xs
xsm
sm
md
lg

e-Fuels ทางเลือกใหม่ หรือตัวขวางการก้าวสู่ยุค EV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คำว่า e-Fuels กลายเป็นที่สนใจ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายเมื่อประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปที่นำโดยเยอรมนี และอิตาลีประกาศไม่ยอมร่วมลงนามกฎหมายในการกำหนดห้ามรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในวางขายในกลุ่มประเทศ EU ปี 2035 แต่เลือกที่จะยืนยันให้มีการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE ต่อไป ทซึ่งนั่นทำให้คำๆ นี้กลายเป็นที่สงสัยในวงกว้างว่า มันคืออะไรกันแน่ ?


ความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความขัดแย้ง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 กลุ่มประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองสตาร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับยกเรื่องข้อกำหนดในการระบุให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีรถยนต์ขายในยุโรปตะวันตกจำนวน 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปจะต้องเลิกจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2035 เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ท่ามกลางประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นอกจากนั้น ทางสมัชชาของสหภาพยุโรปยังประกาศรับรองข้อกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากรถยนต์นั่งให้ลดลงถึง 55% และรถตู้หรือรถแวนจำนวน 50% ภายในปี 2030 และนั่นเท่ากับว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้ภาระผูกพันที่กับบรรดาผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดในช่วงทศวรรษนี้ และหมายความว่าถ้าจะให้บรรลุตามข้อกำหนดนี้ บริษัทรถยนต์จะต้องดำเนินการใดๆ ก็ตามให้รถยนต์ของตัวเองมีการปล่อยก๊าซนี้ลดลงเฉลี่ยต่อเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วถึง 37.5% เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

แน่นอนว่าในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้มาพร้อมกับคะแนนเห็นชอบที่เหนือจากฝ่ายที่คัดค้านค่อนข้างมาก ด้วยคะแนนโหวต 339 ต่อ 249 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 24 เสียง จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงของการลงมติเพื่อผ่านร่างข้อกำหนดนี้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเยอรมนี อิตาลีและอีกหลายประเทศได้ออกเสียงคัดค้านจนนำไปสู่การทบทวนอีกครั้ง พร้อมกับเสนอทางออกของเรื่องในการให้ใช้เชื้อเพลิงที่มีชื่อว่า e-Fuel และนำไปสู่ข้อตกลงสายกลาง ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า อียูได้บรรลุข้อตกลงกับเยอรมนีในการใช้ e-fuels แล้ว และจะดำเนินการออกมาตรการด้านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยานยนต์ให้เร็วที่สุด


อะไรคือ e-Fuels ?

e-Fuels เป็นตัวย่อของคำว่า Electrofuels ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือ Synthetic Fuels ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บ และก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกใช้ในการผลิต e-Fuels มีปริมาณเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่อากาศเมื่อ e-Fuels เกิดการเผาไหม้ ทำให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมต่ำ

e-Fuels ถือเป็น 1 ใน 4 ของเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน นั่นคือ มีคุณสมบัติไม่ปล่อยหรือไม่ทำให้เกิด CO2 หลังการเผาไหม้ แถมยังมีกระบวนการผลิตเริ่มจากพลังงานหมุนเวียนและสุดท้ายคือสามารถใช้ทดแทนกับเชื้อเพลิงแบบฟอสซิลเดิมๆ ซึ่งเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอีก 3 เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นคือ ไฮโดรเจน เชื้อเพลิงแบบชีวภาพ และพลังงานไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ e-Fuels ไม่จำกัดอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น และถูกหยิบยกมาพูดถึง คือ สามารถใช้งานในเครื่องยนต์สันดาปที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อีกด้วย อีกทั้งการจัดส่งยังสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้เช่นเดียวกัน ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนแสดงความเห็นว่า e-fuels เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค แทนที่การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า

บรรดาแบรนด์รถยนต์เยอรมนี เช่น BMW, Porsche และ Audi ต่างทุ่มเทการพัฒนาและมีองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์ e-Fuels มาอย่างต่อเนื่อง เช่น Audi พัฒนา “e-benzin” หรือ “e-gasoline” เมื่อปี 2018 ซึ่งมีจุดเด่น คือ ผลิตจากชีวมวล (biomass) โดยเริ่มจากการผลิตก๊าซไอโซบิวทิลีน (isobutene: C4H8) จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไอโซออกเทน (isooctane: C8H18) ด้วยการเติมไฮโดรเจน ได้เป็นเชื้อเพลิงปราศจากสารกำมะถันและเบนซิน เมื่อเผาไหม้จึงเกิดมลพิษต่ำ ส่วน Porsche เป็นอีกบริษัทที่ได้พัฒนา “eFuels” ซึ่งผลิตจากน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้ไฟฟ้าพลังงานลม โดยประกาศเปิดโรงงานผลิตที่ประเทศชิลี

นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศผลิตรถยนต์ และมียอดขายรถยนต์สูงสุดในยุโรปตะวันตก คัดค้านการยกเลิกการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน และให้หันมาใช้ e-Fuels ก่อนในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของการใช้พลังไฟฟ้าในการขับเคลื่อน



ช่วยลดและแก้ปัญหาตกค้าง แต่…

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังไฟฟ้าอย่างที่มีการคาดหมายกันไว้ แต่อย่าลืมว่า โลกของเราไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือไปเป็นหลังมือภายในวันเดียว แต่ยังมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในตกค้างอยู่บนท้องถนนอยู่อีกจำนวนมาก โดยมีการประเมินว่าอาจจะสูงถึง 1.3 พันล้านคันทั่วโลก นั่นเท่ากันว่าถึงในบางตลาดมีนโยบายในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์ใหม่แล้ว แต่ยังมีรถยนต์อีกจำนวนมากที่แล่นบนท้องถนนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพวกออกมาทำร้ายโลกอยู่ดี

ดังนั้น e-Fuels คือ ตัวเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ และนี่ยังไม่รวมถึงยานพาหนะอื่นๆ ที่ไม่ใช่รถยนต์แต่ต้องใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในในการขับเคลื่อน เช่น เรือ เครื่องบิน และรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเดียวและถือเป็นปัญหาใหญ่ก็คือ e-Fuels ยังไม่มีการผลิตในระดับมหภาค และโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิต e-Fuels เกิดขึ้นในปี 2021 ที่ชิลีโดยได้รับการสนับสนุนจาก Porsche และมีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 550 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่โรงงานอื่นๆ ซึ่งมีแผนดำเนินการเช่นเดียวกันได้แก่ Norsk e-Fuel ในนอร์เวย์ ซึ่งจะเริ่มผลิตปี 2024 โดยมุ่งเน้นที่การผลิตเชื้อเพลิง e-Fuels สำหรับการบิน นั่นเท่ากับว่าจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการผลิต e-Fuels เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน

แต่ความขัดแย้งไม่ได้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น เพราะ e-Fuels อาจจะกลายเป็นตัวสร้างความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ เพราะถูกมองว่า ถ้าเกิดใช้งานได้ดี e-Fuels อาจจะกลายเป็นตัวขัดขวางการเข้าสู่ยุคการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนในเชิงระยะสั้นกับ e-Fuels อาจจะไม่คุ้มค่า เพราะตามรายงานของสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด (ICCT) ระบุกระบวนกระบวนการผลิต e-Fuels สูญเสียพลังงานเกือบ 50% ของพลังงานที่ใช้ รถยนต์พลังไฟฟ้าจึงมีความประหยัดพลังงานมากกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย e-Fuels ประมาณ 4 เท่าอีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการผลิต e-Fuels ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงชนิดนี้สูงถึง 7 เหรียญสหรัฐฯต่อลิตร แต่นี่คือความท้าทายที่ฝ่ายที่ถือ e-Fuels จะต้องรีบจัดการและพัฒนาให้กลายเป็นจริงโดยเร็วที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นไปในแนวไหน อย่างน้อย ตอนนี้ภาพของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าของโลกยานยนต์ก็มีความชัดเจนและมองเห็นสิ่งที่ไม่ทำให้นักขับทั่วโลกต้องมานั่งกังวลกันว่าการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้จะทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ เพราะอย่างน้อยการที่มีทางเลือกของพลังงานมากกว่า 1 อย่างจะช่วยให้เราสามารถขับเคลื่อนชีวิตโดยที่มีความเสี่ยงลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น