xs
xsm
sm
md
lg

บ๊อซ ร่วมทุกภาคส่วนวิจัยสร้างเทคโนโลยีปกป้องชีวิต เหตุอุบัติเหตุบนถนน 1.3 ล้านคนทั่วโลก เอเชียเสียชีวิตมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บ๊อชเผยความปลอดภัยบนถนนต้องมาจากความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วน อุบัติเหตุทางถนนคือสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตในประเทศไทย งานวิจัยด้านอุบัติเหตุของบ๊อช พบว่า 72 % ของอุบัติเหตุจากการชนท้ายที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสามารหลีกเลี่ยงได้ด้วยระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติด้วยการต่อยอดจากระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในรถยนต์ บ๊อช พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แบบเรดาร์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการขับขี่รถจักรยานยนต์

อุบัติเหตุที่เกิดกับยานพาหนะไม่ได้เป็นเพียงการปะทะกันของวัตถุสองอย่างเท่านั้น แต่เป็นการบรรจบกันของหลายองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการชนปะทะอย่างกะทันหันและมักมีผู้เสียชีวิต ความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์คือสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เลวร้าย ถนนชำรุดหรือมีไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ป้ายจราจรมีจำกัด คนเดินเท้าหรือสัตว์ข้ามถนนตัดหน้า ตลอดจนการชำรุดของยานพาหนะที่อาจเกิดจากความบกพร่องในการออกแบบหรือขาดการดูแลรักษา รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน 1.3 ล้านคนทั่วโลก ผลวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า 60 % ของอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย

มีการคาดการณ์ว่าในแต่ละวัน ประเทศไทยมีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต 60 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 500 ราย และ 20 รายต้องกลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลในปี 2564 พบว่าประเทศไทยมีรถจักรยานยนต์ประมาณ 21.7 ล้านคัน อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์โดยมีอัตราส่วนการเสียชีวิต 3 ใน 4 ราย ทำให้ไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บ๊อช เชื่อมั่นว่าการเพิ่มความปลอดภัยจราจรจะบรรลุผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ด้วยการใช้ข้อมูลอุบัติเหตุอย่างรอบด้านเพื่อพัฒนาและดำเนินมาตรการปกป้องชีวิตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงไม่ใช่การคาดการณ์ การวิจัยอุบัติเหตุต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อทำความเข้าใจในต้นตอของสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุยานยนต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต


การวิจัยอุบัติเหตุทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ

ประเทศไทยกำหนดนโยบายสาธารณะและจัดลำดับความสำคัญเพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาโครงสร้างของอุบัติเหตุทางถนนอย่างครอบคลุม บ๊อช แนะนำแนวทางแบบครบวงจรในการวิเคราะห์ความสำคัญของสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งข้อมูลที่ถูกรวบรวมจากการตรวจสอบในสถานที่เกิดเหตุจะถูกวิเคราะห์เพื่อระบุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลังจากนั้นจะมีการสรุปต้นเหตุ ความรุนแรง และสถิติของอุบัติเหตุ พร้อมกับการคาดการณ์ประโยชน์ของการดำเนินมาตรการเชิงป้องกัน โธมัส ลิช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสฝ่ายการวิจัยอุบัติเหตุของบ๊อช อธิบายว่า “ระเบียบวิธีวิจัยเช่นนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้รถยนต์มีความปลอดภัยมากขึ้นและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การบังคับใช้กฎหมาย และการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน”


เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมีความจำเป็นสำหรับการคมนาคมยุคใหม่

การจราจรมีปริมาณหนาแน่นมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง พื้นที่ที่แออัดยิ่งขึ้นและยานพาหนะที่มีจำนวนมากขึ้นยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ TomTom รายงานว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 ของเมืองที่มีความหนาแน่นบนถนนสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ กุญแจสำคัญที่นำไปสู่การเพิ่มความปลอดภัยได้อย่างมีนัยสำคัญและลดความเครียดบนถนนคือระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ทันสมัยซึ่งช่วยได้ทั้งป้องกันอุบัติเหตุและลดความสูญเสีย

ระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติหรือ AEB (Automatic Emergency Braking) ทำงานด้วยเครือข่ายเซ็นเซอร์ในระบบควบคุมเสถียรภาพอิเลคโทรนิค (ESC) ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุด้วยการวิเคราะห์การจราจรด้านหน้าอย่างต่อเนื่องและตรวจจับวัตถุที่อยู่นิ่งหรือเคลื่อนที่อยู่ใกล้ในระดับเฝ้าระวัง ระบบ AEB ยังช่วยเบรกในเบื้องต้นเพื่อลดความเร็ว แต่หากผู้ขับขี่ไม่ตอบสนอง ระบบ AEB จะสั่งการระบบเบรกเต็มกำลังเพื่อป้องกันการชนท้าย ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนได้ อย่างน้อย การทำงานของระบบนี้สามารถจะช่วยลดแรงปะทะและลดอาการบาดเจ็บของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ในส่วนของเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ บ๊อช ได้ยกระดับความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ให้สูงขึ้นอย่างมากด้วยระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อย่างระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบควบคุมเสถียรภาพรถจักรยานยนต์ MSC รายงานฉบับเดียวกันขององค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และคนเดินเท้าคือกลุ่มเคราะห์ร้ายที่มีความเสี่ยงมากที่สุด โดยมีอัตราส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุทางถนน บ๊อช เปิดตัวอีกระดับของเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แบบเรดาร์ (ARAS) ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ยานยนต์ที่ใช้เซ็นเซอร์เรดาร์

ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อย่างระบบตรวจจับมุมอับสายตาช่วยเฝ้าระวังทุกทิศทางเพื่อให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถเปลี่ยนช่องจราจรอย่างปลอดภัย เซ็นเซอร์เรดาร์ทำงานเหมือนเป็นดวงตาของระบบตรวจจับมุมอับสายตาด้วยการระบุวัตถุที่อยู่ในพื้นที่ที่ยากแก่การมองเห็น เมื่อใดก็ตามที่มียานพาหนะอยู่ในมุมอับสายตาของผู้ขับขี่ เทคโนโลยีนี้จะเตือนด้วยสัญญาณภาพ อาทิ บนกระจกมองข้าง อีกหนึ่งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ล้ำสมัยคือระบบล็อกความเร็วแบบแปรผันหรือ ACC (adaptive cruise control) ช่วยปรับความเร็วของตัวรถให้เคลื่อนที่ไปตามสภาพจราจรและรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนี้ช่วยป้องกันการชนท้ายซึ่งเกิดจากการรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าไม่มากพอ และช่วยให้ผู้ขับขี่มีสมาธิ นอกจากนี้ ระบบ ARAS ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยด้วยการแจ้งเตือนการชน ลดความเสี่ยงต่อการชนท้ายหรือบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ


โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อชประเทศไทย
90 % ของอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์


มีความเสี่ยงมากมายที่ถูกมองข้ามหรือสถานการณ์ที่มีการตัดสินใจผิดพลาดบนถนน ส่งผลให้ผู้ขับขี่ตอบสนองช้าเกินไปหรือไม่ถูกต้อง บ๊อช ใช้แนวทางการดำเนินงานแบบองค์รวมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ ด้วยการผสมผสานความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทั้งหมดจากขอบเขตต่าง ๆ อย่างหลักทางกลศาสตร์ อิเลคโทรนิคส์ การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงระบบเทเลมาติกส์

เพื่อพัฒนาแนวคิดนี้ให้ก้าวล้ำ จำเป็นต้องมีโซลูชั่นอย่างระบบเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่สามารถตรวจจับพฤติกรรมสำคัญอย่างการขาดสมาธิของผู้ขับขี่และอาการง่วงนอน นอกจากการใช้งานแอพพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยที่หลากหลายแล้วนั้น โซลูชั่นนี้ยังมีการตอบสนองต่อการสั่งการด้วยนวัตกรรมหลายแบบ อย่างการเคลื่อนไหวมือเพื่อสั่งการทำงานของระบบอินโฟเทนเมนท์โดยที่ไม่รบกวนสมาธิ ระบบเฝ้าระวังในห้องโดยสารของยานยนต์แห่งอนาคตมีความจำเป็นอย่างยิ่งในยานพาหนะที่ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ขับขี่สามารถควบคุมตัวรถในสถานการณ์ที่จำเป็น

ความมุ่งมั่นร่วมกัน

รายงานขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปีพ.ศ. 2561 ระบุว่า อุบัติเหตุบนถนนส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ 3 รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าอุบัติเหตุทางถนนจะกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 7 ภายในปีพ.ศ. 2573 หากไม่มีการดำเนินมาตรการที่ยั่งยืน

“นอกจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความโศกเศร้าและการพลัดพราก” โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อชประเทศไทย และประเทศลาวกล่าว “บ๊อช เดินหน้าลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างมหาศาล มุ่งเน้นสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยปกป้องชีวิต ทั้งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่และการสร้างโซลูชั่นส์ที่ช่วยให้รถยนต์และท้องถนนมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น”

บ๊อช ในฐานะพันธมิตรและผู้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 มีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเติมเต็มในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมคือกุญแจสำคัญสู่การยกระดับความปลอดภัยทางถนน


กำลังโหลดความคิดเห็น