กว่า 10 ปีที่อยู่ในร่มเงาของ โฟล์คสวาเก้น กรุ๊ป ( Volkswagen Group) ตอนนี้ดูเหมือนว่าอนาคตของปอร์เช่ ( Porsche )กำลังเดินทางมาถึงทางแยกอีกครั้งว่า พวกเขาจะเดินหน้าต่อไปในรูปแบบใด แยกเป็นอิสระ หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือว่ายังเป็นส่วนหนึ่งของ Volkswagen Group ต่อไป หลังจากที่แบรนด์รถยนต์หมายเลข 1 ของเยอรมนีได้เข้ามามีส่วนปลุกปั้นและขยับขยายไลน์อัพในการทำตลาดของ Porsche จนกระทั่งเติบโตและแข็งแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับผลักดันให้ Porsche เดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ความสัมพันธ์ยาวนานก่อนจบลงที่การอยู่ร่วมกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคที่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่วุ่นวายหรือมีความซับซ้อนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน บริษัทรถยนต์และวิศวกรบางกลุ่มมีความใกล้ชิดกันค่อนข้างมาก แต่ โฟล์คสวาเก้น กับ ปอร์เช่ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะดร. Ferdinand Porsche ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ปอร์เช่ ในปี 1931 ก็คือ ผู้ออกแบบรถยนต์อันโด่งดังของค่าย VW อย่าง Beetle นอกจากนั้น ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1970 ทั้งคู่ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนารถยนต์หลายรุ่น เช่น 914 ที่ใช้เครื่องยนต์ของ โฟล์คสวาเก้น และ 914-6 ที่ใช้เครื่องยนต์ของ ปอร์เช่ และในปี 1976 ก็เปิดตัวรุ่น ปอร์เช่ 912E สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา และ Porsche 924 รวมถึงรุ่น Cayenne ที่เปิดตัวปี 2002 ก็เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ โฟล์คสวาเก้น กรุ๊ป และแชร์พื้นฐานร่วมกับ โฟล์คสวาเก้น Touareg และ ออดี้ Q7
ความสัมพันธ์เหล่านี้ได้นำไปสู่การตัดสินใจในที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในปี 2011 โดยก่อนหน้านั้นในปี 2007 ได้มีการก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ Porsche SE ขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ในการบริหารจัดการ Dr. Ing. h.c. F. Porsche AG หรือ Porsche AG โดย ปอร์เช่ SE ถูกถือหุ้นโดย Porsche Zwischenholding GmbH ที่เป็นตัวแทนของครอบครัว ปอร์เช่ จำนวน 50.1% และ โฟล์คสวาเก้น AG จำนวน 31.3%
จากจุดนี้ได้นำไปสู่การมีข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ปอร์เช่ และ โฟล์คสวาเก้น ในปี 2009 ในการรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกันในปี 2011 ซึ่งจากการดำเนินครั้งนี้ ทาง โฟล์คสวาเก้น กรุ๊ป จะต้องส่งมอบหุ้นจำนวน 50.76% มาให้กับ ปอร์เช่ SE ถือเอาไว้เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการเข้ามาบริหารและจัดการ ปอร์เช่ SE และทาง โฟล์คสวาเก้น AG ก็ได้ครอบครอง Porsche AG ด้วยเช่นกัน
และนั่นคือที่มาของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่มเงา Volkswagen ของ Porsche
ถึงเวลาแยกจากกันแล้วหรือ ?
ข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงปีนี้ และมาเริ่มระอุปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ ช่วงเวลาที่อยู่ร่วมกันของโฟล์คสวาเก้น และ ปอร์เช่ เดินทางมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจกันแล้ว และมีข่าวว่าบอร์ดบริหารของ โฟล์คสวาเก้น กำลังวางแผนประชุมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินงานของปอร์เช่ ในอนาคต เช่นเดียวกับการอนุมัติข้อตกลงการขายหุ้นจำนวน 25% บวกกับอีก 1 หุ้นของ ปอร์เช่ AG ที่ดูแลในส่วนของการผลิตและดำเนินกิจการรถสปอร์ต ปอร์เช่ ให้กับ ปอร์เช่ SE ตามที่เคยมีการตกลงกันเอาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหรือไม่ รวมถึงการนำ ปอร์เช่ AG เข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนในการดำเนินกิจการ
ถ้าเป็นจริงจะทำให้แบรนด์ ปอร์เช่ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนีนับจากปี 1999 เลยทีเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นหากทางบอร์ดของ โฟล์คสวาเก้น อนุมัติคือ การทำให้ตระกูล Porsche และ Piech ที่เป็นทายาทสายตรงของตระกูล Porsche รวมถึงคนในครอบครัวของพวกเขาจะได้สิทธิ์กลับมาบริหารอีกครั้งนับจากที่แบรนด์นี้ก่อตั้งในปี 1931 โดยในปัจจุบันครอบครัว Porsche และ Piech ดูแลและดำเนินกิจการของ Porsche SE ซึ่งถือหุ้นจำนวน 31.4% ของ โฟล์คสวาเก้น AG และถือสิทธิ์ในการโหวตจำนวน 53.3%
ถ้าทุกอย่างอนุมัติจากบอร์ดบริหาร จำนวนหุ้นที่ถูกนำออกขายจะแบ่งเป็นหุ้นบุริมสิทธิ หรือ Preferred Stock และหุ้นทั่วไป หรือ Ordinary Stock ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยหุ้นทั่วไปที่ถูกนำออกขายนั้นจะมาจากสัดส่วนที่ถือครองโดยโฟล์คสวาเก้น และ ปอร์เช่ SE แต่ไม่ได้มีการระบุจำนวนที่ชัดเจนในตอนนี้
จากข่าวนี้ทำให้บรรดานักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองและเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
การขายที่วินวินทั้ง 2 ฝ่าย
คาดว่าถ้าทุกอย่างได้รับไฟเขียวแล้ว การขายหุ้นจำนวน 25% หรือเทียบเท่ากับจำนวน 12.5% ของเงินลงทุนให้กับคนทั่วไปในฐานะบริษัทมหาชนของ ปอร์เช่ AG นั้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับ ปอร์เช่ อย่างมากอีกด้วย โดยทาง Reuter มีการประเมินว่า จะสามารถระดมทุนได้มากถึง 85-90 พันล้านยูโรเลยทีเดียวจากเดิมที่มีการประเมินขั้นต่ำเอาไว้ที่ 10.6 พันล้านยูโร
ว่ากันว่าจะทำให้ ปอร์เช่ มีเงินทุนอย่างหนาในการพัฒนาและดำเนินกิจการ รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพได้อีกมากมาย เช่นเดียวกับที่โฟล์คสวาเก้น จะสามารถมีเงินทุนในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งดูเหมือนว่า โฟล์คสวาเก้น ได้วางแผนเอาไว้แล้วอย่างชัดเจนสำหรับเส้นทางอนาคตของตัวเอง
‘อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เปลี่ยนไปแล้ว และ โฟล์คสวาเก้น ได้ตัดสินใจแล้วว่าเราจะรุกเข้าสู่การเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ปลอดมลพิษ และยานยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบ’ Herbert Diess ประธานบริหารของ โฟล์คสวาเก้น กล่าว ‘การเปิดขายหุ้นของ ปอร์เช่ AG จะช่วยทำให้เรามีความยืดหยุ่นในแง่ของเงินลงทุนเพื่อเร่งกระบวนการไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เราได้วางเอาไว้ ขณะเดียวกันทาง ปอร์เช่ AG ก็จะมีอิสระในการทำงานโดยเฉพาะในแง่ของการระดมทุน และในทางเดียวกันก็ยังได้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัทเราเหมือนเดิม’
เส้นทางที่อาจไม่สวยหรูอย่างที่คิด
แม้จะดูเหมือนว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะทำให้ โฟล์คสวาเก้น มีเงินทุนในการผลักดันโครงการต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์บางคนกลับเชื่อว่า เส้นทางอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดก็ได้ เมื่อมองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของ โฟล์คสวาเก้น และ ออดี้ สำหรับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา มีแค่บางรุ่นที่รอด แต่บางรุ่นกลับไปไม่รอด โดยเฉพาะ Audi ที่ถูกมองว่ายังไม่สามารถแข่งขันกับคู่ปรับอย่าง Tesla หรือแม้แต่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ บีเอ็มดับเบิลยู ได้อย่างสูสี
ต่างจากปอร์เช่ ที่ Taycan ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และทำให้ตัวเลขยอดขายของรถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นนี้แซงหน้ารถสปอร์ตรุ่นดังของแบรนด์อย่าง 911 ไปเป็นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เพราะสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไปคือ การขออนุมัติและโหวตจากบอร์ดบริหาร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายเดือนกันยายนจนถึงต้นตุลาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลของ โฟล์คสวาเก้น ที่มีสิทธิ์ในการออกเสียงครั้งนี้ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มของคณะกรรมการอิสระที่มาจาก State of Lower Saxony ซึ่งมีสิทธิ์จำนวน 2 ที่นั่งจากจำนวน 20 ที่นั่งของบอร์ดบริหาร และสหภาพแรงงานของ โฟล์คสวาเก้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มของคณะกรรมการนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างถูกขีดเส้นเอาไว้แล้วว่า ในปลายปีนี้ อนาคตของปอร์เช่ AG จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าสุดท้ายพวกเขาจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน