ในที่สุดการโหวตเพื่อเห็นชอบในเรื่องการยุติจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ออกสู่อากาศของสหภาพยุโรปที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2035 นั้นก็เริ่มมีปัญหา หลังจากที่เยอรมนีประกาศในวินาทีสุดท้ายของการลงนามที่จะขอคัดค้านร่างกฏหมายนี้ และนำไปสู่การแบ่งแยกของหลายชาติที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ในช่วงก่อนหน้านี้หลายชาติ ซึ่งก็รวมถึงเยอรมนี ต่างเห็นชอบและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่มาโดยตลอด
สำหรับกฎใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามครั้งใหญ่เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสหภาพยุโรป จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่มประเทศเหล่านี้ และถ้าทุกอย่างผ่านพร้อมกับประกาศบังคับใช้ นั่นเท่ากับว่า 2035 จะเป็นปีแห่งการสิ้นสุดของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ทั้งเบนซินและดีเซลในรถยนต์ใหม่ที่ขายอยู่ในกลุ่มประเทศ EU
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมทำให้การตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายนี้ต้องยืดเยื้ออกไป และจำเป็นที่จะต้องใช้เวทีอย่างคณะมนตรียุโรป หรือ European Council ลงนามเพื่อตัดสินใจขั้นเด็ดขาด หลังจากที่ทางสภายุโรป หรือ European Parliament ได้ร่วมกันโหวตร่างกฎหมายนี้จนผ่านกันมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็โดนชาติสมาชิกหลายชาติที่มีเยอรมนีเป็นแกนนำประกาศคัดค้านอย่างเต็มตัว
ปัจจุบัน รถยนต์คือตัวการหลักอันดับต้นๆ ของประเทศยุโรปในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของการปล่อย CO2 ทั้งหมดของชาติสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งตามร่างกฏหมายใหม่นั้นในปี 2035 มีการกำหนดไม่ให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกจากการใช้งานรถยนต์อีกต่อไป หรือเท่ากับว่าเป็นการปิดฉากการใช้งานของเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างเป็นทางการ
เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายต่อลมหายใจเครื่องยนต์ ICE
หลังจากที่สภายุโรปมีมติเห็นชอบในการผ่านการบังคับใช้กฎหมายนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มาได้ยังไม่ทันครบเดือนดี ทางด้านคณะกรรมการยุโรป หรือ European Commission และเยอรมนีก็ประกาศไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ และผลักดันให้มีการขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไปหลังจากปี 2035 ภายใต้รูปแบบการใช้เชื้อเพลิงที่เรียกว่า e-Fuel พร้อมกับการประกาศให้มีการทบทวนเรื่องข้อกำหนดในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์กันใหม่
Frans Timmermans หัวหน้าในส่วนของการดูแลข้อตกลงเรื่องพลังงานสีเชียวของ EC ได้เขียนข้อความบน Twitter ว่า ‘เราได้ทำข้อตกลงร่วมกับเยอมรนีในการค้นหาแนวทางในการนำเชื้อเพลิงที่เรียกว่า e-Fuel มาใช้ในรถยนต์’ เราจำเป็นที่จะต้องทำงานกันอย่างต่อเนื่องในการกำหนดค่ามาตรฐานของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใหม่ในรถยนต์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้’
แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การยืนยันแบบทางเดียว เพราะทาง Volker Wissing รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเยอรมนี ก็ได้เขียนข้อความบน Twitter เพื่อยืนยันว่ารถยนต์ใหม่ในปี 2035 ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในยังสามารถจดทะเบียนใช้งานได้ต่อไป ถ้ารถยนต์เหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายของเยอรมนีไม่ได้ทำเพียงแค่ชาติเดียว แต่เป็นการทำงานร่วมกันกับบรรดาชาติอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ซึ่งต่างยังไม่พร้อมและไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนโฉมหน้าการเดินทางของมนุษยชาติแบบล้างบางจากที่คุ้นเคยกันมานานกว่าร้อยปี โดยชาติที่เห็นไม่เห็นชอบเหล่านี้ประกอบด้วย อิตาลี บัลแกเรีย โปแลนด์ และเช็ก
ขณะที่ฝรั่งเศสกลับไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านของกลุ่มต่อต้าน และมองว่ายิ่งทำให้ล่าช้าก็ยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางลบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งที่สหภาพยุโรปใช้เวลาร่วม 2 ปีในการร่วมกันร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา และเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงมติเห็นชอบโดยชาติสมาชิกเพื่อบังคับใช้กฎหมายนี้เท่านั้นเอง ซึ่งการลงคะแนนเสียงจะต้องมีขึ้นในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็โดนเลื่อนออกไป พร้อมกับการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนของเยอรมนีและกลุ่มชาติพันธมิตรที่ไม่เห็นด้วย
“เราพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ เพราะ [ความล่าช้า] เป็นความผิดพลาดด้านสิ่งแวดล้อม และผมก็คิดว่ามันเป็นความผิดพลาดทางเศรษฐกิจด้วย” Bruno Le Maire รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของฝรั่งเศสกล่าวกับ France Info
ยุโรปพร้อมแล้วหรือสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ?
นี่คือคำถามหลักที่ถูกตั้งขึ้นมาและถูกถามอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะในบรรดาชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปนั้น หลายชาติมีอุตสาหกรรมของการผลิตรถยนต์เป็นเส้นเลือดหลัก เช่น อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และเช็ก โดยอิตาลี ซึ่งมีแบรนด์รถยนต์ทั้ง Fiat Alfa Lancia ไปจนถึงรถสปอร์ตอย่าง Ferrari และ Lamborghini ถือว่าเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่ของพวกเขายังใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นหลัก และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์รวมกันแล้วมากกว่า 270,000 คน
Matteo Salvini รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งของอิตาลี เรียกร่างกฎหมายนี้ว่า ‘การฆ่าตัวตาย’ ทางเศรษฐกิจสำหรับสหภาพยุโรป เพียงเพราะความคิดในเชิงอุดมคติ ที่ดูจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์จีนมากกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหภาพยุโรป ซึ่งทาง Antonio Tajan รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิตาลีก็มีความเห็นสอดคล้องกัน และมองว่าการปรับแนวคิดในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยโฟกัสไปที่การอัพเกรดมาตรฐานการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น แทนที่จะประกาศไม่ให้มีการปลดปล่อยออกมาเลยนั้น จะเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางกลับกันทางด้านเยอรมนี ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรป ก็มองเห็นว่าการเพิ่มทางเลือกที่เหมาะสมช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่งย่อมดีกว่าการเปลี่ยนไปเลยแบบปัจจุบันทันด่วน และมองว่าการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในต่อไปยังเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่จะต้องจัดการในเรื่องของค่ามาตรฐานในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เข้มงวดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับการใช้เชื้อเพลิงที่เรียกว่า e-Fuel
‘การไปสู่โลกที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนออกมาเลยนั้นคือ เป้าหมายปลายทางของเราที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป แต่นั่นหมายความว่า ในช่วงของการเดินทางไปถึงจุดนั้นควรจะต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย และเรายังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่สร้างผลกระทบในวงกว้างกับอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นเลือดหลักของพวกเราด้วย' Mica’el Theurer เลขาธิการด้านการจนส่งของเยอรมนีกล่าว
ในปัจจุบันแม้ว่าสหภาพยุโรปเริ่มให้ความสนใจกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และแบรนด์รถยนต์บางแบรนด์เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมา โดยเฉพาะกลุ่มระดับหรูของเยอรมนี แต่ทว่าในส่วนของรถยนต์สำหรับคนทั่วไปนั้น บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปต่างยังไม่มีเทคโนโลยีหรือตัวเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มธรรมดาออกมาขาย แต่กลับเสียยอดขายและส่วนแบ่งตรงนี้ไปให้กับผู้ผลิตรถยนต์จากจีนและสหรัฐอเมริกาแทน ซึ่งตรงนี้ก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องการสูญเสียผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและอาจจะกลายเป็นการออกกฎหมายเพื่อก่อให้เกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปแทน
แน่นอนว่าการย้ำจุดยืนของเยอรมนีและชาติพันธมิตรที่ไม่เห็นด้วยต่อการขจัดเครื่องยนต์สันดาปภายในออกจากตลาดภายในปี 2035 คือสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับทางออกี่พวกเขาพูดถึงเสมอคือ การทำอย่างไรก็ได้ในการจัดการเกี่ยวกับค่ามาตรฐานของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศให้มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับการนำเชื้อเพลิงที่เรียกว่า e-fuel ออกมาใช้งาน
ตรงนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้ว e-fuel คืออะไร ?
คำอธิบายคือ เชื้อเพลิงที่ผ่านการปรับแต่งด้วยการใช้วัตถุพิเศษซึ่งจะทำหน้าที่ในการจับและสะกัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเผาไหม้เพื่อสร้างสมดุลในระหว่างที่เชื้อเพลิงเหล่านี้ถูกเผา โดย e-fuel ไม่ได้มีแค่น้ำมันเบนซินหรือดีเซลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงก๊าซต่างๆ ที่ถูกใช้งานกับเครื่องยนต์สันดาปภายในอีกด้วย โดยอีกคำหนึ่งที่ถูกนำมาใช้คือ น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ ซึ่งมีความหมายที่คล้ายกัน และเป็นไอเดียของการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน
พูดง่ายๆ คือ เชื้อเพลิงในรูปแบบใหม่ที่จะทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิงแบบที่เร้าคุ้นเคยกันอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันบริษัทรถยนต์หลายต่อหลายรายก็ได้ทุ่มเทและพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อรองรับกับเชื้อเพลิงในลักษณะนี้กันมาโดยตลอดเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงหากยุค BEV ไม่ได้สดสวยเหมือนกับที่วาดฝันกันเอาไว้
อย่างไรก็ตาม e-fuels ยังไม่มีการผลิตในระดับมหาภาค แต่โรงงานเชิงพาณิชย์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิต E-fuels เกิดขึ้นในปี 2021 ที่ชิลีโดยได้รับการสนับสนุนจากปอร์เช่ และมีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 550 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่โรงงานอื่นๆซึ่งมีแผนดำเนินการเช่นเดียวกันได้แก่ Norsk e-Fuel ในนอร์เวย์ ซึ่งจะเริ่มผลิตในปี 2024 โดยมุ่งเน้นที่การผลิตเชื้อเพลิง e-fuel สำหรับการบิน และคาดว่าในเร็วๆ นี้จะสามารถผลิตออกมาเพื่อใช้กับรถยนต์
แน่นอนว่าแม้ว่าการลงมติในครั้งนี้จะยังไม่ได้ความชัดเจนในเรื่องของอนาคตและการเดินหน้าสู่ยุคพลังไฟฟ้าอย่างที่เคยวาดฝันกันเอาไว้ แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วยุคแห่งการเดินทางด้วยพลังงานที่มีความยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดปัญในด้านสิ่งแวดล้อมคือ เป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ เพียงแต่การเปลี่ยนผ่านอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่จะต้องอาศัยเรื่องของเวลาและการทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะความเกี่ยวพันในเชิงอุตสาหกรรมของทุกตัวละครที่อยู่ในนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนและหยั่งรากลึกมาเป็นเวลายาวนาน
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วในฐานะของกลุ่มประเทศที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกในเรื่องของการใช้มุ่งหน้าสู่ยุคที่เป็นกลางทางคาร์บอนของสหภาพยุโรป เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป ?