xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “GAC AION” น้องใหม่แบนด์จีนรุกตลาดรถไฟฟ้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าข่าวของ GAC AION จะผ่านตาคนไทยกันมาก่อนแล้ว แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนรายนี้เผยความเคลื่อนไหวพร้อมผลิตภัณฑ์ในการรุกสู่ตลาดรถยนต์เมืองไทย ย่อมมีคำถามตามมาอย่างแน่นอนว่า พวกเขาคือใคร และรถยนต์พลังไฟฟ้าที่ส่งเข้ามาทำตลาดบ้านเรานั้นน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ?

อย่างแรกเรามาทำความรู้จักกับพวกเขากันก่อน : GAC AION คือ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีบริษัท GAC AION New Energy Automobile Company Limited รับหน้าที่ผลิตและจำหน่าย โดยบริษัทแห่งนี้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัทใหญ่ คือ GAC Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 5 ของจีน โดย GAC ย่อมาจาก Guangzhou Automotive Group และก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 1954

จริงๆ แล้ว GAC คือ ชื่อแบรนด์หลัก แต่ทาง GAC ได้เปิดตัวซับแบรนด์ที่เรียกว่า AION ออกมารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่จะกลายมาเป็นแบรนด์หลักในที่สุดเมื่อปี 2020 พร้อมกับขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศจีนด้วยกำลังการผลิตราวๆ 400,000 คันต่อปี


สำหรับความเชื่อมโยงกับตลาดเมืองไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อ GAC AION ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการรถยนต์ EV และอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เฉพาะแต่เรื่องของการทำการตลาดเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมและสนับสนุนในเชิงนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อีกทั้งในแง่ของมาตรฐานต่าง ๆ ดังนั้น ไทยจึงเปรียบเสมือนเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในอาเซียนมาโดยตลอด และทาง GAC AION ให้ความสำคัญและมองไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตและพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าในภูมิภาคนี้

นอกจากนั้นทางแบรนด์เองก็มองลู่ทางในการลงทุนที่ประเทศไทย โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทได้เผยว่ากำลังมองหาผู้ร่วมทีมโดยทาง GAC AION จะถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี นอกจากการตั้งโรงงานการผลิตรถยนต์ EV แล้ว ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในประเทศไทยของ GAC AION เบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 6,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงเวลาของการลงทุนนั้น การทำตลาดของ GAC AION จะมาในรูปแบบของการนำเข้าจากฐานการผลิตที่บริษัทรถยนต์จีน ซึ่งตอนนี้ พวกเขาเริ่มเดินหน้าลุยตลาดบ้านเราแล้ว



รุกตลาดด้วยผลผลิตที่น่าสนใจ

ถ้านึกภาพผลผลิตของ GAC AION ไม่ออก แต่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เรากำลังจะบอกว่า ผลผลิตของ GAC AION มีทั้งตลาดรถยนต์ทั่วไป และตลาดในระดับไฮเปอร์คาร์ ซึ่งปี 2022 พวกเขาได้เปิดตัวรถสปอร์ตรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า Hyper SSR ออกมาพร้อมกำลังขับเคลื่อนในระดับ 1,225 แรงม้า ซึ่งจากผลผลิตที่เห็นอยู่นี้ทำให้เชื่อมั่นได้เลยว่าแบรนด์นี้ต้องมีอะไรที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

สำหรับกลุ่มตลาดรถยนต์แบบบ้านๆ ในปัจจุบันที่ทำตลาดภายใต้แบรนด์ AION นั้น จะมีด้วยกัน 5 รุ่นคือ

-AION S ตัวถังซีดานระดับคอมแพ็กต์แบบ 5 ที่นั่ง
-AION LX เป็นครอสส์โอเวอร์แบบ SUV ขนาดกลาง
-AION V ตัวถังแบบครอสโอเวอร์แบบคอมแพ็กต์
-AION Y ตัวถังแฮทช์แบ็คทรงกล่องสูงในสไตล์ครอสส์โอเวอร์ MPV
-AION Hyper GT ตัวถังแบบซีดานเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด เน้นสมรรถนะและความหรูหรา

แน่นอนว่าด้วยอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และความต้องการในรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคเริ่มมีมากขึ้น ทาง GAC AION เองก็วางแผนในการรุกตลาดประเภทนี้ด้วยทางเลือกใหม่ๆ จะถูกส่งออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ และที่มาแน่ๆ ซึ่งแปลกและแตกต่างจากรถยนต์นั่งทั่วไปของเขาคือ Hyper SSR ที่มีคิววางขายในปี 2024


เตรียมรุกตลาดไทยระลอกแรก

เป้าหมายหลักของ GAC AION คือ การตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับส่งออกขายในภูมิภาคนี้ แต่เมื่อโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนจากการลงทุน 100% มาเป็นแบบการมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุน พวกเขาจึงเริ่มรุกตลาดในบ้านเราด้วยการส่งรถยนต์ที่ประกอบในประเทศจีนเข้ามาทำตลาด พร้อมยืนยันในการเริ่มส่งมอบในวันที่ 9 กันยายนนี้


ตอนนี้ทาง GAC AION ได้มีการตั้งผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทย บริษัท โกลด์ อินทิเกรท (GOLD INTEGRATE) ที่มีทุนจดทะเบียน 37,000,000 บาท (37 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีน, เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสักขีพยาน การดำเนินรูปแบบการขายคาดว่าจะต่างจาก BYD เนื่องจาก GAC จะมีการแต่งตั้ง Authorized Distributor เจ้าใหญ่ 4 ราย และในภูมิภาคอีก 3 ราย ได้แก่ Gold Integrate (ประเทศไทย), AIONIC (ประเทศไทย), V Group AI ( ประเทศไทย), Harmony Auto (ประเทศไทย), 99 เมียนมาร์ (เมียนมาร์), Harmony Auto (เวียดนาม), EV HUB PRE LTD (สิงคโปร์)


สำหรับรถยนต์รุ่นแรกที่ทำตลาดเมืองไทย คือ AION Y Plus มาในแบบนำเข้า และมีข่าวว่าทาง GAC AION ได้ส่งออกรถยนต์รุ่นนี้มาจากจีนแล้ว โดย AION Y Plus มากับตัวถังแบบครอสส์โอเวอร์เน้นความอเนกประสงค์ มีลักษณะสูงออกแนว MPV ขนาดตัวรถความยาว 4,535 มิลลิเมตร กว้าง 1,870 มิลลิเมตร สูง 1,650 มิลลิเมตร และมีระยะฐานล้อ 2,750 มิลลิเมตร

แบตเตอรี่ของ AIONY Plus ใช้เทคโนโลยี Magazine ที่มีความปลอดภัยสูง โดยทาง GAC ได้ทำการทดสอบด้วยการใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปที่แพ็กแบตเตอรี่ ก็ไม่เกิดไฟลุกไหม้แต่อย่างใด ในประเทศจีนจะมีขนาดแบตเตอรี่ทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ LFP 51.9 kWh, LFP 61.7 kWh และ NMC 69.98 kWh มีกำลังตั้งแต่ 134-201 แรงม้า พร้อมระยะทางในการขับเคลื่อน 430-610 ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง


ส่วนเมืองไทย คาดว่าจะมีทั้ง 3 รุ่นคือ

Standard Range :มอเตอร์ไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 136 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 176 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate ขนาด 51.9 kWh วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 400 km. (มาตรฐาน NEDC)


Standard Range Plus :มอเตอร์ไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 225 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate ขนาด 61.7 kWh วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 480 km. (มาตรฐาน NEDC)

Long Range :มอเตอร์ไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 225 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Ternary Lithium ขนาด 69.9 kWh วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 580 กม.

สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมราคาจะมีขึ้นในวันที่ 9 กันยายน นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น