จากแบรนด์ที่ตอนแรกยังไม่ค่อยจริงจังในการรุกตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV เหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์จากฝั่งยุโรป แต่หลังจากคำประกาศของ Akio Toyoda เมื่อปลายปี 2021 ได้เผยถึงแผนการของโตโยต้าในการรุกตลาดประเภทนี้ด้วยเช่นกัน และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์รถยนต์อันดับต้นๆ ของตลาดรถยนต์โลกในด้านยอดจำหน่ายที่มีต่อตลาดประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง
คำกล่าวครั้งนั้น ทางโตโยต้า ประกาศว่านับจากนี้จนถึงปี 2030 ทางโตโยต้าจะเปิดตัวรถยนต์ในกลุ่มเสียบปลั๊กออกสู่ตลาดมากถึง 30 รุ่นพร้อมกับตั้งเป้าในการทำตัวเลขการขายเอาไว้ถึง 3.5 ล้านคัน โดยทางบริษัทยังได้มีการให้คำมั่นว่าจะลงทุน 2 ล้านล้านเยน (17.6 พันล้านดอลลาร์) เพื่อการผลิตแบตเตอรี่ ภายในปี 2030 รวมไปถึงการลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่น ๆ อย่างรถ FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle อีกด้วย
ตรงส่วนท้ายนี่แหละที่ทุกคนสนใจว่า ในเมื่อแบตเตอรี่ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนและถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของบรรดารถยนต์เสียบปลั๊กทั้งหลาย การที่โตโยต้ากล้าประกาศตัวเลขออกมาขนาดนี้ ในขณะที่สถานการณ์ของราคาและปริมาณของแบตเตอรี่ยังอยู่ในระดับที่สร้างความกังวลให้กับแบรนด์รถยนต์ที่ไม่มีซัพพลายเชน ส่วนนี้อยู่ในระบบที่ตัวเองสามารถควบคุมได้ ต้องถือว่าพวกเขาน่าจะมีไพ่เด็ดอยู่ในมือ
ผุดโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่อเมริกา
อย่างที่ทราบกันดีว่า ถ้าโตโยต้าต้องการเป็นผู้นำในด้านยอดขายด้วยตัวเลขที่สูงในระดับนี้นั้น พวกเขาจะต้องสามารถควบคุมเรื่องการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เอาไว้ในมือให้ได้เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของแบตเตอรี่ที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนของรถยนต์ไฟฟ้า
ณ ปัจจุบัน แบตเตอรี่ถูกถือขาดโดยบริษัทจากจีนอย่าง CALT ที่เป็นหมายเลข 1 ของโลก โดยที่มี LGES จากเกาหลีใต้ตามมาติดๆ ขณะที่บริษัทของญี่ปุ่นเองยังถือว่าห่างไกลจากการควบคุมกลไกของตลาดประเภทนี้ทั้งเรื่องของจำนวนการผลิตและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิต
ไพ่เด็ดที่ว่าถูกเปิดเผยออกมาช่วงที่เรียกว่าใกล้เคียงกับการประกาศของโตโยต้า นั่นคือ การประกาศลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกของตัวเองที่มลรัฐ North Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเงินลงทุนราวๆ 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโรงงานแห่งนี้จะเน้นการผลิตเพื่อนำแบตเตอรี่มาป้อนให้กับผลผลิตของตัวเองที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งโตโยต้ายังมองว่าเป็นตลาดใหญ่และมีความสำคัญสำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV
โรงงานแห่งนี้จะมีการถือหุ้นมากถึง 90% โดยทางโตโยต้า พร้อมการสร้างงานให้กับชาวอเมริกันได้ถึง 1,750 คนและเริ่มผลิตแบตเตอรี่ได้ในปี 2025 ซึ่งเป็นปีที่ โตโยต้า จะเริ่มทยอยปล่อยรถยนต์พลังไฟฟ้าของตัวเองออกสู่ตลาด ส่วนสถานที่ตั้งของโรงงานยังไม่มีการเปิดเผยออกมาตอนนี้ แต่คาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มปลายปี 2022 ส่วนกำลังการผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ราวๆ 800,000-1.2 ล้านชุดต่อปี
นอกจากนั้น สิ่งนี้ยังถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันในคำกล่าวของโตโยต้าต้องการให้การผลิตรถยนต์เสียบปลั๊กของตัวเองไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนจะต้องอยู่ภายใต้บริษัทในเครือ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างแบตเตอรี่ เพื่อประโยชน์หลายๆ ด้านทั้งเรื่องการผลิตและคุณภาพของตัวแบตเตอรี่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญการสร้างความมั่นใจให้กับรถยนต์ของโตโยต้า
Panasonics อีกพันธมิตรที่จะช่วยสานฝัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพานาโซนิค (Panasonics) และโตโยต้า มีสัมพันธ์ที่ดีกันมาโดยตลอด และแน่นอนว่าในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ในรูปแบบต่างๆ ทางบริษัทแห่งนี้ย่อมวางแผนในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปของตลาดรถยนต์ ซึ่งแบตเตอรี่ในรถยนต์พลังไฟฟ้ากำลังทวีความสำคัญ
หลังการประกาศก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ โตโยต้า ในปลายปี 2021 ทางพานาโซนิคเองก็ไม่รอช้าที่วางตัวเองให้เป็นผู้สนับสนุนในด้านการผลิตแบตเตอรี่เพื่อป้อนให้กับบริษัทรถยนต์ และจากข่าวล่าสุดที่เปิดเผยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางพานาโซนิค กำลังกว้านซื้อที่ดินในเมือง Oklahoma และ Kansas ในสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์พลังไฟฟ้า ซึ่งลูกค้าหลักของพวกเขาคือเทสลา( Tesla ) และโตโยต้าก่อนที่ล่าสุดจะมีการยืนยันว่า โรงงานแห่งใหม่ของพานาโซนิค จะอยู่ที่ Kansas และมีพนักงานประจำอยู่ที่นี่มากถึง 4,000 คน
ลงทุนครั้งใหม่ 1.8 พันล้านที่อินโดนีเซีย
ทิ้งระยะจากการลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่ที่อเมริกาได้ไม่นาน และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาโตโยต้า ควักเงินลงทุนจำนวน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าที่อินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้ถือเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่สำหรับบริษัทแบตเตอรี่และรถยนต์พลังไฟฟ้า
อินโดนีเซียมีการประกาศนโยบายออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2021 แล้ว พร้อมกับปวารณาตัวเองเป็น Integrated electric vehicle (EV) supply chain and become an EV battery producer and exporter พูดง่ายๆ คือ กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และด้วยความที่เป็นเจ้าแห่งทรัพยากรต้นทางที่สามารถนำไปสู่การผลิตแบตเตอรี่ได้ ทำให้พวกเขาสามารถต่อรองและมีเหตุผลที่ดีพอในการดึงดูดความสามารถใจของบรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย เช่นเดียวกับความพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดเป็น Supply Chain ที่เอื้อและสนับสนุนการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV
นอกจากนั้น จากการที่อินโดนีเซียมีความร่ำรวยในแร่ธาตุ โดยเฉพาะนิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ และไม่ใช่เฉพาะโตโยต้า เท่านั้นที่สนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ยังมีทั้งเทสลาซึ่งให้ความสนใจและ Elon Musk ก็เดินทางมาที่นี่เพื่อพูดคุยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ LG และ Samsung จากเกาหลีก็เล็งเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในตอนนี้เองทาง LG ซึ่งดำเนินการผ่านทาง LG Energy Solution ได้ประกาศโครงการมูลค่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับการร่วมทุนของรัฐบาลอินโดนีเซียผ่านทางบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาอย่าง IBC หรือ Indonesia Battery Corporation หลังจากที่มีการเจรจากันมาตั้งแต่ปลายปี 2021 ส่วนฮุนไดก็เล็งอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าแห่งใหม่ของพวกเขาด้วยเช่นกัน
อนาคตของอินโดนีเซียกับแผน โตโยต้า
ที่ผ่านมาโตโยต้ายังไม่มีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนหรือ BEV ออกวางขายในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว พวกเขาเน้นการทำตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกด้วยระบบไฮบริด ทั้งแบบ Parallel และ PHEV หรือ Plug-in Electric Vehicle และที่มีความใกล้เคียงสุดคือ Mirai ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าก็จริง แต่มาในรูปแบบของ FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle ซึ่งใช้ไฮโดรเจนเหลวที่ถูกเก็บอยู่ในถังแรงดันสูงเป็นตัวสร้างกระแสไฟฟ้าผ่านทาง Fuel Cell Stack
ดังนั้นโตโยต้ากับการลงทุนในด้านโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้น่าจะเรียกว่าเป็นของใหม่เลยก็ว่าได้
สำหรับข่าวใหม่ล่าสุดที่เชื่อมโยงกับทางโตโยต้า และอินโดนีเซียในการก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้านั้นได้รับการเปิดเผยผ่านทาง Reuter ที่อ้างคำกล่าวของ Airlangga Hartarto รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจที่ได้เข้าพบกับ Shigeru Hayakawa รองประธานของ Toyota Motors ที่โตเกียว โดยระบุว่าทางแบรนด์รถยนต์หมายเลข 1 ของญี่ปุ่นจะลงทุนจำนวน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ประเภทนี้ออกขายโดยคาดว่าน่าจะเริ่มในช่วงปี 2025 เป็นอย่างเร็วที่สุด โดยเน้นไปที่การผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าเป็นหลัก
โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2019 ทางโตโยต้า ให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการลงทุนที่นี่ไปแล้วมากกว่า 14 ล้านล้านรูเปียร์ ขณะเดียวกันในแง่ของตลาด ถือว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนด้วยตัวเลข 270 ล้านคน และนโยบายในด้านการขับเคลื่อนประเทศของพวกเขายังมีความชัดเจน โดยระบุว่าภายในปี 2030 จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้า 2.2 ล้านคัน และภายในปี 2050 รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งหรือมอเตอร์ไซค์จะต้องขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
หลังจากที่ถูกมองว่าไม่ได้สนใจในตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้า BEV มาโดยตลอด ตอนนี้ โตโยต้าแสดงให้เห็นถึงการทำงานและการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทเพื่อเข้าสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือ ก้าวแรกของการขยับตัวที่จะต้องมีก้าวที่ 2 และ 3 ตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะเชื่อว่าขึ้นชื่อว่า โตโยต้าแล้ว พวกเขาตั้งเป้าไว้สูงและไม่ยอมเป็นเบอร์รองๆ อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นตลาดประเภทไหนก็ตาม