xs
xsm
sm
md
lg

จีนยึดตลาดรถไฟฟ้าทั่วโลก ยุโรปเริ่มหวั่นการรุกราน ผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อผู้บริโภคตื่นตัวเต็มที่และมีความต้องการในด้านการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV หรือ Battery Electric Vehicle เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ทว่าซัพพลายที่มีอยู่ในตลาดกลับมีทางเลือกที่ไม่มากพอในการตอบรับกับความต้องการ และขณะเดียวกันแบรนด์รถยนต์จีนสามารถพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าในรูปแบบที่มีความคุ้มค่าต่อราคาออกมาเป็นทางเลือกจนได้รับการตอบรับที่ดีจากทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความกังวลของผู้ผลิตรถยนต์จากฝั่งตะวันตกในเรื่องของการผูกขาดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกยึดครองโดยแบรนด์จีน


ยุโรปเริ่มหวั่นการรุกรานจากจีน

ถ้ายังจำกันได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งชาติอย่างเยอรมนีและอิตาลีรวมถึงประเทศเล็กๆ อีกหลายแห่งที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ประกาศไม่รับรองข้อบังคับในการประกาศให้รถยนต์ใหม่ที่จะขายในภูมิภาคนี้ในช่วงปี 2035 เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่จำเป็นจะต้องรีบใช้ เพราะมีทางเลือกของพลังงานอื่นๆ เช่น E-Fuel ที่สามารถนำมาใช้ ส่วนอีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ การลดความเสี่ยงในการถูกผูกขาดตลาดโดยรถยนต์จากจีน เพราะทั้งเยอรมนีและอิตาลีมองว่า ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน บริษัทรถยนต์ในยุโรปยังไม่สามารถพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าให้มีต้นทุนที่ต่ำลงจนสามารถแข่งขันกับแบรนด์รถยนต์จากจีนได้

ประเด็นนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะแม้ว่าหลายชาติในยุโรปเริ่มสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2010 แต่ทว่าองค์ความรู้ และทรัพยากรในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์รถยนต์ยุโรปยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่จะอยู่กับแบรนด์ระดับหรูเป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างของรถยนต์ขนาดกลางและล่าง ซึ่งทำให้เปิดโอกาสที่รถยนต์จีนที่ในปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาทั้งในเรื่องสมรรถนะ ประสิทธิภาพในการใช้งาน การออกแบบ และเรื่องอื่นๆ เข้ามาชิงส่วนแบ่งในกลุ่มนี้ได้


แน่นอนว่าตอนนี้ แบรนด์รถยนต์ในยุโรปต่างกังวลเรื่องการรุกรานของรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนที่มีการยกระดับขึ้นมาอย่างมาก และหลายรายเริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้แล้ว เช่น Renault มีการประกาศที่จะลดต้นทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลงอีก 40% เพื่อให้สามารถทำการแข่งขันกับรถยนต์พลังไฟฟ้าจากจีนได้ โดย Thierry Pieton หัวหน้าฝ่ายการเงินกล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแข่งขันด้านราคาคือให้ Renault ลดต้นทุนการพัฒนาและการผลิตของตนเอง

Carlos Tavares ซีอีโอของ Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์ Peugeot-to-Fiat เตือนว่าการแข่งขันกับผู้ผลิตจีนจะ ‘ดุเดือดและรุนแรงอย่างยิ่ง’

“ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของพวกเขาเมื่อเปรียบเทียบกับเรานั้น พวกเขาได้เปรียบกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเราประมาณ 25% และเราต้องต่อสู้” เขากล่าว โดยอธิบายถึงการเข้ามาของรถยนต์จีนในตลาดนั้นว่าเป็น “การรุกราน” "เราจำเป็นต้องใช้ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากภายในบริษัทของเราเองเพื่อให้แน่ใจว่าเรายังคงสามารถทำกำไรได้ด้วยราคาที่จับต้องได้สำหรับชนชั้นกลางในตลาดยุโรป"

นอกจากนั้น Tavares กล่าวว่าผู้ผลิตรถยนต์จากตะวันตกจำเป็นต้องใช้ "อาวุธแบบเดียวกัน" กับคู่แข่งในจีน โดยจัดหาชิ้นส่วนในประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า และเป็นพันธมิตรที่มั่นคงกับซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ที่นำเสนอการผสมผสานระหว่างพลังงาน ราคา และน้ำหนักที่ดีที่สุด “นั่นหมายความว่าเราต้องได้ข้อเสนอนั้นมาโดยที่สามารถขาย Citroën C3 ได้ในราคา 25,000 ยูโรหรือน้อยกว่านั้นโดยที่ยังมีกำไร” เขากล่าว



แบตเตอรี่ยังเป็นจุดหลักที่สำคัญของต้นทุน

สำหรับ Renault นั้น ถ้าอยากจะเป็นผู้ชนะในสงครามนี้ พวกเขาจะต้องมีแผนการที่ดี และได้วางเป้าหมายของการลดต้นทุนลง 40% โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป ซึ่ง Luca de Meo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Renault ได้กล่าวว่ากลุ่มจะเริ่มเห็นต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และนั่นรวมถึงแนวโน้มของแบตเตอรี่ที่เป็นวัตถุหลักในการผลิต

การส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาเข้าถึงได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก เนื่องจากการเปลี่ยนไปสู่การขับขี่ที่สะอาดขึ้นมาพร้อมกับราคาที่สูง เนื่องจากต้นทุนแบตเตอรี่เป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับผู้ผลิตจีน เช่น BYD และ SAIC นั้น พวกเขาได้ลงทุนมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยใช้ต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าและซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อเริ่มต้นด้วยความเหนือชั้นจากคู่แข่งหลายรายที่อยู่ในตลาด

ปี 2022 ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนมีส่วนแบ่ง 9% ในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าของยุโรป ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อนหน้านั้น และตามการคาดการณ์ของ Inovev บริษัทที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ แนวโน้มของรถยนต์จีนจะมีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง

เช่นเดียวกับผู้ผลิต EV รายอื่น Renault ก็เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งของสหรัฐฯ Tesla ซึ่งลดราคาหลายครั้งในปีนี้แม้ว่าจะกินส่วนต่างไปแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น ปีนี้ Tesla ลดราคารุ่น Model Y รุ่น Long-Range ในสหรัฐฯ ลงเหลือ 50,490 เหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางแบรนด์ยุโรป เช่น Mercedes-Benz และ BMW แล้ว พวกเขามีความชัดเจนในการที่จะยังทำตลาดภายใต้แนวทางและวิธีการของตัวเอง เพราะด้วยการเป็นตลาดรถยนต์หรู ดังนั้น พวกเขาจึงไม่จำเป็นที่จะต้องขยับตัวลงมาเล่นเกมในด้านสงครามราคากับแบรนด์รถยนต์จีนแต่อย่างใด


จีนขยับตัวขึ้นแท่นส่งออกรถยนต์เบอร์ 1 ของโลก

นับจากปี 2020 เป็นต้นมา รถยนต์ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญของจีนไปแล้ว โดยปัจจุบันนอกจากการเป็นตลาดรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดของโลกแล้ว จีนยังเตรียมกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์และส่งออกรถยนต์มากที่สุดในโลก และเชื่อว่าปลายปีนี้พวกเขาจะสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นได้ ด้วยตัวเลขการส่งออกมากกว่า 4 ล้านคัน

ปี 2020 จีนส่งออกรถยนต์ 1 ล้านคัน แซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ และจากนั้นเพียงแค่ปีเดียว ก็สามารถส่งออกรถยนต์มากกว่าเดิมเท่าตัวเป็น 2 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แซงหน้าเกาหลีใต้ และเพิ่มอีก 1 ล้านคันในปี 2022 เป็น 3 ล้านคันสามารถแซงหน้าเยอรมนีไปได้ โดยในปี 2023 นี้มีการคาดการณ์ว่าจีนจะมีตัวเลขการส่งออกรถยนต์ประมาณ 4 ล้านคัน ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะแซงหน้าญี่ปุ่นได้ทันที

สำหรับรายงานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 นั้น จีนมียอดส่งออกราวๆ 1.07 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้น 58% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นมีตัวเลขเพียง 654,185 คันหรือเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยหลักที่ทำให้จีนมียอดการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะความต้องการในด้านรถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งจีนมีให้เลือกหลากหลายระดับของแบรนด์ รวมถึงนโยบายในการผลักดันแบรนด์ต่างๆ ในประเทศ ให้ไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ โดยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดใหญ่ของจีน คือ รัสเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แบรนด์รถยนต์ยุโรปหลายแบรนด์แบนรัสเซียอันเนื่องมาจากการรุกรานยูเครน


นอกจากนั้นจีนยังเป็นที่ตั้งของโรงงาน Gigafactory ของ Tesla ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีอัตราการผลิต 1.25 ล้านคันต่อปี

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จีนจะอาศัยความได้เปรียบในด้านต้นทุนและการผลิตที่รวดเร็ว ในการขยายตลาดออกสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น