xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าทั่วโลกขยายตัว ค่ายรถทั้งปรับเปลี่ยนพัฒนาสู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าตอนนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ยังเป็นแค่เศษเสี้ยวของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดของโลก แต่ทว่าอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแบบก้าวกระโดดของแต่ละปี บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของผู้บริโภค จำเป็นที่บริษัทรถยนต์หลายรายและภาครัฐจะต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ตัวเองสามารถแข่งขันกับธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าเราได้เห็นแผนการและนโยบายของแบรนด์รถยนต์หลายต่อหลายแบรนด์ที่ในการเดินหน้าสู่ตลาดรถยนต์ BEV กันมาแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ทว่านั่นคือ แผนการที่เกี่ยวข้องกับตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่ทว่าการเติบโตในด้านยอดขายของรถยนต์พลังไฟฟ้ายังส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ อีกด้วย

เชื่อเข้าสู่ยุค EV รัฐบาลฯ ทั่วโลกเงินขายแน่นอน

ตามปกติแล้ว ในบางประเทศจะมีการเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง แต่จากการที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ย่อมต้องลดลงอย่างแน่นอน และสิ่งที่ตามมาคือ รายได้ของรัฐที่มาจากภาษีน้ำมันย่อมต้องลดลงตามไปด้วย

สำหรับในอังกฤษมีรายงานและมีการประเมินว่า ถ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังมีขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามแผนงานที่วางเอาไว้ ในปี 2030 รัฐบาลอังกฤษอาจจะเก็บภาษีได้น้อยลง แค่ 1 ใน 3 จากตัวเลขภาษาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยเก็บได้ นั่นหมายความว่าตัวเลขรายได้จากภาษีจำนวน 32,000 ล้านปอนด์จะลดลงเหลือแค่ 10,000 ล้านปอนด์เท่านั้น

"หากอังกฤษไม่ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีบนท้องถนนให้ทันสมัยเพื่อสะท้อนถึงรถยนต์ที่อยู่บนถนนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รัฐบาลจะต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องของงบประมาณ ดังนั้น ระบบภาษีของอังกฤษจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์ไฟฟ้าในลักษณะที่ปกป้องครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง” Johnny Marshall นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Resolution Foundation กล่าว

นอกจากนั้น ทางออกหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งถูกนำเสนอโดย Resolution Foundation คือ การเก็บภาษีการใช้งานตามระยะทางในการใช้ถนนของรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ Road Duty เพื่อเข้ามาทดแทนเงินรายได้ที่หายไปจากภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการพิจารณาถึงการเรียกเก็บภาษีจะต้องมีความเหมาะสมและไม่สร้างผลกระทบต่อครอบครัวที่อยู่ในฐานะปานกลางหรือฐานะที่มีรายได้ต่ำ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์ ซึ่งในอังกฤษจะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 20% จากแท่นชาร์จสาธารณะ ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก ในขณะที่คนที่มีฐานะเลือกที่จะติดตั้ง Wall Charge ที่บ้านของตัวเองเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงแค่ 5% เพื่อลดการเสียภาษีในส่วนนี้

อีกทั้งในเรื่องของการเก็บภาษีที่ตัวรถยนต์เองก็มีความสำคัญ เพราะแม้ว่าในช่วงแรกจะมีการลดหย่อยภาษีเพื่อเปิดโอกาสให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าครัวเรือนที่มีฐานะ ซึ่งถือเป็น 20% ของครัวเรือนในอังกฤษกลับเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีในลักษณะนี้ เพราะ 2 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในอังกฤษมาจากคนกลุ่มนี้ ดังนั้น ถ้าไม่มีการหาจุดลงตัวที่เหมาะสมในการเก็บภาษีในอนาคต จะกลายเป็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่มีฐานะ และสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับครอบครัวฐานะปานกลางและยากจน


ในสหรัฐอเมริกา บางมลรัฐ เช่น Washington และ Texas เริ่มมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการนำภาษีลักษณะนี้มาใช้ ซึ่งใน Texas มีการประกาศว่ารถยนต์ไฟฟ้าทุกคันที่แล่นอยู่ในรัฐนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป จะต้องจ่าย Annual Tax ในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเพื่อเป็นการทดแทนรายได้จากการเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ซึ่งตามปกติแล้วจากราคาจำหน่ายน้ำมันเบนซินในรัฐนี้ จำนวน 0.20 เหรียญสหรัฐฯ คือ ค่า Fuel Tax ที่เก็บเข้ารัฐฯ

คาดกว่าจากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่แล่นอยู่บนถนนของรัฐ Texas จำนวน 200,000 คันบวกกับอีก 80,000 ที่ถูกขายไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะทำให้รัฐเก็บภาษีนี้ได้ถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถือว่าน้อยมากจากจำนวนตัวเลขของภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2024 ที่คาดว่าจะมีตัวเลขสูงถึง 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้จะน้อยลงหากมีปริมาณรถยนต์พลังไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นบนถนน

Audi ปรับการขายใหม่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน


การเข้ามาของ Tesla และแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่มีรูปแบบการขายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้บรรดาแบรนด์รถยนต์ในเยอรมนีจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่ง Audi เองก็เพิ่งประกาศที่จะปรับรูปแบบการขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่หลังจากที่ได้ตกลงกับบรรดาดีลเลอร์ทั่วประเทศเยอรมนี

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตัวแทนจำหน่ายของ Audi ในเยอรมนีเท่านั้น ซึ่ง Audi ได้ปรับรูปแบบการขายไปเป็นแบบขายตรงหรือ Direct Sale ให้กับลูกค้าผ่านทางตัวแทนจำหน่ายเดิมของพวกเขา และจะมีการกำหนดราคาตายตัวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 เป็นต้นไป และจะไม่มีการซื้อรถยนต์จาก Audi แล้วไปขายทำกำไรเหมือนกับที่ผ่านมาอีกต่อไป

ภายใต้แนวทางนี้ Audi จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนค่าคอมมิสชั่นในการขายใหม่ และกำหนดเอาไว้เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยจะมีการกำหนดราคาตายตัวเอาไว้ที่ 6% บวกกับค่าตอบแทนแบบยืดหยุ่นซึ่งอยู่ในระดับ 1.5-2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งในตลาดเยอรมนี เช่น Volkswagen กำหนดเอาไว้ที่ 4% บวกกับค่าตอบแทนแบบยิดหยุ่น 2% ส่วน BMW กำหนดไว้ที่ 5.5% แต่จะมีการเพิ่มโบนัสให้หากผลประกอบการมีกำไรมากกว่า 7.4% แต่ทว่ากว่าจะใช้แผนการนี้ต้องรอจนถึงปี 2026

การขายในแบบ Fixed price เป็นสิ่งที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์ เช่น Tesla, Lucid และ Rivian นำมาใช้ในเยอรมนี และเป็นแนวทางที่ลูกค้าค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่ได้รับกลับมา เพราะพวกเขาจะทราบชัดเจนว่าได้อะไรจากจำนวนราคานี้ และไม่ต้องเสียเวลาในการต่อรองราคาเหมือนกับการซื้อรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถยนต์ไฮบริด แต่ในทางกลับกันนั่นหมายความว่า เรื่องของส่วนลดที่เคยมีในอดีตก็จะไม่มีด้วยเช่นกัน



นักพัฒนาซอฟท์แวร์และโปรแกรมเมอร์เนื้อหอม

การเติบโตของรถยนต์พลังไฟฟ้า และการพัฒนารถยนต์ที่เน้นไปในเรื่องของ Autonomous มากขึ้น ทำให้กลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมเมอร์กลายเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะจากบรรดาแบรนด์รถยนต์อย่าง Toyota หรือ Honda ซึ่งกำลังต้องการยกระดับและอัพเกรดตัวเองเข้าสู่ยุคของการแข่งขันกับแบรนด์ต่างๆ ในตลาดกลุ่มนี้


จากการเปิดเผยของสำนักข่าว Nikkei ทางด้าน Honda วางแผนในการในการเพิ่มจำนวนการจัดจ้างโปรแกรมเมอร์มากถึงเท่าตัวตลอดช่วง 7 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นเท่ากับว่าภายในปี 2030 พวกเขาจะมีจำนวนของโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ในบริษัทมากถึง 10,000 คนเลยทีเดียว ขณะที่ทางด้าน Toyota เองก็ไม่ยอมแพ้คาดว่าภายในปี 2025 พวกเขาจะมีเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ทำงานมากกว่า 18,000 อัตรา

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในด้านอัตราส่วนของแรงงานภายในบริษัทรถยนต์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ซึ่งทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมเมอร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มวิศวกรด้านรถยนต์

การดำเนินการในครั้งนี้ของทั้ง 2 บริษัทคาดว่าจะช่วยทำให้ทั้ง Toyota และ Honda มีศักยภาพในการแข่งขันกับทาง Tesla และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโปรแกรมและซอฟต์แวร์ของตัวเองเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมาร์จิ้นในส่วนต่างของราคาขายและต้นทุน ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สามารถตั้งราคาแข่งขันกับคู่ปรับในตลาดได้

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าโมเดลการทำตลาดและพัฒนารถยนต์ที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ของ Tesla ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความสำเร็จของพวกเขา แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ บ่อยเท่ากับคู่แข่งในตลาด แต่การเพิ่มคุณสมบัติใหม่อย่างต่อเนื่องผ่านการอัปเดตแบบ over-the-air กลับช่วยให้รถยนต์ของพวกเขายังคงใหม่อยู่เสมอ และถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้รถยนต์ของ Tesla ได้รับความสนใจจากลูกค้ารุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ




กำลังโหลดความคิดเห็น