xs
xsm
sm
md
lg

โตโยต้า เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเอเชียผ่านโครงการ CJPT ไทยนำร่องเสนอรถใช้เชื้อเพลิงต่ำประสิทธิภาพสูง สู่CO2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม Carbon Neutral Mobility Event ที่สนามทดสอบรถของโตโยต้า บางนา โดยงานนี้ขนเอาเทคโนโลยีที่เกิดจากความร่วมมือของค่ายรถมาจัดแสดง ให้กับสื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมสัมผัสกับพลังงานทางเลือกที่มีหลากหลายและใช้งานได้จริง

Carbon Neutral Mobility Event เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT ที่จัดตั้งขึ้นภายในความร่วมมือระหว่างค่ายผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) ให้แพร่หลายในวงกว้างเพื่อมุ่งลดปัญหาที่พบในระบบขนส่งตลอดจนบรรลุสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน


ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ “การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีแต่จะใช้ความหลากหลายในเชิงเทคโนโลยีเทคนิคที่ค่ายรถยนต์แต่ละรายถนัดผลักดันและเดินไปสู่ความสำเร็จ

ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เมื่อค่ายรถยนต์ที่เป็นคู่แข่งกันมาจับมือกันได้แก่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ,อีซูซุ มอเตอร์ส ,ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ,ไดอัทสุ มอเตอร์ ร่วมกับ ฮีโน่ มอเตอร์ส ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอชิป เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น (Commercial Japan Partnership Technologies) ภายใต้เงินลงทุน 10 ล้านเยน แบ่งเป็น โตโยต้า 70 % อีซูซุ 10 % ซูซูกิ 10 % ไดฮัทสุ 10 % โดยมี ฮิโรกิ นากาชิมา ดำรงตำแหน่งประธาน กำหนดเป้าหมายในการมุ่งขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงการจัดการด้านพลังงาน (Energy Solution) ทางเลือกด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ รวมไปถึงการบริการจัดการด้านข้อมูล (Data Solution) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน



อย่างไรก็ตามโครงการนี้ CJPI เลือกปักหมุดใช้ไทยเป็นประเทศแรกและเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาคนี้ หลังจากได้ประกาศความร่วมมือกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ C.P.เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พร้อมเป้าหมายการพัฒนาใน 3 ส่วนหลัก

ทางออกด้านพลังงาน (energy solution) ด้วยการผลิตพลังงานไฮโดรเจนโดยใช้ของเสียชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ food loss : คือพลังงาน ด้านชีวมวลนั้น มีการใช้ มูลไก่ จากฟาร์มของ CP ไปทดลองทำการศึกษา โดยนำมูลไก่มาหมักจนได้ก๊าซ จากนั้นอัดเข้าถัง ส่งไปญี่ปุ่นเพื่อแยกเป็นไฮโดรเจนกลับมา โดยเบื้องต้นส่งไป 20 กก. ได้ไฮโดรเจน 2 กก. และได้นำมาทดลองใช้เติมกับรถยนต์ FCEV หรือ fuel cell ได้ไม่มีปัญหา เพื่อการใช้งาน และคาดว่าจะมีการขยายขอบเขตความเข้มข้นเพิ่มขึ้น


ทางออกผ่านการขับเคลื่อนและการเดินทาง (mobility solution) โดยใช้พลังงานทางเลือกที่หลากหลายตามสถานการณ์ของประเทศนั้น ๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ทางออกผ่านการใช้ข้อมูล (data solution) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถทำสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ คือการลด CO2 ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสินค้าด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างโทรคมนาคมชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย

ฮิโรกิ นากาชิมา ประธาน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation เปิดเผยว่า "เรามุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคมด้วยการร่วมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเอเชีย ผ่านการนำเสนอรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงต่ำ และให้ประสิทธิภาพสูง ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาจากผู้ทีเกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ทดลองขับรถยนต์เหล่านี้ และพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมในการประสานความร่วมมือกัน เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป"


สำหรับโครงการ CJPT ที่เริ่มปักหมุดก้าวแรกจากประเทศไทยนั้น มีแผนจะเร่งเดินหน้าขยายการใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอนสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยบูรณาการองค์ความรู้ ความร่วมมือ กับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันเพื่อนำไปสู่การยกระดับชีวิตผู้คนในภูมิภาคเอเชียในท้ายที่สุด

ยานยนต์รุ่นหลักที่จัดแสดงภายในงานและบางรุ่นให้ทดลองขับประกอบด้ย TOYOTA SORA ,HINO FCEV Heavy Duty Truck ,ISUZU & TOYOTA FCEV Light Duty Truck ,TOYOTA Granace FCEV ,TOYOTA HILUX REVO BEV Concept ,TOYOTA LPG-HEV Taxi Concept ,SUZUKI EVERY Small Van ,DAIHATSU HIJET Small Van ,TOYOTA e-Palette ,YAMAHA H2 ROV*(Buggy เรียกว่าเป็นรถยนต์หลากหลายรูปแบบรองรับการใช้งานต่าง ๆ โดยใช้พลังงานทั้ง FCEV, BEV,LPG-HEV ถือเป็นการพัฒนาแบบไร้ข้อจำกัดด้านพลังงานเพื่อไปสู่เป้าหมายการลด CO2 และความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้


ภายในงานมีรถจากค่าย ยามาฮ่า มาร่วมจัดแสดงด้วย แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของ CJPT แต่ได้ร่วมนำยานยนต์ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน สำหรับวัตถุประสงค์ที่แตกต่างมาเข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน ด้วยรถรุ่น ROV - (รถบักกี้ที่ใช้เป็นยานพาหนะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจนอกพื้นที่ถนน)

โดยรถทั้งหมดมีรถคันเดียวที่มีจะมีจำหน่ายในไทยเร็ว ๆ นี้ คือ TOYOTA HILUX REVO BEV ซึ่งรุ่นนี้อยู่ระหว่างการทดสอบขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะออกสู่ตลาด ส่วนรุ่นอื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับแรงเชียร์ของสื่อมวลชน ความพร้อมของผู้บริโภคในประเทศว่ารถยนต์พลังงานทางเลือกแบบไหนจะเหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานในไทย แต่ก็มีรถบางรุ่น TOYOTA SORA, TOYOTA LPG-HEV Taxi Concept หรือ JAPAN TAXI VAN ได้นำออกมาจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว


บนเส้นทางเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ลูกค้าอาจมองหารถที่มีระบบส่งกำลังแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานและการใช้งานของลูกค้าในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค โดยมีตัวเลือกต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการนำเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาคและความสามารถ ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ โครงการ CJPT มุ่งหวังให้งานทดลองสมรรถนะรถยนต์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรให้มากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการเร่งบรรลุเป้าหมายของโครงการ CJPT ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย ฮิโรกิ นากาชิมา กล่าวตบท้าย












































กำลังโหลดความคิดเห็น