xs
xsm
sm
md
lg

Honda BR-V ขับดีเพื่อครอบครัว แต่ราคาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฮอนด้า บีอาร์-วี เจเนอเรชันที่สอง เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยเป็นการนำเข้ามาทำตลาดจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ของรถประเภทนี้ ทำตลาดด้วย 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น E ราคาจำหน่าย 915,000 บาท และ รุ่น EL 973,000 บาท แน่นอนว่าหลังประกาศราคาอย่างเป็นทางการ เสียงตอบรับเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ “แพง” แต่ทีมงานฮอนด้า ได้บอกกล่าวไว้ว่า “อย่ารีบด่วนสรุป ขอให้ลองขับก่อน”

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลา ทีมงานเอ็มจีอาร์มอเตอริ่ง จึงได้ทดลองขับเป็นที่เรียบร้อยแล้วในรุ่น EL ผลลัพธ์ของการขับขี่เป็นอย่างไร เราสรุปเป็น 10 หัวข้อให้ติดตาม


1. โครงสร้างตัวถัง

ฮอนด้า บีอาร์-วี อาศัยพื้นฐานโครงสร้างทางวิศวกรรมจากรุ่น บริโอ้ อเมซ ตัวใหม่ที่จำหน่ายในประเทศอินเดีย โดยถือเป็นรถรุ่นแรกในไทยที่ใช้โครงสร้างชุดนี้ จุดเด่นคือ มีการขยายขนาดฐานล้อให้ยาวกว่ารุ่นก่อนหน้า 40 มม. และมีการเสริมความแข็งแรงให้เหล็กในโครงสร้างตัวถังมากกว่าเดิม 24%




2. ดีไซน์ภายนอก

ออกแบบใหม่ทั้งหมด ดูหรูหราขึ้นด้วยกระจังหน้าแบบเส้นนอนแนวยาวและไฟหน้าแบบ LED ลักษณะเดียวกับรุ่นพี่อย่างแอคคอร์ด โดยไฟท้ายเป็น LED เช่นเดียวกันและมีความคล้ายคลึงกับรุ่นซิตี้ โดยจุดสำคัญคือ เฉพาะรุ่น EL จะได้กระจังหน้าสีเปียโนแบล็ค และไฟตัดหมอกคู่หน้าแบบLED กระจกมองข้างพับเก็บอัตโนมัติ




3. ภายในห้องโดยสาร

ดีไซน์ตามสไตล์ของฮอนด้าดูเรียบง่าย คุณภาพวัสดุและความเรียบร้อยของการเก็บงานเมื่อเทียบกับราคาค่าตัวขอใช้คำว่า ยังไม่สมราคา  และหากเทียบกับรถรุ่นอื่นของฮอนด้าที่ผลิตในประเทศไทย เชื่อว่าทุกคนที่เป็นแฟนๆ ของฮอนด้าจะรับรู้ได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเก็บงานในบางจุด รวมถึงการพับเบาะที่ ฮอนด้า ซิตี้ทำได้หลากหลายรูปแบบกว่า


4. หัวใจการขับเคลื่อน

เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ i-VTEC รหัส L15ZF เป็นเครื่องบล็อกใหม่ที่นำเอาระบบ DOHC มาใช้แทน SOHC ที่อยู่ในโฉมก่อน รวมถึงมีการออกแบบระบบทางเดินอากาศใหม่ ให้พละกำลังสูงสุด 121 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 145 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยระบบเกียร์แบบ CVT


5. ระบบกันสะเทือน-เบรก

เมื่อมองที่ราคาค่าตัว 9 แสนกว่าบาทของ BR-V กับการได้ระบบเบรกหน้า-ดิสก์ หลัง-ดรัม แม้จะเบรกได้มั่นใจดี แต่ยังเป็นสิ่งที่ผู้เขียนทำใจยอมรับได้ยาก ส่วนระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม H-Shape ทำหน้าที่ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี และโดดเด่นกว่าคู่แข่งเมื่อขับด้วยความเร็วสูง


6. ระบบเสริมความปลอดภัย

ฮอนด้าจัด Sensing ให้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ระบบเตือนการชนพร้อมช่วยเบรก ระบบเตือนและดึงเมื่อรถออกนอกเลน ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน(ทำงานเมื่อวิ่งด้วยความเร็วเกิน 30 กม./ชม.) ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ระบบเตือนเมื่อรถคันหนน้าเคลื่อนที่ และ Honda LaneWatch (หลายคนอยากให้ปรับเปลี่ยนเป็นกล้องมองรอบคันหรือใส่ระบบเตือนมุมอับสายตามาแทน)


7. การขับขี่

เส้นทางการขับขี่ของเราในคราวนี้คือ การชับไปสระบุรีแบบไปเช้า-เย็นกลับ รวมระยะทาง 282 กม. เริ่มต้นด้วยการวิ่งในเมืองเป็นลำดับแรก พวงมาลัยเบามือดี แต่มีสิ่งที่ผิดคาดคือการป้องกันเสียงรบกวน เราได้ยินเสียงยางบดถนนดังตั้งแต่ความเร็วราว 40 กม./ชม. ซึ่งถือว่าไม่น่าเกิดขึ้นได้โดยได้แจ้งทีมงานให้ตรวจสอบเรียบร้อย ส่วนการบังคับควบคุมคล่องตัวดี อัตราเร่งช่วงต้นทำได้กระฉับกระเฉง ไม่มีอาการอืดหรือรอรอบ


หลังจากนั้นเข้าสู่ช่วงถนนวงแหวนตะวันออก สามารถทำความเร็วได้ ตัวรถทรงตัวดีโดยเฉพาะเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง ส่วนจังหวะเร่งแซงถือว่าผิดนิสัยของรถฮอนด้ายุคปัจจุบัน เพราะเมื่อเรากดคันเร่งแบบคิกส์ดาวน์ เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่ม แต่ความเร็วของตัวรถกลับไม่พุ่งขึ้น เป็นลักษณะของการค่อยๆ ไต่ความเร็วไป ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากเกียร์ที่เป็นแบบ CVT และอีกส่วนหนึ่งมาจากการเซ็ตโปรแกรมเอาไว้เพื่อให้เป็นรถของครอบครัว ไม่พุ่งมาก


ตลอดเส้นทางการขับขี่เราได้ลองแซงแบบเร่งด่วนหลายครั้ง พบว่า ไม่มีความแตกต่าง ตัวรถพุ่งน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ มองแง่ดีคือ เพื่อให้คนโดยสารรู้สึกสบาย แต่อีกด้านคือโอกาสแซงไม่พ้นมีสูง ฉะนั้นต้องประเมินกำลังให้ดีหากต้องการให้เจ้า บีอาร์-วี แซงคันอื่นๆ


ช่วงขากลับเราได้โอกาสย้ายจากผู้ขับขี่ไปนั่งในตำแหน่งของเบาะนั่งแถวที่สาม บอกได้อย่างชัดเจนว่า คนตัวสูงประมาณ 173 ซม. สามารถนั่งได้พอดีไม่อึดอัด แต่ถ้านั่งทางยาวๆ คงไม่สบาย รวมถึงเรื่องของอากาศที่แม้จะมีแอร์หลังเป่าจากแถวที่สอง ถ้าเปิดไม่แรงพอหรือมีคนนั่งแถวสองแล้วบังลมไว้ ความเย็นจะไปไม่ถึงแถวสุดท้าย

เมื่อนั่งแถวที่สามจนถึงจุดที่ได้บทสรุปแล้วจึงย้ายตำแหน่งมาแถวสอง ซึ่งรู้สึกนั่งสบายกว่าอย่างชัดเจน แอร์เย็นถึงพร้อมด้วยเบาะที่นุ่ม เสียงรบกวนส่วนใหญ่ดังมาจากทางด้านหน้า โดยเฉพาะเสียงเครื่องยนต์ แต่ไม่น่าจะเป็นปัญหาหากต้องการนอน เพราะเราสามารถเอนหลังหลับได้แบบสบายๆ โดยภาพรวมถือว่าขับดี นั่งสบาย เหมาะกับครอบครัว


8. อัตราสิ้นเปลือง

ตามการแสดงผลบนหน้าจอ ระบุตัวเลขเฉลี่ยจากระยะทางการวิ่งกว่า 300 กม. ไว้ที่ 13.9 กม./ลิตร กับการขับขี่ที่ส่วนใหญ่เป็นการวิ่งทางยาวๆ มากกว่ารถติดในเมือง ซึ่งถือว่ายอมรับได้เพราะการขับหลายช่วงเราใช้ความเร็วสูงเกินกว่า 100 กม./ชม. และมีการคิกส์ดาวน์อย่างสม่ำเสมอ




9. ความคุ้มค่า

มองไปที่ค่าตัว 915,000 บาทในรุ่น E และ 973,000 บาท ในรุ่น EL ซึ่งสองรุ่นย่อยมีจุดที่แตกต่างกัน คือ EL จะได้ล้อแม็กขนาด 17 นิ้ว (E ขนาด 16 นิ้ว) Paddle Shift ภายในสีดำ กระจังหน้าแบบ Piano Black ไฟตัดหมอกLED กระจกมองข้างพับเก็บอัตมัติ และถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (E 4 จุด) พิจารณาแล้วรุ่น E จะตอบโจทย์ความคุ้มค่ามากกว่า EL

หากเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ฮอนด้า BR-V จะมีค่าตัวที่สูงกว่าในระดับหลักแสนบาท ฉะนั้น BR-V จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับครอบครัวฮอนดัาพันธ์แท้ โดยทีมผู้บริหารฮอนด้าตอบคำถามในเรื่องของการตั้งราคาว่า “สมเหตุผลแล้ว” และมีการวางเป้าหมายการขายเอาไว้เพียง 3,000 คัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีแรกของการทำตลาด โดยไม่มีแผนทำรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริดแต่อย่างใด




10. เหมาะกับใคร

BR-V เป็นรถที่เหมาะสมกับครอบครัว เน้นการใช้งานในเมืองเป็นหลัก ซึ่งผู้ซื้อต้องรักในแบรนด์ฮอนด้าอย่างสูง มีความเชื่อมั่นในด้านการบริการหลังการขาย และราคาขายต่อที่น่าจะดีกว่าแบรนด์อื่นๆ รวมถึงการมีรถพร้อมส่งมอบได้ทันที ต่างจากรุ่นอื่นของฮอนด้าที่ต้องรอนานระดับ 3-4 เดือนขึ้นไป ส่วนจะให้สรุปว่า “แพง” หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ว่า คุณพึงพอใจแค่ไหน ส่วนความเห็นของเรา “ยังไม่ตอบโจทย์และไม่ตรงจริต”



เบาะแถวที่สามนั่งได้ แต่ถ้านั่งทางไกลอาจจะเมื่อยได้ และแอร์ต้องเปิดเบอร์แรงสุดจึงจะเย็นพอ

เบาะนั่งแถวที่สองกว้างขวางดี

แอร์แถวที่สองมีคอยล์เย็น

ชุดเกียร์ CVT


กำลังโหลดความคิดเห็น