ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดรถยนต์รวมในไทยที่เผชิญหลายปัญหา โดยเฉพาะความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ ปรากฏยอดขายรถยนต์ BEV ปี 2566 และ 2567 กลับมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมาก นำโดยตลาดรถยนต์นั่งที่รถยนต์ BEV เข้าไปถือครองส่วนแบ่งสูงขึ้นมาก จากผลของมาตรการ EV 3.0 ที่ทำให้ค่ายรถต่างทยอยเข้ามาลงทุนและเปิดตลาด ทว่าสำหรับปี 2567 ระดับแรงส่งตลาดของรถยนต์ BEV จะมากกว่าปี 2566 เท่าใด ขึ้นอยู่กับความชัดเจนอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องมาตรการ EV 3.5
ปี 2566 จัดว่าเป็นปีแห่งการเติบโตรุดหน้าของตลาดรถยนต์ BEV ในไทย จากแรงหนุนมาตรการ EV 3.0 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2565 ที่ทำให้หลายค่ายรถยนต์เข้ามาลงทุนและทำตลาดในไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตลอดทั้งปี 2566 รถยนต์ BEV มีโอกาสทำยอดขายได้สูงถึง 68,000 คัน เพิ่มขึ้น 405% (YoY) คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 8.6% ของยอดขายรถยนต์รวม ส่วนในปี 2567 การทยอยเข้ามาเพิ่มเติมของรถยนต์ BEV ค่ายใหม่ๆ ในตลาด ส่งผลให้ตลาดยิ่งจะมีความคึกคักขึ้น รถยนต์ BEV จึงน่าจะมีโอกาสทำยอดขายในกรณีฐานได้เพิ่มขึ้นไปถึง 85,000 คัน โดยส่วนแบ่งขยับขึ้นเป็น 10% แม้การขยายตัวอาจชะลอลงมาที่ 25% (YoY) เนื่องจากยังต้องรอความชัดเจนของนโยบายของภาครัฐ ที่อาจกระทบอย่างมากกับยอดขายรถยนต์ BEV ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเฉพาะมาตรการ EV 3.5 ทั้งจังหวะเวลาของการบังคับใช้และเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ซึ่งกรณีที่ภาครัฐประกาศเดินหน้ามาตรการ EV 3.5 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 และเงื่อนไขของมาตรการยังคงจูงใจค่ายรถ BEV ให้เข้าร่วมและผลักดันแผนการทำการตลาดที่สามารถกระตุ้นความสนใจของผู้ซื้อได้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ BEV ในปี 2567 ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด โดยเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ายอดขาย BEV ในปี 2567 ในกรณีดีนี้ อาจขยับไปได้ถึงระดับ 100,000 คัน หรือขยายตัว 47% (YoY)
เมื่อพิจารณาถึงประเภทรถยนต์ BEV ที่จะเติบโตได้ดี คาดว่าจะเป็นประเภทรถยนต์นั่ง ซึ่งรถยนต์นั่ง BEV จะมีส่วนแบ่งของยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 17% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดในปี 2566 และขยับเป็น 21% ในปี 2567 โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ รถยนต์นั่ง BEV ที่มีระดับราคา 1 ล้านบาทขึ้นไป จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการตอบรับดีด้านยอดขายต่อเนื่องมากกว่ารถยนต์นั่งกลุ่มอื่น เห็นได้จากค่ายรถหันมาลุยตลาดนี้มากขึ้น ซึ่งราว 60% ของรถยนต์นั่ง BEV ที่ขายได้ในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มระดับราคานี้ ประกอบกับลูกค้าหลักของรถยนต์ BEV มักมาจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เลือกใช้เป็นรถคันที่ 2 ของบ้าน กลุ่มลูกค้าองค์กร ตลอดจนกลุ่มรถ Taxi แต่ไปข้างหน้า กลุ่มรถยนต์นั่ง BEV ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มส่วนแบ่งได้มากขึ้น เมื่อการพัฒนา Ecosystem ในประเทศมีความก้าวหน้าจนผู้บริโภคกลุ่มทั่วไปมีความเชื่อมั่นและหันมาเลือกซื้อรถ BEV เป็นรถคันแรกเป็นจำนวนที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ยอดขายรถยนต์ BEV ในไทยจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูง และการที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์รวมในประเทศทั้งปี 2566 นี้ น่าจะหดตัว 6.0% (YoY) หรืออยู่ที่ 795,000 คัน (ช่วง 8 เดือนแรก มียอดขาย 524,784 คัน หดตัว 6.0% (YoY)) ก่อนที่ยอดขายตลาดรวมน่าจะเพิ่มขึ้นได้ในปี 2567 ไปอยู่ที่ 810,000 คัน หรือเติบโต 2% (YoY) จากการที่เศรษฐกิจในประเทศได้แรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ
มองไปข้างหน้า แม้ตัวเลขยอดขายรถยนต์ BEV จะเติบโตได้ดีมากจากหลายแรงกระตุ้นด้านการตลาด ทั้งราคาที่น่าสนใจจากความช่วยเหลือของรัฐ รวมถึงคุณสมบัติตัวรถที่โดดเด่น แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจรออยู่ข้างหน้า คือ ปัญหาจำนวนจุดชาร์จสาธารณะที่อาจเติบโตตามไม่ทันยอดขายรถยนต์ BEV ซึ่งจะกลายมาเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การขยับเพิ่มยอดขายไปสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไปที่มีขนาดใหญ่ (Mass market) ในอนาคตทำได้ยาก ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจของภาครัฐเพื่อให้เกิดการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ตลาดรถยนต์ BEV ยังโตต่อเนื่องตามแผน ระหว่างที่แบตเตอรี่รถยนต์ BEV ที่ใช้ในไทยยังไม่พัฒนาถึงจุดที่จะใช้วิ่งในระยะไกลมาก รวมถึงชาร์จในเวลารวดเร็วได้