ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าสนใจคือ การที่ BYD บริษัทรถยนต์ของจีนซึ่งมี Warren Buffet มหาเศรษฐีของโลกเข้าไปถือหุ้นด้วยนั้น สามารถทำตัวเลขยอดขายแซงหน้า Tesla และขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลกที่มียอดขายสูงสุด ตรงนี้เรียกเสียงฮือฮาได้ชั่วครู่ และขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงการหยิบประเด็นนี้มาเล่นของสื่อมวลชนว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือเจาะลึกลงไปให้ชัดเจน
ตามหัวข้อข่าวนั้นยึดตัวเลขจากข้อมูลที่ BYD ทำการ Tweet ออกมาทาง Twitter ซึ่งระบุว่า ทางแบรนด์มียอดขายรวมในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มากกว่า 640,000 คัน และเฉพาะในเดือนมิถุนายนมียอดขายรถยนต์ที่เรียกว่า NEV หรือ New Energy Vehicle มากถึง 134,036 คันหรือเพิ่มขึ้น. 126% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตามมา
NEV ไม่ใช่ BEV แต่มี BEV รวมอยู่ข้างใน
NEV หรือ New Energy Vehicle คือ นิยามศัพท์ที่รัฐบาลจีนใช้เรียกรถยนต์ที่มีการเสียบปลั๊ก ซึ่งนั่นหมายความถึงรถยนต์พลังไฟฟ้า BEV หรือ Battery Electric Vehicle และ Battery Electric Vehicle หรือ Plug-in Hybrid Electric Vehicle ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ยังเป็นไฮบริดมีเครื่องยนต์สันดาปภายในร่วมอยู่ในระบบรวมอยู่ด้วย ซึ่งบางที่คำว่า NEV อาจจะรวมถึงรถยนต์ไฮบริดที่เราคุ้นเคยกันมานาน และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงหรือ FCEV-Fuel Cell Electric Vehicle รวมอยู่ด้วย
ดังนั้น เมื่อ BYD ประกาศตัวเลขออกมานั้นถือเป็นตัวเลขที่รวมทั้ง 2 รูปแบบการขับเคลื่อนที่พวกเขามีขายอยู่ในตลาดเข้าไปด้วย ซึ่งจะต่างจากที่ Tesla มีนั่นคือ รถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV เพียงอย่างเดียว
นั่นก็เลยทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าสุดท้ายแล้ว BYD ขึ้นแท่นตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า (BEV) แทนที่ Tesla จริงหรือ เพราะถ้านับจริงๆ แล้ว ยังไม่ใช่เพราะจากการเปิดเผยตัวเลขออกมานั้นพบว่า จากยอดขายรวมรถยนต์แบบ NEV ครึ่งแรกของปี 2022 ของ BYD ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 641,350 คัน ใน 6 เดือนแรกของปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นถึง 315% เมื่อเทียบกับยอดขายช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่จำนวนทั้งหมดเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV 323,519 คันที่เหลือเป็นรถยนต์แบบ PHEV
ขณะที่ Tesla ซึ่งมีแต่รถยนต์พลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว มีตัวเขยอดขายอยู่ที่ 564,743 คัน และแน่นอนว่าทั้งหมดนั้นคือรถยนต์พลังไฟฟ้าล้วน นั่นหมายความว่า Tesla นั้นยังคงเป็นหมายเลข 1 ของค่ายผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า ไม่ใช่รวม PHEV เข้าไป
แต่ก็ยังเป็นผู้เล่นที่น่าจับตามอง
BYD ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์จีนที่ย่อมาจาก Build Your Dream ก่อตั้งโดย Wang Chuanfu ตั้งแต่ปี 1995 หรือราว 26 ปีก่อน และในช่วงที่ผ่านมาพยายามผลักดันตัวเองขึ้นสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าออกสู่ตลาด จนในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกด้วยตัวเลขการประเมินเมื่อปี 2021 อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เป็นรองแค่ Tesla (อันดับที่ 1 มูลค่า 24.3 ล้านล้านบาท) และ Toyota (อันดับที่ 1 มูลค่า 7.2 ล้านล้านบาท)
ถ้ามองในแง่ภาพรวมของตลาดโดยยึดคำว่า NEV เป็นหลักนั้น จริงๆ แล้วสถานการณ์ของ Tesla ตกเป็นรอง BYD มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งในเดือนนั้น BYD มียอดขายรวมในตลาด NEV อยู่ที่ 114,993 คัน ขณะที่ Tesla อยู่ในอันดับที่ 2 มียอดขายเพียง 57,472 คัน และเมื่อรวมกับตัวเลขยอดขายอย่างไม่เป็นทางการของเดือนมิถุนายนนั้น ทำให้ BYD สามารถทำตัวเลขแซงหน้า Tesla ไปได้สำเร็จ
จากการเปิดเผยของ Forbes ระบุว่า ยอดขายช่วงครึ่งแรกของปีนี้ของ BYD ซึ่งมี Warren Buffet มหาเศรษฐีของโลกเข้าไปถือหุ้นด้วยนั้น มียอดขายอยู่ที่ 641,350 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 315% ขณะที่ Tesla มียอดขายอยู่ที่ 564,743 คันหรือเพิ่มขึ้น 46% ซึ่งจาก Twitter ของ BYD นั้นระบุว่าเฉพาะแค่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มียอดขาย 134,036 คันหรือเพิ่มขึ้น. 126% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เชื่อว่าจากทิศทางและแนวโน้มของตลาดที่มีปริมาณความต้องการในด้านรถยนต์พลังไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จะทำให้ BYD และ Tesla สามารถเติบโตได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
โชคและกลยุทธ์ที่ทำให้ BYD แซงหน้าขึ้นมาได้
ถ้ามองในแง่ของยอดขายที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นหลัก ถ้าไม่นับเรื่องความได้เปรียบในแง่ของราคาแล้ว ต้องบอกว่า BYD ได้รับผลประโยชน์จากหลายๆ เรื่องโดยตรงจนทำให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD ที่พุ่งทะยานเป็นผลจากการผลักดันมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนที่จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และอีกสาเหตุสำคัญคือ BYD มีราคาเริ่มต้นที่ราว 32,800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่า Tesla เป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบรถยนต์ในระดับเดียวกัน
นอกจากนั้น สาเหตุที่ Tesla มียอดขายได้ไม่ดีนัก เกิดจากการล็อกดาวน์ในจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลต่อกำลังการผลิตลดลงเป็นอย่างมาก แต่ BYD ได้รับผลกระทบไม่รุนแรงนักเนื่องจากไม่มีโรงงานสำคัญในพื้นที่ล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับความได้เปรียบในเรื่องของการมีบริษัทผลิตชิปอยู่ในเครือด้วยจึงไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์เหมือนกับแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในตลาด
สิ่งที่ทำให้ BYD น่าจับตามองไม่ใช่แค่เรื่องของยอดขาย แต่เป็นเรื่องอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เพราะว่าปัจจุบัน BYD แทบจะเป็นบริษัทที่ผลิตทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ BYD มีเทคโนโลยีที่เป็นสิทธิบัตรจำนวนมาก มีประสบการณ์ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง อีกทั้งสามารถผลิตตัวกักเก็บพลังงาน รวมถึงชิปได้อีกด้วย ทำให้เป็นบริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนต่ำที่สุดในโลก ส่งผลต่อราคาขายของตัวรถที่ทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ในขณะที่ Tesla เพิ่งประกาศปรับราคารถยนต์ของตัวเองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ซึ่งตรงนี้จะส่งผลในการแข่งขันระยะยาวอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ BYD ยังแซงหน้า LG Energy ของเกาหลีใต้ในการขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของการผลิตแบตเตอรี่มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานของ BYD ที่ไม่ได้มองแค่เรื่องของการผลิตตัวรถยนต์เท่านั้น
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อถึงสิ้นปีนี้ BYD จะสามารถผงาด และทำตัวเลขยอดขายไม่ว่าจะในรูปแบบ NEV หรือเฉพาะ BEV ที่แซงหน้า Tesla ไปได้หรือไม่ แต่ถ้าตราบใดที่จีนยังเป็นตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลก การที่ BYD จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำมีความเป็นไปได้สูงมาก เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเท่านั้นเอง