ล้านล้านบาท

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล
ทางด้าน นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 10 ของโลก มี 49 บริษัท มีผลกระทบกับการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า มี 44 แบรนด์ 78 รุ่นในปัจจุบัน เกือบครึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน รุ่นที่ขายดีคือ 37% ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท และมีมากกว่าครึ่งราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท การแข่งขันราคารุนแรงมาก


ทั้งนี้ข้อมูลยานยนต์ในไทยปี 2565 ผลิตรถ 1.88 ล้านคัน และจะเพิ่มขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกต่างประเทศ 1.15 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน โดยไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ส่วนตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยมียอดจดทะเบียน 76,000 คัน มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก ซึ่ตามด้วยมาเลเซียมีเพียงกว่า 1 หมื่นคันเท่านั้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนเข้ามาของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถสันดาปลดลง อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกหลายภูมิภาคยังดีโดยเพาะอาเซียนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ โซนโอเชียเนีย ตะวันออกลางบวกเยอะ ทำให้ภาพรวมโอกาสส่งออกยังมีบวกอยู่บ้างเล็กน้อย


“อุปสรรคที่ต้องให้ภาครัฐเห็น เพราะถึงแม้จะมีเงิน มีทุน มีเทคโนโลยี แต่มีคนซื้อหรือเปล่า? การดึงคนซื้อมาถึงผู้ผลิต ขณะเดียวกันก็หนีกติกาการค้าโลกใหม่ไม่พ้น อย่างเรื่องคาร์บอนต่ำความเป็นกลางทางคาร์บอนด์ ที่เห็นชัดคือ การวัดรถยนต์เป็น CO2 ซึ่งตลาดไทยผูกตลาดส่งออกเยอะ ยิ่งต้องปรับตัวไปสู่ยานยนต์เทรนด์ของโลก”


นายสุวัชร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือในอุตสาหกรรมยานยนต์อยากให้เพิ่มตลาดส่งออกไปต่างประเทศ แต่ต้องดูว่าคู่ค้าไหนที่ส่งออกมากกว่านำเข้า อยากฝากรัฐบาลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือสมาคมฯเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยากให้ภาครัฐเลือกเปิดตลาด หาตลาด ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าผ่านไปได้ จากเดิมอุตสาหกรรมรถยนต์ผู้เล่นหลักเป็นญี่ปุ่น ยุโรป มีจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ มองเป็นประโยชน์เพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ต้องปรับมุมมองภาครัฐ ส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่องและฟังเสียงผู้ประกอบการ ต้องช่วยกันทำให้ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก

นายกฤษฎา อุตตโมทย์
ทางด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯมีสมาชิก 390 ราย ประกอบด้วย บริษัทรถ ชิ้นส่วน ประกัน เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าทั้งระบบ สมาคมฯจึงถือเป็นด่านหน้าในการให้ข้อมูลกับบริษัทต่างๆ ที่จะเข้ามาในไทย เช่น เทสล่า สมาคมฯก็ได้ให้ข้อมูลไป โดยอุตฯรถไฟฟ้าที่เติบโตทั่วโลก เกิดจากหลายๆประเทศต้องการเปลี่ยนระบบขนส่ง ด้วยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่


“ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าในปี 2035 จะมีสัดส่วนเกินครึ่งของตลาดรถยนต์ โดยประเทศจีนจะเป็นตลาดใหญ่มาก หรือเกินครึ่งของทั่วโลก ส่วนในอาเซียนก็มีการเปลี่ยนแปลง มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งโรงงานในหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศไทยมีโอกาสมากกว่าจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น”

ในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถไฟฟ้ามี 5 หมื่นคันเมื่อถึงสิ้นปีมียอดจดทะเบียนเพิ่มเป็น 7.6 หมื่นคัน มีรถขายทั้งหมด 54 โมเดล จาก 25 แบรนด์ ในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยผลตอบรับดีทำให้เติบโต ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าจากจีน ส่วนสถานีชาร์จมี 9,600 หัวจ่าย จาก 2,200 โลเกชั่น เป็นสัดส่วนประมาณ 20 คันต่อ 1 หัวจ่าย โดยในปีนี้จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาอีก การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านราคา ประโยชน์จะอยู่ที่ผู้บริโภค ส่วนผู้ประกอบการต้องปรับตัว


“เราเห็นแนวทางภาครัฐให้การสนับสนุนจากนโยบาย อีวี 3.0 ถึง อีวี 3.5 ทำให้ต่อไปประเทศไทยจะมีรถไฟฟ้ามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องดูเรื่องวีธีการกำจัดเรื่องแบตเตอรรี่อย่างไร ต้องดำเนินการแบบครบวงจร สมาคมฯได้หารือกับนายกฯ เพื่อขอพื้นที่ในการจัดการแบตเตอรี่เป็นพื้นที่เฉพาะในอีอีซี เพื่อเป็นฐานจัดการแบตฯแบบครบวงจร”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่ารถไฟฟ้าจะมีการใช้ชิ้นส่วนที่ลดลง มูลค่าจึงจะอยู่ที่เรื่องแบตเตอรรี่ ที่ผ่านมาไทยนำเข้า 100% แต่ตอนนี้มีการตั้งโรงงานผลิตแล้ว ก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานรถไฟฟ้า ซึ่งการที่ประเทศไทยจะเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้า มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง เมื่อมองดูประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่มีนโยบายส่งเสริมแบบไทย ที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่นเรื่อง ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอเชียเป็นตลาดใหญ่สุดในยอดขายรถยนต์ และเป็นอีวี 9.9 ล้านคั่นทั่วโลก เท่ากับ 14 % โดยตลาดที่เติบโต คือตลาดที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง สำหรับประเทศไทยรถยนต์สันดาปหรือรถน้ำมันจะยังไม่หายไปจากตลาด ทำอย่างไรให้รถยนต์สันดาป และอีวี โตไปด้วยกัน โดยรถอีวีเป็นตัวเสริม โดยตลาดรถยนต์ของไทยปีที่แล้วมียอดขาย 7.7 แสนคัน เป็นรถอีวี 7 หมื่นคัน แต่ 10% แต่ยังมีโอกาสเติบโต และปีนี้น่าจะมียอดขายได้ถึง 1 แสนคัน ต้องขอบคุณภาครัฐที่สนับสนุน โดยมีเป้าหมายผลิตให้ได้ 30% ก็มีความเป็นไปได้สูง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งก่อน


อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังขาดเรื่องแบตเตอรี่ เนื่องจากรัฐยังมองเป็นเรื่องวัตถุต้องห้าม ต้องทดสอบจึงเป็นอุปสรรคมากกว่าโอกาส จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมความต้องการในประเทศก่อน ซึ่งไทยพร้อมในทุกเรื่องของรถไฟหร้า แต่ขาดเรื่องแบตเตอรี่อย่างเดียว ภาคเอกชนไทยมีศักยภาพ แต่ยังไม่โดดลงมาเล่น อยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้เอกชนเข้ามา ทำได้แน่ ทั้งเรื่องการผลิตและรีไซเคิล


“การทำให้ไทยติดท็อป 10 ผู้ผลิตรถไฟ้าทำได้ไม่ยาก แต่การทำให้ยั่งยืน ถือเป็นเรื่องยาก เมื่ออุตสาหกรรมเมื่อถูกดิสรัปชั่นแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงไป โลกเปลี่ยนตลอดเวลา เราต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีถึงจะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะถูกคู่แข่งแซง เพราะตลาดไทยไม่ใหญ่ การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า ส่วนกติกาการค้าใหม่ จะใช้เรื่องสิงแวดล้อมมากีดกันทางการค้านั้นมองว่าไทยมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะไม่ได้เป็นศัตรูกับใครจึงเห็นว่า จีน ยุโรป มาลงทุนในไทย การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเสริมมาช่วย ลดการกีดกันทางการค้า ดังนั้นอยู่ที่ไทยจะฉวยโอกาสได้อย่างไร จากประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งเรื่องรถไฟฟ้า มีเรื่องระบบความปลอดภัย มีระบบการเชื่อมต่อ มีซอฟท์แวร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไทยมีคนเก่งเรื่องซอฟท์แวร์ จึงเป็นโอกาสของไทย”.




กำลังโหลดความคิดเห็น