xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ Startup จับมือพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกใหม่หนีการผูกขาดวัตถุดิบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV (Battery Electric Vehicle) ยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนให้โลกการเดินทางของมนุษยชาติสามารถมุ่งหน้าไปสู่รถยนต์ประเภทนี้ตามที่หวังเอาไว้ แต่ทว่าสภาพที่มีความต้องการแบบทะลักทลายในช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคนี้ บวกกับการที่วัตถุดิบหรือทรัพยากรสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ถูกผูกขาดโดยไม่กี่บริษัท โดยเฉพาะจากจีน ทำให้เกิดปัญหาราคาวัตถุดิบพุ่งทะยาน ซึ่งจะมีผลโดยตรงในการทำให้ไม่สามารถกดราคาของรถยนต์พลังไฟฟ้าให้อยู่ในช่วงราคาที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ตอนนี้ หลายต่อหลายส่วนจึงพยายามอย่างมากในการที่จะลดปัญหาเรื่องของการผูกขาดวัตถุดิบที่เกิดขึ้นด้วยการมองหาทางออกใหม่ๆ ในการพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อการใช้งานในรถยนต์พลังไฟฟ้าขึ้นมาด้วยเป้าหมายคือ ทำให้ราคาแบตเตอรี่ถูกลงจากที่เป็นอยู่

ต้นทุนหลักของรถยนต์พลังไฟฟ้าคือ แบตเตอรี่

Reuter รายงานว่าในปีนี้ตลาดทั่วโลกยังมีความต้องการด้านของรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต้นทุนเฉลี่ยของเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 160 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงในไตรมาสแรกของปีนี้จากเดิมที่มีราคาอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การคว่ำบาตรโลหะที่มาจากรัสเซีย และการเก็งกำไรของนักลงทุน

แม้ว่าต้นทุนปี 2022 จะเพิ่มขึ้นแต่ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงแรกเริ่มของรถยนต์พลังไฟฟ้าในปี 1999 แล้วราคาของแบตเตอรี่จะอยู่ที่ 9,900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเซลล์เลยทีเดียว

สิ่งที่แสดงให้ถึงต้นทุนที่สูงของแบตเตอรี่ที่มีผลต่อราคาของตัวรถ คือ ต้นทุนที่อยู่ในระดับ 30% ของราคาป้าย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์พลังไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดของโลกอย่าง Hongguang Mini ตัวรถยนต์มีราคาขายอยู่ที่ 4,500 เหรียญสหรัฐฯ แต่ต้นทุนของแบตเตอรี่สูงถึง 1,500 เหรียญสหรัฐฯ แน่นอนว่าอัตราส่วนของราคาแบตเตอรี่ต่อราคาป้ายนั้นแปรผันไปตามขนาดของตัวรถยนต์ด้วย เพราะยิ่งรถยนต์ใหญ่ แบตเตอรี่ก็ต้องใหญ่ขึ้น และมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย


จากรายงานของ Benchmark Mineral Inelligence ที่ปรึกษาซึ่งมีออฟฟิศอยู่ในอังกฤษ รายงานว่า 75% ของการสกัดแร่โคบอลท์ และอีก 59% สำหรับแร่ลิเธียมนั้นถูกยึดครองโดยบริษัทของจีน แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการที่ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอื่นที่จะต้องเจอกับปัญหาในเรื่องการพึ่งพิงแหล่งทรัพยากรเดียวที่ถือครองโดยชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงทั้งในเรื่องของราคาที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่นเดียวกับเรื่องการส่งมอบที่อาจจะไม่ทันเวลา

‘เรายังต้องพึ่งพิงวัตถุดิบที่มาจากบริษัทจีน’ James Quinn บริษัท Faradation ซึ่งเป็น Startup ที่วางแผนในการผลิตแบตเตอรี่แบบโซเดียม-ไอออน ‘ซึ่งเท่าที่มองเห็น สภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เราได้พบว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะต้องเจอกับปัญหาในด้านความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจและความมั่นของชาติด้วย’

ความหวังในการทลายกำแพงในด้านการผูกขาด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน รถยนต์พลังไฟฟ้าส่วนใหญ่อาศัยแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วยลิเธียม โคบอลต์ แมงกานีส และนิเกลแบบ Hi-Grade ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบเหล่านี้มีราคาที่สูงมากตามความต้องการของตลาด และที่สำคัญคือแหล่งผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ถูกยึดครองโดยบริษัทจากจีน ซึ่งตรงนี้ส่งผลให้บริษัทรถยนต์ในยุโรปต่างเจอปัญหาในเรื่องของการผลิตรถยนต์เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการและการที่ไม่สามารถตั้งราคารถยนต์พลังไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับรถยนต์แบบเดียวกันจากจีน

ทางออกที่ถูกมองเอาไว้คือ ถ้าอยากผลักดันให้รถยนต์พลังไฟฟ้าสามารถเดินหน้าต่อไปได้และกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการเดินทางของคนยุคใหม่ภายในปี 2025 ตามที่คาดหมายเอาไว้จึงจำเป็นจะต้องขจัดปัญหาในเรื่องคอขวดอันเป็นผลมาจากการผูกขาดวัตถุดิบ และในตอนนี้มีข่าวว่าบรรดา Startup ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างที่จะพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทใหม่ขึ้นมาด้วยการใช้วัสดุที่เหลือใช้ รวมถึงวัสดุที่มีราคาถูกอย่างโซเดียม และซัลเฟอร์ ด้วยเป้าหมายในการลดการพึ่งพาแบตเตอรี่จากจีนซึ่งในตอนนี้เรียกว่าแทบจะผูกขาดการครองวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องคอขวดในการนำมาผลิตเพื่อป้อนต่อให้กับตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า



ว่ากันว่าในปี 2025 เราอาจจะได้เห็นรถยนต์ที่มีแหล่งเก็บไฟฟ้าที่มาจากแบตเตอรี่แบบลิเธียม ซัลเฟอร์ ซึ่งมีราคาเพียงแค่ 2/3 ของลิเธียม ไอออน ซึ่งในตอนนี้บรรดาบริษัทสตาร์ทอัพในเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกากำลังมุ่งพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่เพื่อหวังเป็นทางเลือกใหม่ที่จะดึงบริษัทรถยนต์ให้หันมาใช้งาน แต่ทว่าพวกเขาก็ยังมีปัญหาที่ค่อนข้างหนักในการก้าวข้ามไปให้ได้

แบตเตอรี่แบบลิเธียม ซัลเฟอร์เป็นไอเดียที่ดูดีในด้านแนวคิดแต่ยังมีกำแพงที่ค่อนข้างสูงในการทลายลง ขณะที่แบตเตอรี่แบบโซเดียม-ไอออนก็เป็นอีกความหวังในการก้าวเข้ามาเป็นอีกทางเลือก แต่ตอนนี้สิ่งที่เจอคือ ปัญหาทางเทคนิค โดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บกระแสไฟฟ้าที่ทำไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่แบตเตอรี่ที่ผลิตจากเซลล์ซัลเฟอร์ จะมีราคาที่ถูกมาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายเงินเปลี่ยนใหม่เร็วขึ้น เพราะค่าความเสื่อมของตัวแบตเตอรี่มีอัตราเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว จนยากที่จะนำมาใช้งานได้ในปัจจุบัน

แน่นอนว่าบรรดา Startup เหล่านี้ต่างได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ยอมลงทุนทุ่มเงินเพื่อเดิมพันกับการหาทางออกในด้านการผูกขาด อย่างบริษัทของ James Quinn ก็ได้รับเงินกู้จากรัฐบาลอังกฤษจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนหนึ่งของการระดมทุน และเพิ่งถูกขายกิจการไปให้กับบริษัท Reliance จากอินเดียในวงเงิน 117 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ตอนนี้บรรดา Startup ด้านแบตเตอรี่กล่าวว่าพวกเขากำลังพูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งบางรายกำลังทดสอบแบตเตอรี่ใหม่ที่อาจใช้บนท้องถนนในตลาด EV ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ โดยบริษัทรถยนต์ต่างกระตือรือร้นที่จะให้ทางเลือกในด้านแบตเตอรี่ของพวกเขาเปิดอยู่


‘ในอนาคตเราคงได้เห็นแบตเตอรี่แบบใหม่ๆ ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ และคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ที่เราจะปฏิเสธทางเลือกใหม่ๆ เหล่านี้โดยที่ยังไม่มีโอกาสได้ทดลองกับมันก่อน’ Linda Zhang หัวหน้าวิศวกรของโครงการพัฒนา F-150 ไฟฟ้า กล่าว


บรรดานักพัฒนาแบตเตอรี่หวังว่าจะสามารถเพิ่มแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออนและลิเธียมซัลเฟอร์ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ซึ่ง Duncan Williams กรรมการผู้จัดการของที่ปรึกษา Nomura Greentech กล่าวว่าการค้นพบล่าสุดกำลังปิดช่องว่างในประเด็นต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของพลังงานและอายุการใช้งานของวัฏจักร "ดังนั้น เราคาดว่าจะเห็นทางเลือกทั้งสองนี้แย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคต ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ดีอย่างแน่นอน"

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของบรรดา Startup เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์ของบริษัทในจีนและเกาหลีก็มองออกเช่นกันในการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยทาง CALT ของจีนก็วางแผนผลิตแบตเตอรี่โซเดียม-ไอออนให้ได้ภายในปี 2023 และ LG ของเกาหลีใต้ก็วางแผนผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธียม ซัลเฟอร์ภายในปี 2025

นั่นเท่ากับว่าต้องมาดูกันว่า ความพยายามครั้งนี้จะเป็นผลอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าทำได้ แน่นอนว่าย่อมเกิดประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น