อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยต่อการเติบโตของรถยนต์พลังไฟฟ้าหรือ BEV คือ การสนับสนุนจากทางภาครัฐทั้งในแง่การลงทุน และการออกนโยบายที่เอื้อหรือกดดันผู้ผลิตเพื่อให้เดินตามสิ่งที่รัฐต้องการ แน่นอนว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับการประกาศชัดเจนในการขยายตลาดรถยนต์ประเภทนี้ในสหรัฐอเมริกา โดยทาง EPA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับและดูแลในด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองลุงแซมได้นำเสนอร่างกฎข้อบังคับชัดเจนเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษของไอเสียอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้มีการประเมินว่า 2 ใน 3 ของรถยนต์หรือปิกอัพที่จะจำหน่ายปี 2032 ในตลาดสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้ากันเลยทีเดียว
EPA หรือ Environmental Protection Agency เป็นหน่วยงานระดับประเทศ หรือระดับรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพของมวลมนุษย์และปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ทั้งในส่วนของอากาศ น้ำ และผืนดิน ได้รับการก่อตั้งขึ้นในช่วงของประธานาธิบดี Richard Nixon เมื่อปี 1970 ซึ่ง EPA มีส่วนในการออกกฎและข้อบังคับเพื่อควบคุมในเรื่องการปล่อยมลพิษออกสู่ธรรมชาติ และบริษัทรถยนต์ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะในช่วงนั้น เครื่องยนต์สันดาปภายในมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ ออกมาค่อนข้างสูงจนทำให้เกิดปัญหาในด้านมลพิษทางอากาศจนนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องมีการปล่อยไอเสียที่มีค่ามลพิษสอดคล้องกับตัวเลขที่กำหนดเอาไว้
เมื่อวันพุธที่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ EPA นำเสนอร่างกฎข้อบังคับใหม่ที่จะใช้ในการควบคุมมลพิษในไอเสียของรถยนต์ใหม่ที่จะเริ่มนำมาใช้ในช่วงทศวรรษที่ 2030 ซึ่งว่ากันว่าเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายอันแข็งกร้าวในด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดี Joe Biden ที่ยืนยันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการลดปัญหาเรื่องโลกร้อน ซึ่งทาง Michael Regan ผู้อำนวยการของ EPA เรียกข้อบังคับใหม่นี้ว่า “The strongest-ever federal pollution standards for cars and trucks.” หรือ ‘กฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับการกำหนดระดับมาตรฐานด้านไอเสียให้กับรถยนต์และรถบรรทุกที่เข้มงวดที่สุดเท่าที่หน่วยงานเคยทำออกมา’ โดยข้อบังคับใหม่นี้ว่ากันว่าจะมีลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ลงถึงครึ่งหนึ่ง และอีก 30% จากภาคขนส่งเลยทีเดียว ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ สิ่งนี้จะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการจัดการเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนของผู้ผลิตและผู้บริโภคได้อย่างมากเลยทีเดียว
แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งของข้อบังคับนี้คือ การพิจารณาในการวางสัดส่วนของการกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซไอเสียและก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ใหม่ที่มีความเข้มงวดอย่างมาก ซึ่งเปรียบเสมือนกับการบีบให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องเร่งมือในการผลักดันให้โปรเจ็กต์รถยนต์ปลอดมลพิษของตัวเองไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนจะต้องออกสู่ตลาดให้เร็วขึ้น และว่ากันว่าถ้าข้อบังคับนี้ได้รับการผ่านความเห็นชอบและมีการอนุมัติให้ใช้ภายในปี 2027 ในตลาดรถยนต์อเมริกาจะต้องมีสัดส่วนรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 60% เลยทีเดียว และภายในปี 2032 รถยนต์ขนส่งขนาดกลางอย่างเช่น รถบรรทุก จะต้องมีครึ่งหนึ่งที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งข้อบังคับนี้ยังครอบคลุมถึงรถใช้งานอย่างรถดั๊มพ์ รถขุด หรือรถยนต์ประเภทต่างๆ ที่ใช้ในงานก่อสร้างหรืออุตสาหกรรม
ยังต้องทำการสื่อสารให้ผ่านฉลุย
แน่นอนว่า ถ้ามีการบังคับใช้กฎข้อบังคับนี้ขึ้นมา สิ่งที่จะต้องทำอย่างมากคือ การสื่อสารและการทำความเข้าใจที่ไม่เฉพาะบริษัทรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคอีกด้วย โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ที่มีขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกันจากกลุ่มสำรวจ 1,000 คน มีมากกว่า 41% ที่ไม่สนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน
นอกจากนั้นในการสำรวจพบว่า ไม่เพียงแต่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาแพงกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเท่านั้น แต่ผู้บริโภคยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของการหันไปใช้รถยนต์ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษออกสู่อากาศเพื่อลดปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม หรือการช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 6 ใน 10 คนกล่าวว่าพวกเขาเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าช่วยสิ่งแวดล้อมได้ “เพียงเล็กน้อย” หรือ “ไม่เลย”
สำหรับในสหรัฐอเมริกา การคมนาคมขนส่งเป็นจุดปล่อยมลพิษที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้โลกร้อนขึ้น และยานพาหนะขนาดเล็ก หรือรถยนต์ส่วนตัวที่ชาวอเมริกันขับนั้นคิดเป็น 58% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมด คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติรายงานเมื่อปีที่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและการจัดการปัญหามลพิษในภาคการขนส่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถลดการปล่อยมลพิษในส่วนนี้ได้มากกว่า 80%
ถ้ายังมองไม่เห็นในแง่ของภาพรวมใหญ่ ทาง EPA ระบุว่าการใช้รถยนต์พลังไฟฟ้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้ในระยะยาวด้วย ซึ่ง Regan กล่าวว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนน้อย ไม่ต้องมีการบำรุงรักษายุ่งยากและวุ่นวาย ที่สำคัญคือไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง’
ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์นั้น อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าที่ควร เพราะในปัจจุบัน หลายแบรนด์ทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง และจากยุโรปหรือญี่ปุ่นต่างก็มีแผนการหรือแนวนโยบายในการผลักดันการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าขึ้นมาทดแทนตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของตัวเองอยู่แล้ว
สำหรับการกระตุ้นในด้านการขายเพื่อทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์พลังไฟฟ้านั้น ทางภาครัฐฯ จะมีการออกข้อกำหนดในการช่วยเหลือในด้านภาษี หรือ Tax Credit ซึ่งจะช่วยให้คนซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้าประหยัดเงินไปได้ถึง 7,500 เหรียญสหรัฐฯ โดยในตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดการอยู่ เพราะว่ารัฐบาลจะจัดการดูแลและควบคุมการเก็บภาษีของชิ้นส่วนต่างๆ ที่อยู่ในตัวรถ เช่น แบตเตอรี่ ไม่ว่าชื้นส่วนนั้นจะผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าถูกลงจนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่า กฎต่างๆ จะถูกทยอยเปิดเผยออกมาเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภคได้ศึกษาหลายปีก่อนที่จะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ และหลังจากนั้น ทางภาครัฐฯ ก็จะหันไปมุ่งเน้นที่การติดตั้งสถานีชาร์จ EV ให้มากขึ้น และขยายการเข้าถึงเครดิตภาษี EV ของรัฐบาลกลางมูลค่า 7,500 เหรียญสหรัฐฯ เป็นเรื่องต่อๆ ไป
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตลาดรถยนต์อเมริกาหากมีการบังคับใช้
ความน่าสนใจคือ ถ้าร่างข้อบังคับผ่านและมีการบังคับใช้ในช่วงทศวรรษที่ 2030 สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การที่สหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นตลาดที่มีรถยนต์พลังไฟฟ้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากเดิมที่ในปัจจุบัน พวกเขายังตามหลังจีนและบางประเทศในยุโรปอยู่
ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา มีการเปิดเผยออกมาว่าในช่วงไตรมาสแรกมีส่วนแบ่งทางตลาดเพียง 5.8% ของยอดขาย และคาดว่าในปี 2023 น่าจะมีตัวเลขยอดขายรวมทั้งหมดอยู่ที่ราวๆ 888,000 คัน ซึ่งจะว่าไปแล้วยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมของตลาดรถยนต์ที่มียอดขายราวๆ 12-14 ล้านคันต่อปี
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อบังคับใหม่นี้ จะเป็นการเร่งการเติบโตของรถยนต์พลังไฟฟ้า เพราะผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นจะต้องมีสัดส่วนของรถยนต์ใหม่ที่ขายในตลาดช่วงปี 2032 ที่สอดคล้องกับข้อบังคับ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า สัดส่วนของรถยนต์ใหม่ที่วางขายในปีนั้นๆ ระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในกับรถยนต์พลังไฟฟ้าไม่ว่าจะในรูปแบบใดจะแยกกันอย่างชัดเจนขึ้น โดยเชื่อว่า 70-80% จะต้องเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า
และจากจุดนี้ทำให้มีการประเมินว่า ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาที่มีการเชื่อว่าในปี 2035 จะมีตัวเลขอยู่ที่ 15.3 ล้านคันนั้น ในจำนวน 10-12 ล้านคันจะป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ หรือคิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดถึง 66.7-80% เลยทีเดียว ขณะที่ปี 2023 มีตัวเลขสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ 5.75% เท่านั้นเอง
แม้ว่าจะยังมีสิ่งที่เรียกว่าความเห็นที่ตรงกันในแง่ของผลประโยชน์ และในเชิงนโยบาย ที่อาจจะทำให้เกิดเสียงแตกได้หากไม่มีสิ่งนี้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพยุโรปมาแล้วในช่วงการโหวตลงมติที่เยอรมนี อิตาลีและบางประเทศยังไม่เห็นด้วยการยกเลิกการผลิตรถยนต์สันดาปภายในและเน้นการขายเฉพาะรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าโอกาสที่ข้อบังคับนี้จะผ่านและสามารถนำมาใช้ได้จริงคือ ข้อได้เปรียบในแง่ที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ ไม่ได้มาจากการรวมตัวกันของหลายประเทศ และความเห็นที่เป็นทิศทางเดียวกัน เพราะตอนนี้รัฐบาลของรัฐแคลิฟอร์เนียเห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว แถมพวกเขายังมีข้อบังคับเฉพะตัวในการกำหนดให้รถยนต์ใหม่ที่จะจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ จะต้องมีจำนวนรถยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero-Emission Vehicle ทำตลาดไม่น้อยกว่า 70% ของรุ่นที่วางขายในตลาด และมีอีกอย่างน้อย 17 รัฐที่กำลังดำเนินงานเพื่อเดินตามรอย
ดังนั้น สิ่งเดียวที่หวังกันคือ เมื่อถึงเวลาของการลงมติ Biden ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไป หรือถ้าไม่ ก็ภาวนาให้รัฐบาลใหม่เห็นชอบตามแนวทางนี้