xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมองบิ๊กบอส “อีซูซุ” ยันเก๋ง EV ไม่กระทบกระบะ ห่วงภาวะเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายใหญ่ ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ และ ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ และ ปนัดดา เจณณวาสิน ประธานที่ปรึกษา บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
แม้จะเป็นค่ายรถเดียวในไทยที่ไม่มีรถเก๋งจำหน่าย แต่ยอดขายกระบะเพียงอย่างเดียวสามารถทำตัวเลขได้มากกว่าค่ายรถที่มีทั้งรถยนต์นั่งและรถเชิงพาณิชย์ ล่าสุดยอดขาย 11 เดือนของปีที่ผ่านมาสูงถึง 194,275 คัน ครองอันดับสองในตลาดรถยนต์เมืองไทย ค่ายรถที่ว่า คือ “อีซูซุ” และช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางผู้บริหารเปิดให้สัมภาษณ์ ถึงมุมมอง ทิศทาง อุปสรรค และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะไปในทิศทางใด ?

สำหรับผู้บริหารประกอบไปด้วย นายใหญ่ ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ และ ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ และ ปนัดดา เจณณวาสิน ประธานที่ปรึกษา บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด


สรุปยอดขายปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดรถปี 2565 อีซูซุคาดการณ์ว่า ยอดขายของรถทุกประเภทจะอยู่ที่ 860,000 คัน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยจำนวนนี้เป็นปิกอัพ 400,000 คัน เพิ่มขึ้น 17% ซึ่งเติบโตมากกว่าตลาดรถยนต์โดยรวม ส่วนรถอีซูซุคาดว่าจะขายได้ 216,500 คัน หรือเติบโตขึ้น 17.6% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 21% อย่างไรก็ตามตลาดรถยนต์เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่เดือน 10 เป็นต้นมา

สัญญาณชะลอตัวที่เกิดขึ้นในด้านมหภาค เกิดจากผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน และภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม และปีที่ผ่านมาช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยในหลายภูมิภาคยังประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้เกิดการชะลอตัวในการตัดสินใจซื้อรถใหม่


นอกจากนี้ช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ผลิตรถทุกแบรนด์ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้การ supply เซมิคอนดักเตอร์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ผลกระทบก็ยังไม่หมดไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละค่ายสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์กับผู้ผลิตรายใด ซึ่งคาดว่าผลกระทบจะยังต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้าด้วย และยังมีความเสี่ยงเรื่อง Zero Covid ในประเทศจีนที่ส่งผลกระทบเรื่องการปิดโรงงานในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาด ทำให้โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ได้รับผลกระทบไปด้วย และยังความเสี่ยงเรื่องการปิดโรงงานชิ้นส่วนที่มีแหล่งผลิตมาจากประเทศจีนด้วย


ปัจจัยบวก-ลบ ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์


สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่สถานการณ์เงินเฟ้อน่าจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีนี้ อีกทั้งราคาพืชผลการเกษตรในปีนี้ถือว่าดีพอสมควร ดังนั้นสถานการณ์ยอดขายจึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงปีหน้า แต่อีซูซุรู้สึกว่าแนวโน้มน่าจะดีขึ้น หากแต่สิ่งที่อีซูซุกังวลมากที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน

ปกติถ้ามีการเลือกตั้งใหม่จะก่อให้เกิดผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม แต่ประธานมีความกังวลเรื่องสมดุลระหว่างปัจจัยบวกกับลบ ข่าวดีกับข่าวร้ายที่มีผลกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวหลักสำคัญในการพิจารณาว่าตลาดรถยนต์จะเป็นอย่างไร



อีซูซุ จะมีรถ อีวี เปิดตัวในไทย


อีซูซุ มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่ถ้าถามว่า ตลาดหลักของเราในไทย คือ รถปิกอัพและรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้นจะได้รับผลกระทบจากรถไฟฟ้าที่ค่ายอื่น ๆ แนะนำมาหรือไม่ คงต้องตอบว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะสถานการณ์ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะรถ EV ที่เป็นกระแสในประเทศไทยจะส่งผลกระทบกับรถยนต์นั่งเป็นหลัก มีการพัฒนา Charging Station เพื่อตอบสนองการใช้รถยนต์นั่งอยู่แล้ว

สำหรับอีซูซุเราเน้นรถปิกอัพและรถเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก ดังนั้นต้องรอการพัฒนาของแบตเตอรี่มากกว่านี้ สำหรับเรื่องรถปิกอัพไฟฟ้าของอีซูซุอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ยังไม่มีกำหนดในการออกสู่ตลาดที่แน่นอน แต่ในรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่มีแผนที่แน่นอนแล้วว่าจะแนะนำ EV TRUCK ในปีหน้าที่ประเทศญี่ปุ่น



ปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลนมีผลต่อการส่งออก


อีซูซุมีรถไม่เพียงพอต่อการส่งออกแต่ละประเทศ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบันตลาดส่งออกอันดับ 1 ของอีซูซุ คือ ออสเตรเลีย 2.ตะวันออกกลาง 3.ยุโรป และอาเซียน
ด้วยปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ไม่เพียงพอทำให้การส่งมอบรถอีซูซุในประเทศไทยมียอดค้างสะสม ยิ่งเรามีอุปกรณ์ Innovation ใส่เข้าไปเยอะ ก็ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก ทำให้รถรุ่น Top ของเรามีไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งยอดค้างคงต้องรอถึงปีหน้าแต่ไม่ถึง 6 เดือน แต่ยังให้คำตอบเรื่องเวลาแน่นอนไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าปัญหา supply เซมิคอนดักเตอร์จะคลี่คลายไปเมื่อไหร่ ถ้าได้เร็วก็ไม่ต้องคอยนาน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าภาคการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ คือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ถ้าต่อให้ส่งออกชะลอตัว แต่ถ้ามีข่าวด้านบวก เช่น การท่องเที่ยวฟื้นตัว จะทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่ถ้ามีข่าวเชิงลบบ่อย ๆ เช่น หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ ทำให้การตัดสินใจซื้อรถล่าช้าไปเรื่อย ๆ ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในช่วงที่ปรับขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าราคาน้ำมันปรับตัวลงเมื่อไหร่ อัตราเงินเฟ้อก็จะชะลอตัวลงด้วย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็จะดีขึ้นตามลำดับ



ต้นทุนเพิ่มปรับราคาไหม


นอกจากนี้ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยอีซูซุจะพยายามปรับราคาให้ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าจำเป็นก็จะปรับราคาเป็นระยะ ที่ผ่านมาต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น ทางอีซูซุยังตอบเป็น % ไม่ได้ แต่ราคาสินค้าต่าง ๆ ถีบตัวสูงขึ้น สิ่งที่อีซูซุทำอยู่คือ ทนให้ได้นานที่สุดเพื่อ ไม่ให้ลูกค้าต้องรับภาระการปรับราคา หรือถ้าปรับก็จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าเทียบกับราคาก่อนหน้านี้ เซมิคอนดักเตอร์ราคาสูงขึ้นมาก รวมทั้งราคาชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ก็เพิ่มขึ้นด้วย ตอนที่เราแนะนำรถรุ่นใหม่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม เรามีการปรับราคาบางส่วน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอีซูซุเจ้าเดียวเท่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นก็ประสบปัญหาต้นทุนสินค้าเหมือนกัน และไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ทุก ๆ อุตสาหกรรมก็ประสบปัญหาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยหลัก คือ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น


ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้ที่กำหนดการผ่อนชำระ คือ บริษัทไฟแนนซ์ต่าง ๆ เป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า บริษัทไฟแนนซ์ก็ประสบปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน ดังนั้นก็ต้องทยอยปรับราคาดอกเบี้ยเช่าซื้อในไม่ช้านี้ สิ่งที่อยากแนะนำกับลูกค้าผู้ใช้รถ คือ อยากให้รีบตัดสินใจซื้อรถไม่เช่นนั้นนอกจากราคารถจะเพิ่มขึ้นแล้วแล้ว อาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเช่าซื้อในอัตราสูงขึ้นด้วย



ยอดขาย 10 เดือนแรกของตลาดรถยนต์ปีนี้รวมทุกประเภทอยู่ที่ 698,508 คัน เป็นปิกอัพ 323,625 คัน เป็นรถพีพีวี 51,642 คัน และรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 27,228 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขาย 10 เดือนของปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 16.8% โดยอีซูซุมียอดขายรวมทุกประเภท 177,714 คัน เป็นรถปิกอัพ อีซูซุดีแมคซ์ 148,784 คัน มีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มรถปิกอัพไทย 46% ซึ่งเป็นส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเท่าที่อีซูซุดีแมคซ์ทำได้ ส่วนรถมิว-เอ็กซ์ มียอดขาย 15,141 คัน รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 13,789 คัน เทียบกับยอดขาย 10 เดือนของปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 20.9% อันนี้เป็นตัวเลขในเชิงปริมาณ

ขณะที่ยอดขาย 11 เดือนที่ผ่านมา อีซูซุมียอดขายรวมรถทุกประเภท 194,275 คัน แบ่งเป็น รถกระบะ 161,556 คัน รถพีพีวี 17,751 คัน ที่เหลือเป็นรถบรรทุก รถหัวลาก 14,968 คัน



กำลังโหลดความคิดเห็น