xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแบรนด์ซูเปอร์คาร์ ต้องรับมือกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การที่โลกกำลังหมุนไปสู่ยุคของการขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ แล้วผู้ผลิตรถสปอร์ต ที่เป็นแบรนด์ซูเปอร์คาร์จะต้องทำตัวกันอย่างไร ? พวกเขาจะยกเลิกการผลิตรถสปอร์ตที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในแล้วหันไปคบกับมอเตอร์ไฟฟ้าแทนหรือไม่ ? เพราะจริงอยู่ที่มอเตอร์ไฟฟ้าสามารถเสกแรงบิดอันมหาศาลเพื่อกระชากให้หลังคนขับได้ติดเบาะชนิดที่อาจจะมากกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่ทว่าสิ่งที่ขาดหายไปคือ เสน่ห์ของการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งในแง่สัมผัสและความรู้สึก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโจทย์ที่หินเอาการ สำหรับแบรนด์ต่างๆ ที่นอกจากจะต้องขายของด้วยการชูเรื่องสมรรถนะของตัวรถแล้ว ยังจะต้องมีจุดขายในเรื่องของสัมผัสและประสบการณ์ในการขับขี่ด้วย

Ferrari SF90 Stradale รถปลั๊กอินไฮบริด
เลี่ยงได้หรือไม่ได้

แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่แบรนด์ซูเปอร์คาร์ทั้งหลายไม่สามารถที่จะหนีวัฏจักรของความเปลี่ยนแปลงไปได้ หลังจากที่หลายค่ายซื้อเวลาด้วยการนำเทคโนโลยีไฮบริดเข้ามาคั่นกลางเอาไว้ก่อน Ferrari ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนในด้านการผลิตและพัฒนารถสปอร์ตของตัวเองเสมอมา ก็ยังต้องประกาศแนวทางในการดำเนินการของบริษัท ที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย โดยเฉพาะเรื่องการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV

เมื่อช่วงนี้ของปี 2564 ทาง John Elkann ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ferrari แจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า บริษัทจะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกในปี 2568 เร็วกว่าที่เคยกำหนดไว้ในปี 2562 ที่จะเปิดตัวหลังจากปี 2568 และไม่ได้ระบุช่วงระยะเวลาชัดเจน เช่นเดียวกับรุ่นรถยนต์ที่จะเป็นตัวจุดชนวนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแบรนด์



สิ่งนี้คือ การยืนยันให้เห็นว่าแม้แต่แบรนด์ระดับไฮเอนด์ก็ไม่สามารถฝืนกระแสต่อความเปลี่ยนแปลงไปได้ และจริงแล้วเรื่องนี้ทาง Ferrari สะท้อนให้เห็นมาตั้งแต่การเปิดตัวของ LaFerrari ที่เปิดตัวในปี 2556 กับการนำเทคโนโลยี KERS จากสนามแข่ง F1 มาใช้ในการพัฒนาสำหรับรถสปอร์ตใช้งานบนท้องถนน และตอนนั้น ก็ไม่ได้มีเสียงต่อต้านอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการมีพื้นฐานมาจากสนามแข่ง F1 ของตัวระบบ


อย่างไรก็ตาม หลายคนก็มองว่า นี่คือ การโยนหินถามทางครั้งแรกของ Ferrari เพื่อหยั่งกระแสตอบรับของตลาด และผลก็ออกมาค่อนข้างดีทั้งในเรื่องของลูกค้า และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะเมื่อดูจากตัวเลขของการนำออกประมูลหลังจากที่เลิกผลิตเพื่อนำเงินช่วยเหลือองค์กรการกุศลเมื่อปี 2559 รถสปอร์ตรุ่นนี้ก็ปิดยอดประมูลไปได้ถึง 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าราคาป้ายในตลาดหลายเท่าตัว ส่วนอีกคันที่ประมูลปลายปีเดียวกันก็จบไปที่ 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถึงกับมีการยอมรับว่านี่คือรถสปอร์ตที่เกิดในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีราคาประมูลสูงสุด

เหนืออื่นใด เป็นการแสดงให้เห็นกลายๆ ว่า ถ้า Ferrari จะไม่ใช่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร กับการยอมรับของกลุ่มแฟนๆ

Lotus Evija เป็นรถไฟฟ้าล้วน
ขณะที่แบรนด์ซูเปอร์คาร์อย่าง Porsche กลับไม่แคร์เรื่องนี้เท่าไร และวางแผนรวมถึงนโยบายในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากพวกเขาเปิดตัว Taycan ออกมาในปี 2562 พร้อมกับการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่ Porsche ดำเนินมา คือ การเลือกที่จะเปิดตัวรถยนต์พลังไฟฟ้าบนตัวถังแบบใหม่เลย และยังไม่ไปแตะโมเดลในกลุ่มรถสปอร์ตอย่าง 911 เพื่อสร้างความคุ้นเคยและลดแรงต้านที่อาจจะเกิดขึ้นจากบรรดาแฟนๆ หัวอนุรักษ์นิยม และดูเหมือนว่าวิธีนี้จะได้ผลอย่างมาก


หลายแบรนด์ต้องพลิกตัวตาม

แน่นอนว่าการเข้ามาของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตคือ เส้นทางที่ทุกแบรนด์ไม่ว่าจะผลิตรถยนต์ประเภทไหนจะต้องมุ่งหน้าไป และหลายค่ายที่มีรถสปอร์ตอยู่ในตลาดก็ประกาศยืนยันอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ เช่น General Motors หรือ GM ที่ย้ำชัดว่า รถสปอร์ตอย่าง Corvette ที่ถือเป็น Iconic ของ American Muscle Car จะหันมาขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าสำหรับรุ่นล่าสุดอย่างรหัสตัวถัง C8 โดยในช่วงแรกจะเปิดตัวเวอร์ชันไฮบริดออกมาก่อนในปี 2566 จากนั้นค่อยมีรุ่นพลังไฟฟ้าล้วนตามออกมาในภายหลัง

McLaren Artura  เป็นรถปลั๊กอินไฮบริด
ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบก็อยู่ข้างบนแล้ว เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และแบรนด์ระดับท็อปๆ ของกลุ่มนี้ก็ไม่ได้กังวลในเรื่องที่พวกเขาจะขายรถสปอร์ตสมรรถนะสูงที่มากับเครื่องยนต์ไฮบริด หรือพลังไฟฟ้าล้วน เพราะมีการปูทางและให้ลูกค้าได้มีโอกาสปรับตัวและทัศนคติมาสักระยะหนึ่งแล้ว และผลก็ออกมาอย่างที่เห็นคือ รับได้


ส่วนอีกเรื่องคือ การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้านั้น ให้สมรรถนะและพลังในช่วงเวลาหนึ่งที่เหนือกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะในช่วงออกตัว ความง่ายของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทำให้สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้ง่ายตามไปด้วย ยกเว้นเรื่องเดียวที่ยังไม่สามารถจัดการได้คือ แบตเตอรี่จะต้องรองรับกับการใช้งานแบบโหดๆ ซึ่งจากการเปิดเผยของ GM ระบุว่าในรุ่นไฮบริดของ Corvette C8 อาจจะมีกำลังอยู่ที่ 500 แรงม้า แต่ถ้าเป็นรุ่น EV จะขยับขึ้นเป็น 1,000 แรงม้าเลยทีเดียว เพียงแต่สิ่งที่หายไปและอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวคือ ประสบการณ์แห่งความเร้าใจของเสียงคำรามของเครื่องยนต์เวลาที่กดคันเร่งลากรอบสูงๆ ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือปัญหาหนึ่งที่ลูกค้ารถสปอร์ตยังอยากจะให้มี


ขณะที่ Aston Martin ก็เป็นอีกค่ายที่ต้องปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง และก็เป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ เริ่มต้นด้วยเครื่องยนต์ไฮบริด ก่อนที่จะพาไปสัมผัสกับการขับเคลื่อนในแบบไฟฟ้า 100% โดยทางผู้บริหารของแบรนด์ยืนยันว่า รถสปอร์ตพลังไฟฟ้าของแบรนด์มีขายแน่นอน แต่ต้องรอจนถึงปี 2568 และจะเลิกการผลิตรถสปอร์ตที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไม่เกินปี 2030


ส่วน Lotus หลังจากเปิดตัว Evija ออกมาแล้ว พวกเขาก็โปรเจ็กต์รถสปอร์ตพลังไฟฟ้ารุ่นใหม่รอคิวอยู่ในแถวทันที แต่จะต้องรอเปิดตัวในปี 2571

Chevrolet Corvette C8 จะมีการผลิตรุ่น ไฮบริดออกมาก่อน จากนั้นจะถึงคิวของรุ่นไฟฟ้าล้วนในปี 2025
ผลิตง่ายก็จริง แต่มีปัญหารอแก้ไข

ในแง่ของการผลิต รถสปอร์ตก็ไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไป เวอร์ชันพลังไฟฟ้านั้นผลิตง่ายกว่า เพราะมีชิ้นส่วนน้อยกว่า แต่สิ่งที่ต้องกังวล คือ เรื่องแบตเตอรี่ใน 2 จุด คือ ประสิทธิภาพของตัวแบตเตอรี่ในการรองรับกับการขับแบบสปอร์ต และความจุของแบตเตอรี่ต่อน้ำหนัก

Aston Martin Valhalla  รถไฮบริด
ข้อแรกถือว่าสำคัญ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของระยะทางที่ทำได้ต่อการขับ 1 ครั้ง ส่วนเรื่องหลังนั้นจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะโดยตรง เพราะอย่างที่ทราบดี ถ้าคุณต้องการแบตเตอรี่ที่มีความจุเยอะ สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยคือ ระยะเวลาในการชาร์จ 1 ครั้ง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจนอาจจะส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ ซึ่งกับเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่มีอยู่ตอนนี้ ยังถือว่ารองรับกับเรื่องนี้ไม่ได้อย่างเต็มรูปแบบ และอาจจะต้องรอให้เทคโนโลยีในการพัฒนาแบตเตอรี่สามารถเดินหน้าไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


แต่ก็เชื่อว่าเมื่อตลาดเปลี่ยนไป และความต้องการของแบตเตอรี่มีเพิ่มขึ้น การปรับปรุงและพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีกำลังต่อน้ำหนักที่ลดลงนั้นย่อมต้องมีการเปิดตัวออกมาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าจะยังไม่ได้มีการขยายตัวเร็วอย่างที่คิด แต่ทว่ายอดขายในปีที่แล้วก็ถือว่าไม่ธรรมดา และทำให้เชื่อว่านี่คือ เทคโนโลยีแห่งความหวังในการขับเคลื่อนมนุษยชาติ และไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับบ้านๆ หรือซูเปอร์คาร์ไฮเอนด์ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น