xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี โฟตอน” วางเป้าระยะยาวขึ้นเบอร์ 3 รุกตลาดอีวี ทุ่ม1,000 ล้านตั้งโรงงานผลิตส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกฤษณะ เศรษฐธรางกูร
ซีพี โฟตอน เผยแผนระยะยาวหวังครองอันดับ 3 ในตลาดรถบรรทุก ปีนี้เตรียมเปิดตัวรถอีวีเพิ่มอีก 2 รุ่น พร้อมทุ่ม 1,000 ล้านบาทผุดโรงงานผลิตในไทยปี 2567 รองรับตลาดในประเทศและส่งออก โดยมีกำลังการผลิต 3,000 คัน พร้อมเป้าปีนี้ 1,000 คัน

บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถบรรทุกและรถบัส แบรนด์ “CP FOTON” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นกลุ่มธุรกิจร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีกับโฟตอน ผู้นำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ของจีน โดยเริ่มทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

นายกฤษณะ เศรษฐธรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด เผยว่าภาพรวมตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดสะดุดลงไปแต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉลี่ยตลาดรถเพื่อการพาณิชย์จะเติบโตปีละประมาณ 3-5 % แต่ปีนี้คาดว่าจะโต 8 % เนื่องจากเศรษฐกิจและกิจกรรมของภาคธุรกิจหลาย ๆ สาขากลับมาคึกคัดทำให้ความต้องการรถเพิ่มขึ้นด้วย

ทีมผู้บริหาร ซีพี โฟตอน
สำหรับตัวเลขยอดขายรวมก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปี 2562 มียอดขาย 26,319 คัน ปี 2563 ปิดตัวเลขที่ 27,346 คัน ปี 2564 มียอดขาย 27,830 คันและปีล่าสุด 2565 มียอดรวม 30,064 คัน

นายกฤษณะ เผยต่อว่า เราวางแผนธุรกิจของ ซีพี โฟตอนไว้ 3 สเตจ โดยสเตจแรกปี 2562-2565 เป็นการวางรากฐาน สเตจที่ 2 ปี 2566-2568 เป็นการยกระดับธุรกิจรวมถึงการผลิตรถในประเทศและสเตจที่ 3 ตั้งแต่ปี 2569 มีเป้าหมายคือการเป็นตัวเลือกของลูกค้า สำหรับสเตจแรก เราเพิ่งทำธุรกิจ ประมาณปี 2562 ผู้บริโภคไม่รู้จักแบรนด์ ไม่ยอมรับสินค้าจากจีน มียอดขายแค่หลักหน่วย แต่หลังจากนั้นอีก 3 ปี ยอดขายเพิ่มเป็น 445 คัน มีส่วนแบ่งในตลาดรวม 1.5 % แต่หากเทียบเฉพาะกลุ่มล่างไม่รวมรายใหญ่อย่าง ฮีโน่ และอีซูซุ ที่ส่วนแบ่งการตลาดรวมกันกว่า 90% ซีพี โฟตอน มีส่วนแบ่ง 17 % ตามหลัง ยูดี ทรัคส์ ที่มีส่วนแบ่ง 37 %



ปีนี้ถือเป็นสเตจที่สอง ซึ่งจะได้รับผลดีจากสเตจแรกที่ลูกค้าให้การยอมรับมากขึ้นบวกกับเรามีสินค้ามานำเสนอให้หลากหลาย ทำให้การทำตลาดง่ายขึ้น ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 % เป็น 1,000 คัน และหลังจากนั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งเป้าหมายการครองตลาดรถเพื่อการพาณิชย์อันดับ 3 ในตลาดไทย


ดังนั้นในปีนี้บริษัทเตรียมแผนการตลาดอย่างหนักหน่วงหลังจากได้รับการยอมรับจากลูกค้าในปีที่ผ่านมา โดยแผนเชิงรุกที่เตรียมไว้มีทั้งสินค้าตัวใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงรถไฟฟ้าด้วย และเร่งเติมเต็มงานบริการหลังการขายและการพัฒนาเครือข่ายให้แข็งแกร่งเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้รถทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันเรามีผู้แทนจำหน่ายที่มีศูนย์บริการซ่อมบำรุงครบวงจรพร้อมให้บริการทั้งหมด 23 แห่งและศูนย์บริการสาขาย่อยเพื่อสนับสนุนการให้บริการแก่ลูกค้าอีก 5 แห่ง โดยยึดหลักว่าในทุกระยะ 200 กม.


สำหรับรถไฟฟ้าบริษัทเริ่มแนะนำรถบรรทุกไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดในปี 2565 และเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าภายในปีนี้ นอกจากนี้เตรียมจะนำเข้าเพิ่มเติมอีก 2 รุ่น ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าทำตลาดตั้งแต่รถบรรทุก 4 ล้อขนาดเล็กไปจนถึงรถหัวลาก เช่น ทีเอ็ม ไอบลู 4 ล้อ ขนาดเล็ก ราคา 8.99 แสนบาท รถบรรทุก 6 ล้อ 6 ตัน ออมาร์ค ไอบลู ราคา 1.49 ล้านบาท และอีเอสที ไอบลู 280 รถหัวลาก 50 ตัน ราคา 5.9 ล้านบาท

ที่สำคัญรถหัวลากมาพร้อมกับเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทำให้ไม่เสียเวลาชาร์จ เพราะสามารถยกแบตเตอรี่ที่กำลังไฟเหลือน้อยออกและใส่แบตเตอรี่ชุดใหม่เข้าไปแทนในเวลาไม่กี่นาที และเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้บริษัทฯมีทางเลือกในการทำตลาดทั้งการจำหน่ายเฉพาะตัวรถ ส่วนแบตเตอรี่เป็นการเช่าลูกค้าสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้อีก ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดให้บริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯหรือปริมณฑล ส่วนการขยายสถานีในอนาคตจะศึกษาร่วมกับลูกค้าต่อไป ส่วนสถานีชาร์จจะติดตั้งสถานีชาร์จเร็ว (DC)ที่เครือข่ายตัวแทนจำหน่ายทุกแห่งสำหรับให้บริการลูกค้า


สำหรับรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ปีนี้มีแผนเปิดตัวอย่างน้อย 2 รุ่น เป็นรถผสมปูน (Mixer)ทั้ง 2 รุ่น ขนาด 3 คิว และ 6 คิว รองรับความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน เหนืออื่นใดบริษัทตั้งเป้ายอดขายรถบรรทุกรวมทั้งหมด 1,000 คัน เป็นรถไฟฟ้า 300 คัน


นอกจากนี้ ซีพี โฟตอน มีแผนจะเปิดโรงงานประกอบรถบรรทุกในไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.000 ล้านบาท เพื่อรองรับการทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ที่ใช้รถพวงมาลัยขวาเช่นเดียวกับไทยประมาณ 30 % ของกำลังการผลิตที่เบื้องต้นกำหนดไว้ 3.000 คันต่อปี


โดยโรงงานดังกล่าวพร้อมเดินสายการผลิตตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 นี้ก่อนที่จะเริ่มต้นผลิตอย่างเป็นทางการในปี 2567 ต่อไป ทั้งนี้การลงทุนโรงงานดังกล่าวจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างซีพีและโฟตอน ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน


อย่างไรก็ตาม แผนรุกตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซีพี โฟตอน มุ่งเน้นการตอกย้ำแบรนด์ DNA คือ “The Future of Truck” ให้มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ด้วยความพร้อมจากปัจจัยเชิงบวกรอบด้าน อาทิ การเปิดประเทศเต็มรูปแบบของจีน, ความตื่นตัวของผู้ประกอบการที่สนใจการทำตลาดแบบกรีนโลจิสติกส์โดยใช้รถอีวี หรือการมีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมเปิดใจยอมรับในสินค้าแบรนด์จีน ซึ่งจริง ๆ แล้วมีตลาดการผลิตและส่งออกที่ใหญ่มากครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย-ยุโรป-อเมริกา อันเป็นตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ใหญ่ที่สุดของโลก


โดยที่ผ่านมา ซีพี โฟตอน ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการขนส่งและก่อสร้างในไทย เกิดการบอกต่อในกลุ่มผู้ใช้รถ และขยายฐานสู่ความเชื่อมั่นในงานประมูลงานของภาครัฐมากขึ้นตามลำดับ ด้วยการ มีฟีจเจอร์การใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้ขับขี่ มีแนวคิดมุ่งมั่นที่จะนำเสนอนวัตกรรมยานยนต์ที่สามารถรองรับอัตรา ผันผวนของต้นทุนธุรกิจ เช่น ค่าพลังงานและซ่อมบำรุง ได้อย่างยั่งยืน โดยเรามีทีมกลยุทธพิเศษ หรือ Project Management ซึ่งเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้านหลัก คือ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Product Development) การบริหารงานพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย (Network Development) และการบริหารงานและพัฒนางานบริการหลังการขาย (Service Operation Dealer Development) เข้ามาสนับสนุนให้นโยบายหลักบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกันนี้เรายังได้รับความร่วมมืออันดียิ่งจากตัวแทนผู้จำหน่ายทั่วประเทศ เร่งสร้างภาพลักษณ์ พัฒนาโชว์รูมให้เป็นแลนด์มาร์คในพื้นที่ที่กลุ่มลูกค้าสามารถเข้าถึงง่าย ตลอดจนมีการจัดอบรมพัฒนามาตรฐานฝ่ายขายและซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นด่านหน้าในการให้คำแนะนำการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ซีพี โฟตอน ได้อย่างเป็นมืออาชีพสูงสุด






กำลังโหลดความคิดเห็น