นิสสันและเรโนลต์ถือเป็นพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันมานานนับจากปี 1999 แต่ทว่าเส้นทางต่อจากนี้ อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจากที่บริบทของอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ทั้ง 2 บริษัทต้องกลับมาตั้งหลัก และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องของโครงสร้างความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนในโปรเจ็กต์รถยนต์พลังไฟฟ้า ที่มีข่าวว่าทางเรโนลต์ จะดึงออกจากโครงสร้างของบริษัทเพื่อความคล่องตัวและรวดเร็วในการดำเนินงาน
จุดเริ่มต้นปี 1999 เพื่อพลิกฟื้นกิจการ
ช่วงทศวรรษที่ 1990 นิสสัน ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และมีแนวโน้มที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลาย ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาต้องหาทางออกในการจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในช่วงนั้น การรวมกิจการของบรรดาบริษัทรถยนต์ถือเป็นเรื่องที่มีให้เห็นบ่อยครั้งมาก และนิสสัน เลือกที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับเรโนลต์ จากฝรั่งเศสในแง่ของการแลกการถือในสัดส่วนที่เท่ากันในจำนวน 15% และไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ในการโหวตของบอร์ดบริหาร
อย่างไรก็ตามนิสสันที่อยู่ในสภาพที่ต้องการฟื้นฟูกิจการเพื่อกลับมาผงาดใหม่อีกครั้งจำเป็นที่จะต้องเปิดทางให้มือดีจาก เรโนลต์ เข้ามาช่วยจัดการเกี่ยวกับโครงสร้างภายใน และนั่นได้นำไปสู่การเข้ามาของ Carlos Ghosn เจ้าของฉายา ‘Le Cost Killer’ ซึ่งเข้ามาทำงานกับเรโนลต์ในปี 1996 ในฐานะรองประธาน และมีส่วนอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนให้กับแบรนด์ดังแห่งฝรั่งเศสจนสามารถกลับมามีกำไรได้ภายใน 3 ปี นั่นคือ ปี 1998
นิสสันก็มีความต้องการในแบบเดียวกัน ซึ่งหลังจากการร่วมเป็นพันธมิตรแล้ว ในปี 2000 Ghosn ก็ประกาศแผนที่เรียกว่า Nissan Revival Plan ออกมาด้วยเป้าหมายในการพาแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นกลับมาสู่แดนบวกในเรื่องของผลประกอบการอีกครั้ง ด้วยการตัดคนงานถึง 21,000 คนหรือคิดเป็น 14% ของสัดส่วนแรงงาน บวกกับการปิดโรงงานบางแห่ง การปรับโครงสร้างในการพัฒนารถยนต์ใหม่ทั้งหมดให้มีการแชร์พื้นฐานระหว่างกัน เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับเรโนลต์ในการพัฒนารถยนต์สำหรับตลาดยุโรป
นิสสันในยุคของ Ghosn มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่การทำงานร่วมกับเรโนลต์ ฐานะพันธมิตรหลักก็มีประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นปี 2013 ทั้งคู่ประกาศแผนการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่มีต้นทุนต่ำออกมา และอีก 1 ปีต่อจากนี้ทั้งคู่จะควบรวมการทำงานให้มากขึ้นด้วยเป้าหมายของการลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ให้ได้ในระดับ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีภายในปี 2022
ตรงนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิสสันเข้าซื้อหุ้นในมิตซูบิชิในปี 2016 และปีต่อมา ยอดขายรถยนต์ของทั้ง 2 แบรนด์ในเครือพันธมิตรรวมกันแล้วมีมากกว่า 10 ล้านคันเป็นครั้งแรกจนทำให้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มวุ่นวายในปี 2018 เมื่อ Ghosn ถูกจับกุมที่ญี่ปุ่นเพราะฉ้อโกงบริษัท และนั่นทำให้กลุ่มพันธมิตรต้องหาผู้บริหารใหม่เข้ามาดูแลหลังจากที่บริษัทเริ่มมีแนวโน้มในด้านการทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าจะได้ CEO ใหม่ของกลุ่มเข้ามาบริหารแต่สถานการณ์ของนิสสันและเรโนลต์ก็ยังไม่ดีขึ้นเพราะถูกกระหน่ำระลอกใหม่ด้วยการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนทำให้เรโนลต์ต้องขอกู้ยืมเงินจากรัฐถึง 5,000 ล้านยูโรเพื่อเข้ามาพยุงกิจการพร้อมกับการแต่งตั้ง CEO คนใหม่ที่ชื่อว่า Luca De Meo
หลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแต่ภาพรวมในการบริหารของ เรโนลต์-นิสสัน Alliance ยังสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ในปี 2022 ทาง De Meo จำเป็นที่จะต้องหาทางออกให้กับเรโนลต์ และนั่นได้นำมาสู่การประกาศแยกตัวออกมาของบริษัทแห่งใหม่ ซึ่งถูกมองว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายในความร่วมมือครั้งนี้
รถไฟฟ้า ตัวเร่งปฏิกิริยาของการแยกตัว
อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2020 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และทั้งภาครัฐและบริษัทรถยนต์ก็เร่งเดินหน้าในการนำโลกแห่งการขับเคลื่อนไปสู่รถยนต์ประเภทนี้กันมากขึ้น และแม้ว่าทางนิสสันจะมีรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยรุ่น LEAF และมาเพิ่มอีกรุ่นปี 2019 กับ Ariya แต่ทว่าทางเรโนลต์ ยังไม่มีแผนการรุกตลาดประเภทนี้อย่างจริงจังเท่าไร นั่นจึงนำไปสู่การเตรียมการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมในการจัดการเกี่ยวกับอนาคตของความร่วมมือ
สิ่งที่น่าสนใจและถูกมองว่ามีนัยสำคัญคือ ความสำคัญของการประชุมที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของ เรโนลต์-นิสสัน Alliance นับจากปี 2018 ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารอันเนื่องมาจากการถูกจับกุมของ Ghosn เลยทีเดียว เพราะอาจจะมีแนวโน้มว่าทั้งคู่อาจจะไม่ได้ไปต่อ เพราะทาง เรโนลต์ เองก็ต้องการแยกส่วนกิจการของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นบริษัทต่างหาก ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเครืออีกต่อไป ขณะที่เรโนลต์ เองก็ต้องการขายหุ้นของนิสสันออกไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุจำนวน แต่เชื่อว่าก็อาจจะทั้งหมดที่ถืออยู่ซึ่งมีจำนวนเพิ่มจาก 15% มาเป็น 43% ในเวลาต่อมา
โครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของเรโนลต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ampere ถูกมองว่าเป็นอนาคตของทางเรโนลต์และเชื่อว่าแบรนด์ดังของฝรั่งเศสอาจจะเลือกเดินเส้นทางของตัวเองโดยที่ไม่มีนิสสันอยู่เคียงข้างเหมือนกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อความคล่องตัวในการทำงานที่มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในและบรรดานักวิเคราะห์ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์อีกฝั่งเชื่อว่า ความคิดที่จะแยกตัวออกมาจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์พลังไฟฟ้าของเรโนลต์นั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นพันธมิตรจนถึงขนาดเลิกจับมือกันเหมือนกับที่บางส่วนวิเคราะห์กันเอาไว้ เพราะเชื่อว่าทางเรโนลต์ เองอาจจะยังต้องพึ่งพา นิสสันในบางเรื่องโดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ ที่นิสสันมีประสบการณ์ยาวนานกว่า 10 ปี
ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำหรับ Nissan อาจจะมีนัยสำคัญที่ต้องจัดการ 2 เรื่องคือ การปรับปรุงโครงสร้างบริหารของบริษัทใหม่ โดยฉพาะในส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่ Nissan มองว่ายังไม่ลงตัว ขณะที่อีกเรื่องคือ การเตรียมระดมทุนเพื่อซื้อหุ้นที่ทาง Renault เตรียมเทขายออกไปเพื่อไปลงทุนก่อตั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าโดยตรง
แน่นอนว่าตรงนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ แล้ว Nissan จะกลับมาประสบปัญหาทางการเงินอีกรอบเหมือนกับยุคทศวรรษที่ 1990 ไหม หากพวกเขาต้องระดมทุนซื้อหุ้นกลับคืนมา ทางด้าน Seiji Sigiura นักวิเคราะห์อาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ เพราะสถานการณ์โดยรวมของ Nissan ในตอนนี้ยังค่อนข้างดี และเชื่อว่าทาง Renault อาจจะไม่ได้ปล่อยหุ้นทั้งหมดจำนวน 43% ออกมา อาจจะแค่ส่วนหนึ่งก็ได้
ทิศทางจะเป็นเช่นไรต่อไป
ข่าวที่ประกาศออกมาครั้งนี้ถือว่าสร้างความเชื่อมั่นให้กับฝั่งของ Renault ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการเดินหน้าของตัวเอง แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรแล้วถือว่าไม่ค่อยดีสักเท่าไร โดยก่อนหน้านี้แม้ว่าทั้งคู่จะประกาศแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าตลอด 3 ปีข้างหน้าเมื่อต้นปี 2022 แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ได้มีผลใดๆ ต่อการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ของทั้งคู่เกี่ยวกับอนาคตของความสัมพันธ์
หลายฝ่ายยังเชื่อว่าหลังจากที่ Nissan และ Renault เสร็จสิ้นกระบวนการพูดคุยแล้ว อาจจะไม่ได้นำพาไปสู่เรื่องของการเลิกจับมือหรือแยกทางกันอย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งวิเคราะห์เอาไว้ เพราะตามแผนการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าที่ประกาศออกมาเมื่อต้นปี ก็ยังต้องการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาจากทั้ง 2 เพื่อทำให้รถยนต์พลังไฟฟ้าที่จะเปิดตัวออกมาถึง 35 รุ่นจนถึงปี 2030 มีต้นทุนที่ต่ำลงและสามารถกำหนดราคาที่ช่วยในเรื่องของการแข่งขันได้
ดังนั้น ถ้ามองโลกในแง่ดี การพูดคุยครั้งนี้น่าจะมีแค่เรื่องของการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Nissan ของ Renault และการปรับโครงสร้างธุรกิจของเครือใหญ่ที่น่าจะมีการปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อเอื้อต่อความคล่องตัวของทั้งคู่ ส่วนการแยกบริษัทที่ดูแลรถยนต์ไฟฟ้าออกมานั้น สุดท้ายแล้วน่าจะเป็น Nissan เองนี่แหละที่อาจจะเข้าไปถือหุ้นหรือร่วมลงทุนอยู่ในบริษัทแห่งใหม่ของ Renault ด้วยก็ได้
แต่สุดท้าย พวกเราน่าจะได้รับทราบจุดเริ่มต้นของข้อสรุปจากเรื่องนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน