แน่นอนว่าในยุคที่โลกแห่งยานยนต์กำลังเดินหน้าไปสู่การขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษและมีความยั่งยืนในรูปแบบของรถยนต์พลังไฟฟ้า บรรดาแบรนด์ต่างๆ ก็พยายามที่จะปรับตัวพร้อมประกาศนโยบายแห่งอนาคตเพื่อพาตัวเองไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
ตลอดช่วงทศวรรษที่ 2020 แม้ว่าการเปลี่ยนโฉมหน้าจากการขับเคลื่อนด้วยรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังไม่ได้เป็นแบบพลิกจากหน้ามือมาเป็นหลังมือ แต่หลายแบรนด์ก็ประกาศย้ำชัดในเรื่องของการยุติบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องยนต์สันดาปภายในกันแล้วเพื่อเตรียมต้อนรับการเข้าสู่ยุคพลังงานไฟฟ้าที่จะเริ่มต้นอย่างเต็มตัวเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2030
และตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของแบรนด์ต่างๆ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง
ซีตรองเผยโลโก้ใหม่ต้อนรับตลาดพลังไฟฟ้า
การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หลายแบรนด์นอกจากจะมีแผนการในการทำตลาดแล้ว ในแง่ของการสะท้อนภาพลักษณ์ของตัวเองออกมาผ่านทางโลโก้ก็มีความจำเป็น และ Citroen คือ หนึ่งในนั้นที่จัดการเปลี่ยนแปลงโลโก้ของตัวเองใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
จะว่าไปแล้วมันคือเอาของเก่ามาเล่าใหม่ แต่ทุกอย่างต้องมีเรื่องราว เพราะแม้ว่าโลโก้ที่เห็นอยู่นี้จะเป็นโลโก้ดั้งเดิมที่เปิดตัวและใช้ในปี 1919 แต่ก็มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยใหม่ โดยแบรนด์รถยนต์ที่มีอายุ 103 ปีรายนี้ได้เปลี่ยนสีของสัญลักษณ์มาเป็นโทนสีที่เรียกว่า Monte Carlo Blue เพื่อสื่อถึงความเกี่ยวพันของแบรนด์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับโลโก้ใหม่นี้จะเปิดตัวเป็นครั้งแรกกับรถยนต์ของ Citroen รุ่นใหม่ที่จะเผยโฉมในวันที่ 29 กันยายนนี้
JLR ยืนยันไม่ปลดพนักงานแม้จะเข้าสู่ยุค EV
สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่โลกของรถยนต์พลังไฟฟ้า คือ แรงงานและรูปแบบการผลิต ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่ทว่าทาง Jaguar และ Land Rover แบรนด์สัญชาติอังกฤษที่อยู่ในเครือ Tata Motors ประกาศยืนยันว่าตลอดช่วง 3 ปีนับจากนี้จะยังใช้พนักงานชุดเดิมในการทำงาน และไม่มีการประกาศปลดคนงานแต่อย่างใด
นั่นหมายความว่าพนักงานทั้งในส่วนของออฟฟิศ โรงงาน หรือดูแลการขายทั่วโลกจำนวน 29,000 คนของทั้ง 2 แบรนด์จะยังทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป แต่ทาง JLR ก็ยืนยันว่ามีแผนในการปรับและเพิ่มทักษะให้กับพนักงานและคนงานเหล่านี้เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในแบบ ‘เฉียบพลัน’ ของตลาด
โดยทาง JLR ยืนยันว่าทางแบรนด์วางแผนในการพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าของตัวเองอย่างแน่นอน และคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีรถยนต์ในรูปนี้ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน โดยจะเริ่มต้นกับ Land Rover ก่อนแล้วทาง Jaguar ค่อยเปิดตัวตามออกมา ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้ ซึ่ง JLR ประกาศว่าจะเปิดตัวรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์ในปี 2025 จากนั้นในปี 2030 รถยนต์ใหม่ที่เปิดตัวขายภายใต้ชื่อของทั้ง 2 แบรนด์จะต้องเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าเท่านั้น จะไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายในอีกต่อไป
GM ประกาศลงทุน 2.9 หมื่นล้านบ.รับตลาด EV
General Motors หรือ GM ประกาศแผนการระลอกแรกในการปรับตัวเองเข้าสู่ยุค EV ด้วยการทุ่มเงินจำนวน 760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการปรับปรุงโรงงานที่ Ohio ในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยเน้นไปที่การผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าที่กำลังจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของแบรนด์
สำหรับโรงงานในเมือง Toledo มลรัฐ Ohio แห่งนี้ แต่เดิมทำหน้าที่ในการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 6, 8 และ 10 จังหวะแบบขับเคลื่อนล้อหลัง และแบบ 9 จังหวะสำหรับขับเคลื่อนล้อหน้าให้กับรถยนต์หลากหลายรุ่นที่อยู่เครือ GM ซึ่งก็มีทั้ง Chevrolet, Buick, GMC และ Cadillac โดยมีพื้นที่จำนวน 2.82 ล้านตารางฟุต ซึ่งตามแผนการนั้น ทาง GM จะแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับกับการผลิตชุดขับเคลื่อนสำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้า และลดจำนวนการผลิตชุดเกียร์สำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายในลง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งหมดภายใน 3 ปีข้างหน้า
การปรับปรุงครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของ GM ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยทางแบรนด์ยืนยันว่าภายในปี 2025 พวกเขาจะต้องทำยอดขายรถยนต์พลังไฟฟ้าในตลาดอเมริกาเหนือให้ได้ถึง 1 ล้านคัน ซึ่งนั่นหมายความว่า บรรดารถยนต์ที่ถูกจำหน่ายผ่านแบรนด์ต่างๆ ของ GM จะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบัน GM มีรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดอยู่แล้ว เช่น GMC Hummer แต่ก็เป็นรถยนต์ที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เป็นรถยนต์สำหรับคนทั่วไป
นอกจากนั้น การปรับปรุงครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการระยะสั้นของ GM ที่จะดำเนินการตลอดในช่วงปี 2020-2025 ที่มีการวางแผนใช้เงินลงทุนจำนวน 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ทางบริษัทตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2035 จะยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยก่อนหน้านี้ทาง GM ก็เพิ่งประกาศความร่วมมือกับทาง LG Energy Solution ในการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 4 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ตั้งแท่นชาร์จสาธารณะ 50 รัฐทั่วประเทศ
ปัญหาหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สามารถขยับขยายยอดขายของรถยนต์พลังไฟฟ้าในบ้านตัวเองได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรปคือ การรองรับการใช้งานของรถยนต์พลังไฟฟ้าโดยเฉพาะแท่นชาร์จสาธารณะยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของประชากร ดังนั้น ทางรัฐสภาของเมืองลุงแซมจึงอนุมัติแผนการเพิ่มและขยายจำนวนแท่นชาร์จสาธารณะใน 50 รัฐทั่วประเทศแล้ว เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเดินทางของคนในยุคหน้า
USDOT หรือหน่วยงานที่ดูแลในด้านระบบขนส่งในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า แผนการที่นำเสนอไปในการเพิ่มจำนวนแท่นชาร์จสาธารณะบนไฮเวย์ตั้งแต่รัฐ Washington ไปจนถึง Puerto Rico รวมระยะทางมากกว่า 75,000 ไมล์ หรือ 120,700 กิโลเมตร เพื่อครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ
การลงทุนครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนงบประมาณที่เรียกว่า November 2021 ที่มีการใช้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกับการขยายตัวของการใช้งานรถยนต์พลังไฟฟ้าทั้งในภาคประชาชนและภาคขนส่งของประเทศ โดยตามแผนการนี้ จะมีการแบ่งเงินจำนวน 5,000 ล้านเหรียญสหรับฯ ออกมาสร้างแท่นชาร์จสาธารณะเพื่อติดตั้งตามรัฐฯ ต่างๆ โดยเน้นไปที่เส้นทางไฮเวย์ข้ามรัฐฯ เป็นหลัก และจะใช้การก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการปฏิบัตินั้น ทาง USDOT ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของแต่ละรัฐ โดยจะมอบหมายให้แต่ละรัฐเป้นผู้ลงมือทำภายใต้เงื่อนไขที่สอดคล้องกับตัวแผนการที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะในแง่ของหลักการที่จะต้องสอดคล้องกับการใช้งาน เช่น รัฐจะต้องจัดเตรียมเรื่องของความพร้อมในการก่อสร้างแท่นชาร์จสาธารณะแบบ DC Quick Charge รวมถึงระยะห่างของแท่นชาร์จสาธารณะแต่ละจุดที่จะต้องห่างกันไม่เกิน 50 ไมล์ หรือ 80.5 กิโลเมตร และจะต้องติดตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นทางหลักของไฮเวย์ไม่เกิน 1 ไมล์
ตามการประกาศของประธานาธิบดี Joe Biden นั้น ภายในปี 2030 จำนวน 50% ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบไฮบริดเสียบปลั๊ก-PHEV และจะต้องมีแท่นชาร์จสาธารณะทั่วประเทศมากกว่า 500,000 แห่ง นอกจากนั้นทาง Air Resource Board ของมลรัฐ California เองยังได้ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าสนมาว่า ภายในปี 2035 รถยนต์ใหม่ที่ขายในตลาดแห่งนี้จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบไฮบริดเสียบปลั๊ก-PHEV เท่านั้น
นั่นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเร่งจัดการและผลักดันในด้านนโยบายเพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บทที่ถูกประกาศออกมา
เมื่อเปรียบเทียบกับจีนและยุโรปตะวันตกแล้ว ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกายังถือว่ามีตัวเลขที่ไม่มากนัก ซึ่งเหตุผลนอกเหนือจากเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ปัจจัยที่มีผลอย่างมากคือ ทางเลือกของผลิตภัณฑ์มีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เช่นเดียวกับการที่ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน เช่น GM, Ford และ Chrysler ออกตัวในตลาดประเภทนี้ช้ามาก รวมถึงระบบพื้นฐานสำหรับรองรับกับความต้องการใช้รถยนต์แบบเสียบปลั๊ก โดยเฉพาะแท่นชาร์จสาธารณะก็ยังมีอัตราส่วนต่อประชากรค่อนข้างน้อยมาก จากตัวเลขของปี 2021 พบว่าในยุโรปเมื่อดปรียบเทียบกับประชากร 100,000 คนแล้วแท่นชาร์จสาธารณะจะมีตัวเลขอยู่ที่ 62 จุด ในขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 37 จุดต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น โดยที่มี 4 เมืองใหญ่เท่านั้นที่มีจำนวนแท่นชาร์จจำนวนเยอะ นั่นคือ Boston, Seattle, L.A. และ Denver ทั้งที่ผู้ให้บริการแท่นชาร์จสาธารณะในโลกนี้มีอยู่ราวๆ 300 แห่ง และ 1 ใน 3 เป็นบริษัทอเมริกัน
Hertz จับมือ BP ผุดแท่นชาร์จสาธารณะทั่วสหรัฐฯ
การเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้าส่งผลไม่เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวพันกันก็จำเป็นจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงด้วย อย่างเช่นธุรกิจเช่ารถยนต์ ซึ่ง Hertz Global Holding ผู้ให้บริการเช่ารถยนต์รายใหญ่ ประกาศแผนความร่วมมือกับ BP ในการสร้างแท่นชาร์จสาธารณะทั่วอเมริกาเหนือ เพื่อรองรับกับความต้องการใช้งานของรถยนต์เช่าของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การประกาศความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้มีการเผยรายละเอียด แต่ระบุเพียงแค่การพุ่งเป้าไปที่การสร้างเครือข่ายแท่นชาร์จสาธารณะเพื่อรองรับกับการใช้งานของรถยนต์เช่าของ Hertz ซึ่งแผนการนี้จะเริ่มขึ้นภายในปลายปี 2024 โดยก่อนหน้านี้ ทาง Hertz เองเพิ่งจะปรับปรุงไลน์อัพของรถยนต์เช่าของตัวเองด้วยการเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปให้กับลูกค้า และได้สั่งซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้าล็อตใหญ่จาก Tesla, GM และ Polestar เข้ามาแล้ว โดยแผนการเริ่มต้น พวกเขาประกาศว่าจะสร้างแท่นชาร์จสาธารณะของตัวเองจำนวน 3,000 แห่งทั่วอเมริกาเหนือ
การเข้ามาและการประกาศในด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกามีผลต่อบรรดาผู้เช่าใช้รถยนต์ และทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนสินค้าที่มีอยู่และคุ้นเคยมานานเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไป อย่าง Autonomy บริษัทให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่อเมริกา ประกาศสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มกว่า 23,000 คันจาก 17 ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อความหลากหลายเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าและตอบโจทย์ต่อความต้องการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้และในอนาคต ซึ่งมูลค่าการสั่งซื้อรถไฟฟ้ารอบนี้ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะคละรุ่นต่างๆเพื่อเป็นตัวเลือกให้ลูกค้ากว่า 45 รุ่นจาก 17 แบรนด์ประกอบด้วย BMW, Canoo, Fisker, Ford, General Motors, Hyundai, Lucid, Mercedes-Benz, Polestar, Rivian, Stellantis, Subaru, Tesla, Toyota, VinFast, Volvo และ Volkswagen โดย 36% ของยอดสั่งซื้อนั้นเป็นรถยนต์ของ Tesla
นอกจากนั้น บริษัทรถเช่าแห่งอื่นๆ ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เช่น Hertz, Sixt และ Rhinocarhire ต่างก็มีรถยนต์พลังไฟฟ้าเป็นตัวเลือกให้เช่าใช้สำหรับลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมถึงบริษัทรถยนต์เช่าระดับหรูที่ให้บริการในเขต New York อย่าง Joulez ก็มีให้บริการรถเช่าระดับ Luxury Car ให้กับลูกค้าด้วย