xs
xsm
sm
md
lg

มาสด้า พาสื่อลองสนามระดับโลกของไทย “ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ” ก่อนเปิดจริงปี 2569

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาสด้า จัดกิจกรรมทดสอบรถ มาสด้า 2 ไมเนอร์เชนจ์ บนเส้นทางจากกรุงเทพฯมุ่งหน้าไปยังศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ The Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center (ATTRIC) จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ทดสอบขับรถมาสด้า 2 เป็นกลุ่มแรก ณ ศูนย์แห่งนี้ แม้ว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม 

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้ให้เกียรติพาชมพร้อมอธิบาย  ATTRIC แห่งนี้ให้ฟังว่า เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการ 


ศูนย์ทดสอบฯ อยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 55 % ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45 % ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 และแน่นอนถ้าทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในเอาเซียนและอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster)



สำหรับศูนย์ทดสอบฯ แห่งนี้ ประกอบไปด้วย สนามทดสอบยางล้อ สนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ สนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัต สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า สนามทดสอบสมรรถนะความเร็วและป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 สถานีสำหรับเตรียมสอบสภาพรถ (Work Shop) ทางวิ่ง (Run-In) ,LAB ทดสอบการชน รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์
คาดว่าศูนย์ทดสอบฯจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศประมาณ 30-50 % และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ อธิบายสนาม
คณะของพวกเราได้มีโอกาสขับรถชมสนามโดยมี ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ นำขบวน อาคารแรกที่เราขับผ่านคือตึกอำนวยการมีรูปร่างเป็นเสียวของยางล้อเพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของสนามทดสอบยานยนต์และยางล้อ ภายในจะมีห้องสัมมนา ห้องฝึกอบรม โชว์รูมเล็ก ๆ เตรียมการไว้เปิดตัวในอนาคต และจะมีการสร้างศาลพระกฤษณะนารายณ์เทวเทพ  เทพประจำกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย และเมื่อเราขับเข้ามา จะมีสะพานที่เข้าไปยังสนามทดสอบใหญ่เป็นการเข้าออกทางเดียวตามมาตรฐานของสนามทดสอบทั่วไป เนื่องจากในการทดสอบต่างๆ เราต้องดูแลความลับของลูกค้า 

อาคารอำนวยการ ยังสร้างไมเสร็จ
ขับมาเรื่อย ๆ ตามทาง มีเนินทดสอบกำลังของเครื่องยนต์ โดยเนินมีความชันหลายระดับ เริ่มจาก 12 ถึง 30 องศา  มีสนามทดสอบการควบคุมบนถนนเปียก จะมีการปล่อยน้ำตามความต้องการได้เลย และถนนที่จะทำความเร็วสูง ซึ่งยังไม่เสร็จ ถนนที่ทดสอบสมรรถนะ อย่างไรก็ตามทุกอย่างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่เชื่อว่าสนามทดสอบแห่งนี้จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน




























กำลังโหลดความคิดเห็น