พิพิธภัณฑ์ “ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต มิวเซียม” (Fuji Motorsports Museum) เป็นสถานที่รวบรวมเอาประวัติศาสตร์แห่งวงการมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกยาวนานกว่า 130 ปีมาไว้ที่นี้ที่เดียว เริ่มเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่สำคัญ “ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต มิวเซียม” ตั้งอยู่ในโรงแรมที่คนรักรถจะฟินสุดสุด คือ Fuji Speedway Hotel โดยไฮไลน์อยู่ที่วิวของห้องนอนด้านหนึ่งเป็น “สนามแข่ง Fuji Speedway” วิวอีกด้านเป็น “ภูเขาไฟฟูจิ” ผู้อ่านท่านใสสนใจจะเข้าพักก็เลือกได้ตามใจชอบเลย ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์และโรงแรมแห่งแรกแห่งเดียวอยู่ติดกับสนามแข่ง “ฟูจิ อินเตอร์เนชันแนล สปีดเวย์”
แน่นอนทริปการเรียนรู้เทคโนโลยี “ไฮโดรเจน” ที่โตโยต้าเชิญสื่อไทยไปญี่ปุ่น ทุกคนได้มีโอกาสมาพักที่โรงแรม Fuji Speedway Hotel หนึ่งคืนและเยี่ยมชม “ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต มิวเซียม” ด้วย โดยเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้มาเยือนและสัมผัส ถือว่าพวกเราโชคดีมาก เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นเขาเพิ่งเปิดดำเนินการ
พิพิธภัณฑ์ ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต มิวเซียม เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์แห่งวงการรถสปอร์ตจากทั่วโลกยาวนานกว่า 130 ปี แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการแห่งมอเตอร์สปอร์ตอันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์มาโดยตลอด การมาเที่ยวชมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของรถแต่ละคันซึ่งมีมากมายกว่า 40 คัน ผู้เขียนก็จำได้ไม่หมด แต่เก็บภาพรถในมิวเซียมมาให้ชมกันแบบจุใจ
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ประกอบด้วย “จุดเริ่มต้นแห่งวงการมอเตอร์สปอร์ต” อันเป็นผลจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ในยุคนั้น ต่างก็ต้องการแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนารถยนต์ของตนเองเพื่อให้กลายเป็นที่ยอมรับในตลาด
โซนต่อมาเป็น “เทคโนโลยีมอเตอร์สปอร์ตที่มีส่วนขับเคลื่อนรถยนต์แห่งอนาคต” โดยโซนนี้จะแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีของรถแข่งที่ถูกนำมาใช้กับรถยนต์ที่ผลิตเพื่อวางจำหน่ายจริง ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกมากมาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมมอเตอร์สปอร์ตในญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
โซนสุดท้ายเป็น “พลังงานใหม่แห่งยานยนต์และมอเตอร์สปอร์ต” แสดงถึงเทคโนโลยีพลังงานขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ๆ เช่น พลังงานไฟฟ้า, พลังงานไฮโดรเจน, พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ฯลฯ เพื่อบรรลุการเป็นสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในวงการมอเตอร์สปอร์ต จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าพลังงานรูปแบบใดที่มีความเหมาะสมกับอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุดในอนาคต
สำหรับจุดเด่นของมิวเซียม เจ้าหน้าที่ผู้ดูแล บอกกว่า “ไม่มีพิพิธภัณฑ์ไหนในโลกที่มีรถแข่งมาโชว์ได้มากมายขนาดนี้ พูดๆ ง่าย ๆ คือถ้าต้องการเห็นรถแข่งทั่วทุกมุมโลกทุกท่านต้องไปตามมิวเซียมหลายแห่ง แต่ถ้าคุณมาที่นี้จะเห็นหมดเลยเรารวบรวมเอาไว้แล้วเพราะผู้ผลิตรถยนต์จากทั่วโลกนำรถแบรนด์ของตัวเองมาวางโชว์ที่นี้
เจ้าหน้าที่คนเดิมเล่าต่อว่า การแข่งรถครั้งแรกในโลกเริ่มต้นเมื่อปี 1895 ณ กรุงปารีส มีโปสเตอร์เป็นรูปผู้หญิงใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการแข่งรถ ซึ่งจัดแข่งที่ กรุงปารีส ส่วนรถคันสีแดงนี้เป็นรถที่ชนะเลิศในการแข่งขันช่วงแรกมาตั้งให้ชมกัน
พร้อมเสริมว่า รถแข่งทุกคันจะมีพวงมาลัยอยู่ตรงกลาง เขามองว่ารถแข่งมีคนขับแค่คนเดียวเพราะฉะนั้นการที่จะคอนโทรลให้ได้เห็นด้านซ้ายและขวาทั่วไปหมด ต้องนั่งตรงกลางเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นสนามแข่งแรลลี่ คาร์ ซึ่งเป็นรถจำหน่ายทั่วไปก็จะมีพวงมาลัยขวา ซ้าย ตามแต่ละประเทศ ส่วนเครื่องยนต์จะติดตั้งไว้ข้างหน้าเพื่อที่จะทำให้เกิดการระบายความร้อนได้ดี
หลังจากนั้น 10 ปีการแข่งขันก็ขยับมาเป็นการแข่งขันรอบโลกรถคันแรกที่ชนะคือ Thomas Flyer ยุคนั้นความทนทานของรถยังเป็นปัญหาอยู่มาก การแข่งขันทางไกลข้ามทวีปครั้งแรกของโลกจากกรุงปักกิ่งไปยังปารีส และเมืองข้างเคียง อีก 10 ปีต่อมารถยนต์มีวิวัฒนาการสามารถขับไปทั่วโลกได้ และรถคันนี้ก็สามารถวิ่งทดสอบความทนทานด้วยการวิ่งรอบโลกได้ 1 รอบ เลยทำให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องความทนทาน การวิ่งรอบโลกในสมัยนั้นคือ เริ่มจากกรุงนิวยอร์กไปยังปารีส ใช้เส้นทางจากกรุงนิวยอร์กข้ามทวีปอเมริกาเหนือไปทางฝั่งตะวันตกแล้วขนส่งรถแข่งลงเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิคไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้วเข้าสู่รัสเซียจนกระทั่งไปสิ้นสุดการแข่งขันที่กรุงปารีส
ตั้งแต่รุ่นแรกที่มีการแข่งรถจะมีเครื่อง 3000 ซีซี 19 ลิตร เครื่องยนต์บล็อกใหญ่มาก แต่มีแรงม้าแค่ 80 แรงม้า ด้วยเทคโนโลยีในยุคนั้น ถ้าอยากได้แรงม้ามาก ๆ ก็ต้องสร้างเครื่องยนต์ให้ใหญ่ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันสามารถใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กก็มีแรงม้า 80 แล้ว แต่นั้นคือความพยายามทำเครื่องยนต์ในยุคนั้น ถ้าเครื่องใหญ่แรงม้าก็เพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้นรถแข่งก็มีวิวัฒนาการตามลำดับจนมามีขนาดเครื่องยนต์เล็กลงแต่มีแรงม้าที่มากกว่า รถคันสีเขียว เป็นรถของอังกฤษ เป็นรถที่ค่อนข้างมีราคาแพงมากและประสบความสำเร็จในช่วงแรก สามารถครองแชมป์โลกในยุคนั้น เจ้าหน้าที่เสริมให้ฟังว่ารถแข่งจะมีเบรกเฉพาะล้อหลัง เพราะมันเริ่มจากรถม้า รถม้าที่ใช้วิ่งในสมัยนั้นจะมีเบรกอยู่ล้อหลัง เวลาทำรถเบรกก็เลยอยู่ล้อหลังตามไปด้วย พอมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์เพื่อความปลอดภัยก็เลยคิดว่ามันควรจะมีเบรกทั้งล้อหน้าและหลัง และนั่นคือ วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นกับรถยนต์
สำหรับสีรถ ในยุคที่มีการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ก็เหมือนการแข่งขันระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นแต่ละประเทศก็จะมีสีเป็นของตัวเอง สีเขียวเป็นของอังกฤษ สีฟ้าเป็นของฝรั่งเศส สีแดงเป็นของอิตาลี สีเงินของเยอรมนี แต่ละประเทศจะเอาสีประเทศของตัวเองมาเป็นสีรถแข่งและยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในการทาสีรถแข่ง
รถคันสีฟ้าของฝรั่งเศส ได้วิศวกรที่มีความรู้ ความสามารถมาออกแบบรถยนต์ให้มีเครื่องยนต์กะทัดรัดเพื่อให้แข่งขันได้ และมีการออกแบบล้อเป็นอลูมิเนียมจะขับได้เร็ว มันก็เลยเป็นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาและมีการนำวิวัฒนาการของเครื่องบินมาใช้กับรถยนต์ด้วย ด้วยการติดตั้งซูเปอร์ชาร์จเจอร์ เป็นครั้งแรก
คันสีเงินเป็นของเยอรมนี เป็นรถค่ายเมอร์เซเดส- เบนซ์ ในยุคนั้นเยอรมนีแข่งที่ไรก็แพ้อิตาลีทุกครั้ง รถคันนี้ได้รับการพัฒนาเมื่อทศวรรษที่ 1930 โดยทางเยอรมนีพัฒนาขึ้นมาเพื่อจะเอาชนะอิตาลีให้ได้ และสุดท้ายก็ทำสำเร็จ
เหนืออื่นใดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีมุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือจุดเริ่มต้นการแข่งรถในเอเชียจะมีเฉพาะญี่ปุ่นและไทย เท่านั้น และประเทศไทยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์ชายพีระ โดยใช้ชื่อในการแข่งขันว่า “B.Bira หรือ พ.พีระ” เป็นนักแข่งชาวไทยและชาวเอเชียคนแรกที่สามารถไปแข่งขัน Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก และทรงชนะเลิศการแข่งขันด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดมากในยุคนั้นที่คนเอเชียสามารถเอาชนะได้ และทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้งจนได้รางวัล “ดาราทอง” จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่ง สหราชอาณาจักร 3ปีซ้อน
ต่อมาพระองค์ชายพีระเตรียมการที่จะจัดการแข่งรถใน “บางกอก” (Bangkok Grand Prix ) ซึ่งมีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ด้วย โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 2 ไมล์ แต่การแข่งขันต้องยกเลิกไปเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน
สำหรับการแข่งรถของประเทศญี่ปุ่นยุคแรกจะเป็นการแข่งขันที่เรียกกว่า Japanese Grand Prix ในช่วงทศวรรษ 1960 ยุคแรกจะมีการนำเอารถยนต์ที่มีการจำหน่ายทั่วไปมาดัดแปลงและแข่งขันกัน แต่หลังจากนั้นก็ได้วิวัฒนาการพัฒนารถมาเฉพาะการแข่งขันกันในปี 1966 และเริ่มมีหลายค่ายเพิ่มขึ้น หลังจากรถแข่งก็มีหน้าตาดีขึ้นทันสมัยขึ้น สมรรถนะดีกว่าเดิมเลยทำให้รถที่จำหน่ายออกมาในช่วงนั้นจะมีหน้าตาคล้ายรถแข่งตามไปด้วย
มีอยู่มุมหนึ่ง เป็นลายเซ็นของประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น Akio Toyoda ซึ่งแกจะใช้นามแฝง “Morizo” เมื่อลงแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีลายเซ็นของนักขับทั้งรถเก่า รถใหม่ ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นและทั่วโลกมาช่วยกันเซ็นเต็มไปหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าทุกคนจะมองไม่ออกว่าใครเป็นใคร แต่ในอนาคตทางเราจะทำบอร์ดใหม่เพื่อให้รู้ว่าอันนี้เป็นลายเซ็นของใคร
เจ้าหน้าที่ยังเล่าเสริมต่อว่า การแข่งรถในช่วงแรกเป็นการวิ่งระหว่างเมือง แต่หลังจากนั้นรถเริ่มวิ่งเร็วขึ้นเลยทำต้องสนามแข่งขึ้นมารองรับและเป็นการแข่งขันในสนามแทน แต่ก็มีคนที่อยากจะดูการแข่งขันรถบนถนนทั่วไปเลยเป็นที่มาของการแข่ง “แรลลี่”
การแข่งแรลลี่ครั้งแรกเริ่มที่ประเทศอิตาลี มีจุดประสงค์ในตอนแรกคือการแข่งขันที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองในอิตาลี นั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันแรลลี่หลายจังหวัดเอาการแข่งขันรถยนต์มาใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
สำหรับรถที่โดดเด่นของโตโยต้า เป็นรุ่น 2000GT พัฒนาขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว รถคันนี้ทำให้โตโยต้ามีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่นเพราะว่าเป็นรถที่สามารถทำลายสถิติโลกได้หลายครั้งในยุคนั้น และที่ภาคภูมิใจรถคันนี้นำไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง เจมส์ บอนด์ 007 ด้วยทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
สุดท้ายเจ้าหน้าที่มิวเซียมสรุปให้ฟังว่า ณ ปัจจุบันการแข่งรถมีการเปลี่ยนแปลงไปมากที่ผ่านมาเป็นการแข่งรถเครื่องยนต์เบนซินเป็นหลักแต่จากนี้ไปรถยนต์จะใช้เครื่องยนต์เบนซินอยู่หรือเปล่า อาจจะเป็นเครื่องยนต์อีวี หรือสามารถนำเอาเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์ที่มีอยู่เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจนเพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นเครื่องยนต์ที่นำเอาเชื้อเพลิงที่หมุนเวียนมาใช้ในการขับขี่ก็ได้ ซึ่งประธาน Akio Toyoda เป็นคนแรกที่คิดไอเดียนี้ เริ่มมีคนมาเสนอว่าเอาเครื่องยนต์ไฮโดรเจนไปแข่ง ท่านก็สนใจเลยส่งรถไปแข่งรายการ 24 ชม. ในปีนั้นคนยุโรปตกใจมาก ทำให้เกิดความสนใจอยากที่จะผลิตไฮโดรเจน ขนส่งไฮโดรเจน อยากใช้ไฮโดรเจน ซึ่งมันจะคล้าย ๆ 130 ปีก่อน ซึ่งการแข่งขันรถครั้งแรกของโลกเป็นการแข่งขันเครื่องยนต์แล้ว มันมีไอน้ำและรถไฟฟ้า ไปแข่งขันด้วย ตอนนั้นรถน้ำมันวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคันแรกทำให้ทุกคนหันไปพัฒนารถเครื่องยนต์เบนซินเพราะมองว่าดีกว่า ได้เปรียบกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ นั้นคือจุดเริ่มต้นของมอเตอร์สปอร์ตเมื่อ 130 ปีในการการคัดเลือกเทคโนโลยี ณ ปัจจุบันการแข่งรถอาจทำให้เกิดการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะมาแทนตัวเดิมอย่างเครื่องยนต์ไฮโดรเจนที่โตโยต้านำไปแข่งเมื่อปีที่แล้ว และปีนี้จะส่งแข่งอีกรถมีพาวเวอร์ดีขึ้นกว่าเดิม 30% ดังนั้น “สนามแข่ง” จะเป็นสถานที่ที่เราจะนำไปทดสอบเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นมาในอนาคต
หลังจากเดินชมจนเมื่อย ทางโรงแรมก็มีโซน The Terrace Shop & Cafe ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 มีที่นั่งที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของสนามแข่งฟูจิ สปีดเวย์ ได้อย่างเต็มตา และสามารถเลือกซื้อโมเดลรถยนต์รุ่นต่างๆ รวมถึงสินค้าที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย ควบคู่ไปกับการจิบกาแฟร้อนๆ ภายในบรรยากาศที่ถูกออกแบบเพื่อความผ่อนคลาย
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต เปิดทำการทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เฉพาะช่วง 1 ปีแรกนับจากเริ่มเปิดให้เข้าชม) โดยผู้สนใจสามารถจองบัตรเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ https://fuji-motorsports-museum.jp/en/ อัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) วันธรรมดาอยู่ที่ 1,800 เยน (จองล่วงหน้าเหลือ 1,600 เยน) วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่ที่ 2,000 เยน (จองล่วงหน้าเหลือ 1,800 เยน) รวมถึงมีอัตราพิเศษสำหรับนักเรียนประถม-มัธยม, ผู้พิการ และผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์