xs
xsm
sm
md
lg

เมอร์เซเดส-เบนซ์ เดินหน้า Retail of the future ขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ต้องต่อรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ประกาศแผนธุรกิจใหม่ Retail of the future ปรับโครงสร้างเปลี่ยน ดีลเลอร์ กลายเป็น “รีเทล พาร์ทเนอร์” พร้อมขายราคาเดียวกันทุกแห่งทั่วประเทศ เชื่อดีทุกฝ่าย ลูกค้าไม่ต้องวุ่นวายต่อรองราคา ดีลเลอร์ไม่ต้องสต็อกรถ

มาร์ทิน ชเวงค์
มาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีการประกาศโมเดลธุรกิจใหม่ เน้นความโปร่งใสของราคาและข้อเสนอจากผู้จำหน่ายฯ ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้าทุกคนของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ด้วยการปรับเปลี่ยนจาก ดีลเลอร์ หรือ ระบบตัวแทนจำหน่าย กลายเป็น เอเย่นต์หรือ Retail Partner ภายใต้ แผนที่ชื่อว่า Retail of the future

สำหรับ Retail of the future จะทำให้ ลูกค้า ไม่ต้องค้นหาดีลเลอร์เพื่อต่อรองราคา เพราะทุกแห่งจะจำหน่ายรถยนต์ในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (One Price Policy) รวมถึงแคมเปญและโปรโมชันจะเท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะจองผ่านที่ไหนหรือช่องทางใดทั้งออนไลน์และการจองที่โชว์รูม โดยการซื้อขายจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าทำสัญญาซื้อโดยตรงกับบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ส่วน ดีลเลอร์จะกลายเป็น พาร์ทเนอร์ ที่ดูแลลูกค้าก่อนการซื้อ ซึ่งจะมีรายได้เป็นค่าคอมมิชชันจากเมอร์เซเดส-เบนซ์


“เราเชื่อว่า ลูกค้าจะได้ประโยชน์สูงสุด การขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ ช่วยให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการหาโปรโมชันราคาที่ดีที่สุด ไม่ต้องกังวลว่าซื้อแล้วจะเจอรายอื่นมาบอกว่าถูกกว่า ส่วนดีลเลอร์ไม่จำเป็นต้องสต็อกรถยนต์ ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวไม่ได้แปลว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์จะไม่มีแคมเปญแต่อย่างใด ในอนาคตจะมีการออกโปรโมชันตามความเหมาะสมของสินค้าและช่วงเวลา โดยพาร์ทเนอร์ทุกแห่งจะได้รับเงื่อนไขเหมือนกันทั้งหมด” มาร์ติน กล่าว

ระหว่างนี้ อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางโมเดลธุรกิจใหม่โดยจะมีการยกเลิกสัญญาเดิมกับดีลเลอร์ทั้งหมด 23 ราย และจะมีการเซ็นสัญญาใหม่ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 เพื่อให้ทุกแห่งมีเวลาเคลียร์รถยนต์ในสต็อกของตัวเอง ซึ่งจากการประชุมกับดีลเลอร์ทั้งหมดให้การตอบรับที่ดีและทุกรายพร้อมเปลี่ยนสัญญาใหม่ โดยจะยังไม่มีการเพิ่มรายใหม่เข้ามาแต่อย่างใด


ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวมิใช่กระบวนการปรับโครงสร้างเพื่อการจำหน่ายแบบออนไลน์ 100% แต่มุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้มีบริการครบถ้วนในทุกความต้องการของลูกค้า ซึ่งตลาดอินเดีย, สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ประสบความสำเร็จในการปรับโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้มาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น