xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นตลาดรถยนต์ทั่วโลกปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 2023 ตลาดรถยนต์ทั่วโลกมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย ทั้งหนักและเบา และนี่คือ การสรุปภาพรวมของข่าวเด่นที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงเมืองไทย


แบรนด์ญี่ปุ่นลงทุนในไทยรวม 1.5 แสนล้านบาทสร้าง HUB EV

ถือเป็นข่าวฮือฮารับปลายปี ซึ่งทางรอยเตอร์ได้เปิดเผยโดยอ้างอิงจากถ้อยแถลงของโฆษกรัฐบาลว่า แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นหลายรายประกาศลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทยรวมกันแล้ว 1.5 แสนล้านบาท หรือราวๆ 4,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดช่วง 5 ปีนับจากนี้ ด้วยเป้าหมายในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าเพื่อนำพาภูมิภาคอาเซียนเข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า

ข่าวนี้ถือว่าเป็นของขวัญวันคริสมาสต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพราะมีการประกาศออกมาในวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการเปิดเผยของนายสัตวแพทย์ ชัย วัชรงค์ โฆษกของรัฐบาลยืนยันว่า จำนวนเงิน1.5 แสนล้านบาทนั้นจะแบ่งออกเป็น Toyota และ Honda จำนวน 50,000 ล้านบาท ตามด้วย Isuzu ที่มีการลงทุน 30,000 ล้านบาท และ Mitsubishi อีก 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งก็รวมถึงปิกอัพไฟฟ้าด้วย

เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งของการลงทุนนี้เป็นผลมาจากการเดินทางไปเจรจาและเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งได้ยืนยันในเรื่องของความน่าสนใจของประเทศในแง่ของการลงทุนให้กับทางนักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้เห็น ประกอบกับภูมิภาคอาเซียน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในการผบลิตรถยนต์ของแบรนด์ญี่ปุ่น ประกอบด้วยฐานการผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นเดียวกับปริมาณการผลิตรถยนต์ต่อปีทั้งจำหน่ายในภูมิภาคและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งแบรนด์รถยนต์ทั้ง Toyota, Isuzu, Honda และ Mitsubishi ยังไม่ยืนยันข่าวที่มีการเปิดเผยในครั้งนี้

ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนจำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ต่อปีให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 และกำลังเตรียมสิ่งจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการลดภาษีและการอุดหนุนที่ออกโดยประเทศไทยได้ดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์จากจีนจำนวนมาก รวมถึง BYD และ Great Wall Motor



ปีแห่งการรีคอลล์ของ Toyota และ Honda ในอเมริกาเหนือ

เรื่องการเรียกรถยนต์กลับคืนมาซ่อม หรือ Recall เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตลาดรถยนต์อยู่แล้ว ซึ่งแต่ละแบรนด์ถือว่ามีการทำ Recall กันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนว่าปีนี้จะเจอแบบล็อตใหญ่ๆ จำนวนหลักล้านหลายครั้ง และส่วนใหญ่มาทิ้งทวนเอาในช่วงปลายปีระหว่างเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม โดยเฉพะกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Honda และ Toyota ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคสที่เกิดขึ้นในตลาดอเมริกาเหนือ

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา Toyota และ Lexus เพิ่งประกาศ Recall รถยนต์จำนวน 1 ล้านคันในช่วงโมเดลปี 2020-2021 กลับมาซ่อมเซ็นเซอร์ในการตรวจจับการนั่งของผู้โดยสารด้านหน้า ซึ่งรถยนต์ที่เข้าข่ายนี้มีทั้ง Camry, RAV4 ไล่ไปจนถึงรถยนต์รุ่นใหญ่อย่าง RX450h ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Toyota เพิ่งทำ Recall เรียก RAV4 จำนวน 1.8 ล้านคันที่จำหน่ายไปในช่วงระหว่างปี 2013-2018 มาเปลี่ยนแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ และในเดือนตุลาคม ก็เรียกรถยนต์รุ่น Highlander Hybrid จำนวน 751,000 คันกลับคืนมาซ่อมกันชนหน้า และ Corolla Cross Hybrid อีก 43,000 คันมาตรวจสอบเรื่องการทำงานของถุงลมนิรภัย โดยก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฏาคม Toyota และ Lexus ก็เรียกรถยนต์จำนวน 110,000 คันเพื่อตรวจสอบการทำงานของถุงลมหลังจากตรวจพบว่าอาจจะไม่ทำงานในระหว่างเกิดการชน โดยเป็นรถยนต์รุ่น Corolla ซีดาน Corolla Cross ไปจนถึง Lexus RX Series ที่ผลิตในช่วงปี 2023

ในส่วนของ Honda เองก็มีการ Recall รถยนต์หลายครั้งในระดับตัวเลขหลักแสนถึงล้านคัน เช่น ในเดือนมิถุนายนเป็นจำนวน 1.2 ล้านคันสำหรับรุ่นโอดิสซีส์ ไพล็อต และพาสสปอร์ตที่ผลิตในปี 2018-2023 ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับตลาดอเมริกาเหนือหลังตรวจพบความผิดปกติของการทำงานของกล้องด้านท้ายรถ ขณะที่รุ่นเก่าอย่าง CR-V ที่ผลิตในปี 2007-2011 ก็ถูก Recall ย้อนหลัง เพราะระบบช่วงล่างหลังมีปัญหา

ขณะที่ช่วงปลายปี Honda เรียกรถยนต์จำนวน 2.6 ล้านคันทั้งแบรนด์ตัวเองและ Acura ที่จำหน่ายในอเมริกาเหรือหลังจากที่มีปัญหาเรื่องของปั๊มเบนซิน ซึ่งของ Acura ก็จะเป็นรุ่น NSX ที่ผลิตในปี 2017-2020 ตามด้วยรุ่น ILX, MDX และ MDX Sport Hybrid, RDX, RLX และ TLX ที่ผลิตในปี 2018-2020 ส่วน Honda ก็จะมีทั้ง Accord Hybrid รุ่นปี 2017-2020 Accord, Civic ทั้งรุ่นธรรมดาและตัว Type R ตามด้วย CR-V Hybrid รุ่นปี 2020

ส่วนอีกเคสที่ค่อนข้างเยอะคือ การ Recall จำนวน 106,000 คันของ CR-V Hybrid เกี่ยวกับเรื่องของแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ แต่เป็นรุ่นปี 2020-2022 และเวอร์ชันไฮบริด ซึ่งในเมืองไทยไม่มี ตามด้วยจำนวน 303,000 คันสำหรับแอคคอร์ด และ HR-V รุ่นปี 2023-2024 เพราะปัญหาเรื่องเข็มขัดนิรภัย

แม้ว่าปริมาณการ Recall รถยนต์จะค่อนเยอะ แต่ทว่าสาเหตุของการเรียกกลับคืนมาซ่อมนั้นยังถือว่าไม่รุนแรง หรือส่งผลต่ออุบัติเหตุร้ายแรงใดๆ บนท้องถนน


Cybertruck มาแล้ว แต่มีข้อแม้

หลังจากเปิดตัวออกมาให้คนทั่วโลกได้เห็น และเป็นปิกอัพขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าที่มีดีไซน์สุดล้ำ ถึงตอนนี้ ถึงเวลาที่ Cybertruck จะเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าที่จองเอาไว้แล้ว พร้อมกับเงื่อนไขสุดประหลาด นั่นคือ ห้ามซื้อขายก่อนได้รับอนุมัติจากทาง Tesla

ทางแบรนด์ระบุไว้ในวันที่เริ่มจำหน่ายนั่นคือ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ‘เจ้าของรถที่จะขาย Tesla Cybertruck ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีจะต้องแจ้งให้บริษัททราบก่อน จากนั้น Tesla จะต้องขอซื้อรถคืนก่อน โดยหักเงิน 25 เซนต์ต่อไมล์ หาก Tesla ปฏิเสธที่จะซื้อยานพาหนะของคุณ คุณสามารถขายต่อรถยนต์ของคุณให้กับบุคคลที่สามได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Tesla เท่านั้น’

ถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก แต่น่าแปลกที่สิ่งนี้กลับทำให้ Cybertruck กลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และการประกาศกฎเหล็กครั้งนี้ทำให้หุ้นของเทสลาขึ้น +6.12% ซึ่งถือว่าเทสลาได้ทำการสร้างแบรนด์ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้นด้วยการสร้างกฎผูกมัดกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Cybertruck รุ่นนี้ที่ทั่วโลกรอคอย และยังสามารถป้องกันการซื้อไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าอีกด้วย


รถยนต์พลังไฟฟ้าจีนรุกตลาดทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้ามีการขยายตัว และลูกค้าเริ่มมองหารถยนต์ประเภทนี้เอาไว้ใช้งาน ส่งผลให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ตลาดรถยนต์จีนไม่เพียงพอต่อการสร้างยอดขายอีกต่อไปแล้ว และหลายแบรนด์เริ่มบุกออกสู่ตลาดภายนอกอย่างยุโรป และแบรนด์ที่แสดงความชัดเจนในการรุกออกสู่ตลาดภายนอก และไม่ได้แค่ทำตลาด แต่หมายถึงการตั้งโรงงานผลิตอีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา BYD เปิดตลาดในญี่ปุ่น และไทย ส่วนในปีนี้ พวกเขาเปิดแนวรุกอย่างจริงจังในตลาดยุโรป โดยตั้งเป้าเปิดโชว์รูมของตัวเองแห่งแรกในสวีเดนและเยอรมนี รวมถึงตั้งเป้าในการสร้างโรงงานผลิตซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประเทศฮังการี่ ขณะที่ Changan คือ รายต่อมาที่เริ่มเดินเกมอย่างจริง

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Schmidt Automotive Research ระบุว่า สหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปสำหรับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน โดยคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมดในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เกือบเท่ากันกับยอดขายตลอดปี 2022 ทั้งนี้ จีนครองส่วนแบ่งตลาดสหราชอาณาจักรเป็นอันดับ 2 รองจากสวีเดนเท่านั้น

จีนครองส่วนแบ่งส่วนในตลาดรถยนต์ยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในปี 2018 เป็น 2.8% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 ขณะที่ส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปี 2018 สู่ระดับ 3.9% ในปี 2020 และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 ผู้ผลิตรถยนต์จีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายุโรปได้ถึง 8.2% ด้วยยอดจำหน่ายกว่า 86,000 คัน ถือว่าเป็นการตอบรับที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมองจากเรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์และความเชื่อมั่นต่อสินค้าจีนจากชาวยุโรป

ต้องจับตามองดูกันต่อไปว่าในปี 2024 แบรนด์จีนทั้งหลายจะสามารถยึดหัวหาดในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าของยุโรปได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น