xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใช้รถระส่ำทั่วโลก Recall ถุงลม 67 ล.คันในอเมริกา เทสลา-โตโยต้าเจอปัญหาเรียกรถคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลับมาสู่ช่วงที่ผู้ใช้รถยนต์ทั่วโลกจะต้องเจอกับความเสี่ยงจากความบกพร่องของชิ้นส่วนภายในกันอีกครั้ง โดยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานและบริษัทรถยนต์ที่พบกับปัญหาต่างออกมาประกาศถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาจะต้องมีการเรียกรถยนต์กลับคืน หรือ Recall ครั้งใหญ่ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนถึง 67 ล้านคันเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องถุงลมนิรภัย ขณะที่โตโยต้าเองก็เจอปัญหาอีกเมื่อมีความเสี่ยงว่าข้อมูลของลูกค้าจำนวนกว่า 2 ล้านรายที่ใช้ระบบ Cloud ในการเก็บข้อมูลอาจจะหลุดออกสู่สาธารณะ ส่วนลูกค้าของเทสลาในจีนต้องมีความเสี่ยงกับปัญหาเรื่องระบบเบรก จนทำให้บริษัทต้องออกมาประกาศ Recall รถยนต์จำนวนกว่า 1 ล้านคัน

นักขับอเมริกันช่วงนี้ห้ามชน NHTSA ประกาศ Recall รถยนต์ 67 ล้านคัน

หลังจากกรณีของ Takata ที่สร้างความปวดหัวให้กับบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ ตอนนี้ น่าจะเป็นการเรียกรถยนต์กลับคืน หรือ Recall เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อสำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติ (NHTSA) เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์เรียกคืนถุงลมนิรภัย 67 ล้านชุดที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์รุ่นต่างๆ เนื่องจากเชื่อว่ามีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย แต่ ARC Automotive Inc ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงลมนิรภัยเพื่อส่งให้กับบริษัทรถยนต์ ปฏิเสธคำขอของหน่วยงานนี้

การเรียกร้องครั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากตัวจุดระเบิดการทำงานของถุงลมนิรภัยมีปัญหา ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการที่มีเศษโลหะพุ่งออกมาสู่ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารด้านหน้าเมื่อถุงลมนิรภัยพองตัวออกมาในระหว่างที่เกิดการชนด้านหน้าหรือด้านข้างจนทำให้ถุงลมนิรภัยทำงาน

สำหรับถุงลมนิรภัยของ ARC Automotive ถูกใช้รถยนต์ในเครือ GM หรือ General Motors, แบรนด์ในเครือ Chrysler-Stellantis, BMW, Hyundai, Kia และแบรนด์อื่นๆ โดยเฉพาะรถยนต์ของ GM ก็คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคันแล้ว โดยทาง GM เองก็ได้มีการประกาศเรียกรถยนต์กลับคืนมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหลังจากมีความเชื่อว่า จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความบาดเจ็บที่หน้าของผู้ขับขี่ในเคสของอุบัติเหตุการชนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ทาง ARC Automotive ยังได้ปฏิเสธถึงคำกล่าวอ้างของ NHTSA ถึงเรื่องที่ตัวจุดระเบิดของถุงลมนิรภัยเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจำนวน 7 รายในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมีนาคม โดยทาง NHTSA ยืนยันว่าตลอดเวลา 18 ปีที่ทาง ARC Automotive ผลิตตัวจุดระเบิดถุงลมนิรภัยออกให้กับแบรนด์รถยนต์ที่เป็นคู่ค้านั้น ตัวจุดระเบิดนี้น่าจะมีปัญหา และจำนวนรถยนต์ที่จะต้องมีการเรียกกลับมาตรวจสอบนั้นสูงถึง 67 ล้านคัน

ก่อนหน้านั้นในปี 2016 ทาง NHTSA ได้ประกาศให้มีการ Recall และเรียกรถยนต์จำนวน 8 ล้านคันกลับมาแก้ไขในเรื่องของตัวจุดระเบิดของถุงลมนิรภัยที่ผลิตโดย ARC Automotive ซึ่งตอนนั้นมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในแคนาดาและทำให้ผู้ขับรถ Hyundai เสียชีวิต และใช้เวลาในการสอบสวนและตรวจสอบนานถึง 7 ปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันออกมาอย่างเป็นทางการว่ารถยนต์รุ่นไหนที่ผลิตในปีไหน จะถูกเรียกกลับคืนมาตรวจสอบและเปลี่ยนตัวจุดระเบิดบ้าง โดยกรณีนี้ถือเป็นการ Recall ครั้งใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับถุงลมนิรภัยอีกครั้งหลังจากที่เคยเกิดกับกรณีของ Takata ในทศวรรษที่แล้ว ซึ่งทำให้ต้องมีการ Recall รถยนต์ทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคันหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30 รายที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของถุงลมนิรภัยในระหว่างเกิดอุบัติเหตุ


เทสลาจีน Recall รถกว่าล้านคันหลังมีปัญหาเรื่องเบรก

ส่วนในตลาดรถยนต์จีนนั้น ทางหน่วยงานที่ดูแลและควบคุมด้านความปลอดภัยได้ประกาศให้ทางเทสลาจะต้อง Recall หรือเรียกรถยนต์กลับมาตรวจสอบและปรับเปลี่ยนในเรื่องของซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของระบบเบรก หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุจนนำไปสู่การเสียชีวิต 1 รายและอีก 3 รายเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนที่จะต้องเรียกกลับคืนมานั้นสูงถึง 1.1 ล้านคัน

จากการเปิดเผยของหน่วยงานที่ดูแลในด้านนี้นั่นคือ State Administration for Market Regulation ยืนยันว่า จากการที่ตัวรถยนต์ไม่มีระบบที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งปิดการทำงานของระบบ Regeneration Brake หรือการชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าสู่แบตเตอรี่เมื่อมีการเบรก หรือไม่มีการแจ้งเตือนที่มากพอให้ผู้ขับขี่ได้รับทราบเมื่อมีการกดคันเร่งที่หนักเกินไปนั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยทางเทสลาได้ยกเลิกการติดตั้งสวิตช์ในการปิดระบบนี้ไปในรถยนต์ที่ถูกผลิตตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งได้กลายมาเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า One-Padle Driving และได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวจีน เพราะระบบการใช้แป้นเดียวในการหยุดหรือเร่งคันเร่งนั้น ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการระบุว่ารถยนต์ของเทสลา รุ่น Model Y ได้ชนเข้ากับจักรยานที่ขี่โดยนักเรียนมัธยมและผู้คนอีก 3 คนจนทำให้คนขี่จักรยานเสียชีวิตและที่เหลือได้รับบาดเจ็บโดยทางผู้ขับขี่อ้างว่ารถยนต์สูญเสียการควบคุม ขณะที่ทางเทสลาได้กล่าวว่าจากวีดีโอที่มีการเผยแพร่ในโลกอินเตอร์เนตนั้น พบว่าไฟเบรกของรถยนต์ Model Y คันนั้นไม่ได้สว่างขึ้นมาในขณะที่เร่งความเร็วขึ้น และข้อมูลที่อยู่ในตัวรถก็บันทึกว่าตลอดการขับ ผู้ขับขี่ไม่ได้มีการกดแป้นเบรกเลย

อย่างไรก็ตาม ทางเทสลาจะเรียกรถยนต์จำนวน 1.1 ล้านคันทั้งรุ่นที่ประกอบในจีนและนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยรุ่น Model X, Model S, Model Y และ Model 3 มาอัพเกรดในส่วนของซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวจ้องในด้านหน้าโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคมนี้



ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

หลังจากเกิดกรณีเรื่องผลการทดสอบชนด้านข้างของโตโยต้า Yaris Ativ ได้ไม่นาน ดูเหมือนว่าลูกค้าของ โตโยต้า ได้หนาวๆ ร้อนๆ กันอีกครั้ง และครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อมีการเปิดเผยว่า ข้อมูลของลูกค้าที่ใช้รถยนต์จำนวนกว่า 2 ล้านรายที่ใช้ระบบเก็บข้อมูลในรถยนต์ผ่านทาง Cloud อาจจะมีการรั่วไหลออกไปเพราะความผิดพลาดในการทำงาน

ทาง Reuter ได้รายงานจากการแถลงข่าวของ Toyota Motor Corp ข้อมูลของลูกค้าทั้งของโตโยต้า และเลกซัส จำนวน 2.15 ล้านรายในญี่ปุ่น หรือเกือบทั้งหมดที่ลงทะเบียนในการใช้งานการเก็บข้อมูลเอาไว้ที่ระบบ Cloud ตั้งแต่ปี 2012 อาจจะมีการรั่วไหลออกมาสู่สาธารณะ

ปัญหาดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2013 และยาวนานจนถึงกลางเดือนเมษายนในปีต่อมา โดยเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ทำให้ระบบ Cloud ถูกตั้งค่าเป็นสาธารณะแทนที่จะเป็นส่วนตัว โฆษกของโตโยต้า กล่าวว่า ข้อมูลที่หลุดออกมาอาจรวมรายละเอียดต่างๆ เช่น ตำแหน่งของยานพาหนะและหมายเลขประจำตัวของอุปกรณ์ยานพาหนะ แต่ไม่มีรายงานการใช้งานที่เป็นอันตราแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ทางโฆษกของโตโยต้าได้กล่าวว่าด้วยเหตุที่ทางระบบเองไม่ได้มีเรื่องของการตรวจสอบในเรื่องการตั้งค่าที่เป็นการเปิดเผยออกสู่สาธารณะ ดังนั้นจึงต้องใช้เวลานานกว่าที่จะทราบว่าข้อมูลที่ถูกจับเก็บอยู่ใน Cloud เวลาก็เลยล่วงเลยมานานกว่า 10 ปี

ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนใช้บริการ T-Connect ซึ่งให้บริการที่หลากหลาย รวมถึงความช่วยเหลือในการขับขี่ด้วยเสียง AI การเชื่อมต่ออัตโนมัติกับศูนย์บริการทางโทรศัพท์เพื่อการจัดการยานพาหนะ และการสนับสนุนฉุกเฉินในกรณีเช่น อุบัติเหตุจราจรหรือการเจ็บป่วยกะทันหัน ผู้ใช้ G-Link ซึ่งเป็นบริการที่คล้ายกันสำหรับเจ้าของรถเลกซัส ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทางด้านคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของญี่ปุ่นได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม ตามแนวปฏิบัติที่จะไม่แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบในเชิงชื่อเสียงและความเสียหายให้กับลูกค้า แต่กลับส่งผลเต็มๆ ต่อความเชื่อมั่น และอาจจะทำให้ระบบ Autonomous หรือการขับขี่อัตโนมัติถูกเลื่อนการใช้งานออกไป เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้ลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อความปลอดภัยในการเชื่อมต่อกับพื้นที่จัดเก็บข้อมูลส่วนกลางอย่าง Cloud และอาจจะมีส่วนในการช่วยทำให้เกิดการชะลอการนำระบบ A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการช่วยเหลือการขับขี่ เพราะเป็นระบบที่จะต้องมีการเชื่อมต่อกับ Cloud ในการรับส่งและการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น