xs
xsm
sm
md
lg

Mitsubishi Xpander ไมเนอร์เชนจ์ ขับสมดุลดีเพื่อครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ (Mitsubishi Xpander) ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในการปลุกตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็กให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้งหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อราวปี 2018 หรือราวเกือบ 4 ปีที่แล้ว สร้างยอดขายในระดับที่มากกว่า 10,000 คันต่อปี เป็นผู้นำของเซกเมนท์นี้ โดยจะว่าไปแล้ว เอ็กซ์แพนเดอร์ ถือว่าเป็นรถลูกผสมระหว่าง MPV และ SUV อันเป็นจุดเด่นที่ทำให้เอ็กซ์แพนเดอร์แตกต่างจากคู่แข่ง


อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงโฉมหรือไมเนอร์เชนจ์ มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย จัดชุดใหญ่ให้กับ เอ็กซ์แพนเดอร์ เพื่อรับมือกับคู่แข่งรายใหม่อย่าง โตโยต้า เวลอซ ที่เปิดตัวก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้มิตซูบิชิต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการขอทำราคาใหม่เพื่อให้แข่งขันได้ เนื่องจากราคาที่โตโยต้า ขาย เวลอซ นั้นถือว่า ต่ำกว่าเอ็กซ์แพนเดอร์ ไมเนอร์เชนจ์ ที่เตรียมจะประกาศ


แต่สุดท้าย มิตซูบิชิ ประกาศราคา เอ็กซ์แพนเดอร์ เริ่มที่ 799,000 – 895,000 บาท ขยับราคาเพิ่มขึ้นและแพงกว่าโตโยต้า เวลอซ ฉะนั้นแล้ว ลองมาชมกันว่า เอ็กซ์แพนเดอร์ มีอะไรใหม่ และขับขี่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่งรวบรวมมานำเสนอ




ปรับชุดใหญ่ เกียร์+ภายใน

การปรับเปลี่ยนของเอ็กซ์แพนเดอร์ ขอเริ่มด้วยดีไซน์ภายนอก ที่ปรับใหม่ทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง ดูแล้วโฉบเฉี่ยวมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ไฟหน้ายังไม่มี Daytime Running Light และดวงไฟยังไม่ใช่ LED ซึ่งจุดนี้ทางทีมมิตซูบิชิรับทราบข้อมูลแล้ว เพราะถือว่าเป็นจุดสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าด้วย

โครงสร้างตัวถังยังเหมือนเดิม ทว่าได้มีการปรับความสูงใต้ท้องรถจากเดิมยกขึ้นอีก 15 มม. ทำให้มีระยะต่ำสุดจากพื้น 220 มม. ล้อและยางเปลี่ยนมาเป็นขนาด 17นิ้ว รวมถึงมีการเปลี่ยนโช้คอัพด้านหลังใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเทียบเท่ากับที่ใช้ในรุ่นปาเจโร สปอร์ต ส่วนด้านหน้ายังเป็นโช้คอัพเดิม ขณะที่ค่าความแข็งมีการปรับด้วย แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าปรับเป็นอย่างไร


อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการหันมาใช้ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบซีวีที ซึ่งจะมีจุดเด่นในเรื่องของอัตราการบริโภคน้ำมันและความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ แต่จะมีจุดอ่อนในเรื่องของอัตราเร่งจะไม่เร้าใจเท่าเกียร์แบบทอร์คคอนเวริตเทอร์ ซึ่งเราจะนำเสนอในช่วงของการลองขับ นอกจากนั้นยังติดตั้งเบรกมือไฟฟ้าและระบบ Auto Brake Hold มาด้วย

ขณะที่การออกแบบภายในเรียกได้ว่ามีการปรับใหม่เกือบทั้งหมด ทิ้งคราบของโฉมก่อนปรับปรุงไปได้อย่างชัดเจนโดยใช้แนวคิดสีทูโทน จุดแรกเปลี่ยนพวงมาลัยใหม่ ขนาดใหญ่พอดีมือ การบังคับควบคุมง่าย หน้าจอกลางคอนโซลใหม่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 9 นิ้ว พร้อมระบบสัมผัส รองรับการเชื่อมต่อ Apple Carplay ระบบแอร์เปลี่ยนเป็นแบบจอดิจิทัล


เบาะนั่งเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ และใช้วัสดุป้องกันความร้อน เดินด้ายสีขาวตัดเบาะหนังสีดำ พร้อมเพิ่มฟังก์ชันที่คอนโซลกลางให้มีกล่องเก็บกระดาษทิชชูเอาไว้ใช้งานแบบไม่เกะกะ ช่องเสียบ USB จำนวน 2 ช่องที่เบาะนั่งแถวที่สอง พร้อมที่วางแก้วน้ำตรงกลางด้วย โดยระบบแอร์ด้านหลังมีคอยล์เย็นแยกทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้โดยสารด้านหลังจะไม่ร้อนอย่างแน่นอน




























ตอบโจทย์สมดุลครอบครัว

การทดลองขับทีมงานกำหนดเส้นทางกรุงเทพ-ปราณบุรี รวมระยะทางวิ่งไป-กลับราว 800 กม. เรียกว่าได้ขับและนั่งอย่างจุใจ ตรงกับแนวทางการใช้รถเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวแบบครอบครัว ขาดแต่เพียงสมาชิกในรถของเรามี 2 ท่านเท่านั้น จึงสลับกันขับโดยช่วงแรกเราเป็นผู้โดยสารก่อน

การนั่งทางด้านข้างอยู่ในโซนที่หลับไปยาวๆ ได้สบาย ตัวเบาะหนานุ่ม แต่ไม่โอบกระชับ ผิวสัมผัสใหม่ กลับไม่รู้สึกถึงความแตกต่างจากตัวเดิมสักเท่าใดนัก แต่ลูกเล่นต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาในห้องโดยสารเช่น แอร์อัตโนมัติ และหน้าจอขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน


มีบางช่วงเราได้ลองไปนั่งทางด้านเบาะแถวที่สอง แอร์เย็นสบายไม่ต้องกังวล ตัวเบาะนั่งสบายในระดับหนึ่ง จะให้นุ่มสบายเท่ารถราคาเป็นล้านคงยังไม่ใช่ ส่วนการเก็บเสียงทำได้ดี โดยเฉพาะเสียงลมปะทะ สมกับราคาค่าตัว 7-8 แสนกว่าบาท ส่วนเสียงยางบดถนนได้ยินเป็นปกติ ไม่ถึงกับรำคาญ แต่ประการใด

มาถึงช่วงทดลองขับ เราเคยได้ขับมาแล้วในพื้นที่ปิด แบบเปรียบเทียบกับอีก 2 คู่แข่งโดยตรงอย่าง โตโยต้า เวลอซ และซูซูกิ เอ็กซ์แอล7 (ชมคลิป) ฉะนั้นรอบนี้จึงเป็นการขับบนถนนทั่วไปในสถานการณ์จริง ที่บอกตามตรงว่า สภาพถนนนั้นไม่ต่างจากพื้นที่ปิดที่มีการจำลองไว้เท่าใดนัก เพียงแต่จะมีรถอื่นๆ วิ่งและใช้งานด้วยความเร็วสูงได้มากกว่าเท่านั้น


อัตราเร่ง หลังจากที่เปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบซีวีที ยังตอบสนองทันใจพอๆ กับตัวเดิมที่เป็นเกียร์แบบ 4 สปีด โดยดีขึ้นในส่วนของความนุ่มนวลเวลาเร่ง และอัตราการบริโภคน้ำมันตามทฤษฎีที่จะประหยัดขึ้น (ขึ้นกับพฤติกรรมการขับขี่เป็นหลัก) ส่วนจังหวะเร่งแซงย่านความเร็ว 80-120 กม./ชม. แม้จะไม่พุ่งแต่ยังมั่นใจได้ว่าแซงพ้น มีจังหวะรอรอบนิดหน่อย โดยรอบเครื่องยนต์จะสูงมากเป็นพิเศษราว 5-6 พันรอบต่อนาทีเลยทีเดียว

การปรับเปลี่ยนโช้คมาใหม่และการปรับความสูงมากขึ้นในแง่ของการขับขี่ วิ่งด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนดคือ 120 กม./ชม. ยังรู้สึกมั่นใจได้เหมือนเดิม เช่นเดียวกับการวิ่งด้วยความเร็วสูงที่เดิมเราเคยทำไว้สูงสุด 160 กม./ชม. แต่คราวนี้เราทำได้เพียง 150 กม./ชม.


การทรงตัวและเข้าโค้ง ทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ พวงมาลัยเบามือไปสักหน่อยสำหรับผู้เขียน แต่คุณผู้หญิงน่าจะชื่นชอบน้ำหนักของพวงมาลัยแบบนี้ บางช่วงของการเดินทางเราเจอกับคอสะพานหลายครั้งผลงานของเอ็กซ์แพนเดอร์ทำได้ดีเกินกว่าที่คาดเอาไว้ ขณะที่ทางแบบลูกรังขับผ่านได้สบายโดยรับรู้ได้อย่างชัดเจนทุกสภาพพื้นผิว

จุดเด่นของการเดินทางไกลที่ เอ็กซ์แพนเดอร์ มีเหนือกว่าคู่แข่งคือ การมีระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ(Cruise Control) แม้จะมิใช่แบบแปรผันตามคันหน้า แต่ช่วยให้ผ่อนคลายไม่ต้องกดคันเร่งแช่เป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี เรียกว่า เหมาะสำหรับเดินทางไกล ส่วนสิ่งที่เราชอบที่สุดคือ ความสมดุลของพละกำลังและช่วงล่างที่เซ็ตมาให้ความรู้สึกลงตัวได้ใจครอบครัว เพราะไม่แรงจนเกินไป


ขณะที่อุปกรณ์เสริมด้านความปลอดภัยต้องยอมรับว่า เอ็กซ์แพนเดอร์ ให้มาน้อยกว่าคู่แข่งอย่างโตโยต้า เวลอซแบบชัดเจน คือถ้าชอบออปชันเยอะ แน่นอนว่า เวลอซ ชนะเลิศ แต่หากไม่ได้ให้น้ำหนักกับฟังก์ชันด้านความปลอดภัยมากนักแค่เพียงระบบพื้นฐานและถุงลมนิรภัยเพียงพอแล้ว เอ็กซ์แพนเดอร์ ถือว่าให้มาครบถ้วน ด้านอัตราการบริโภคน้ำมัน ขอสารภาพว่า ไม่ได้เก็บตัวเลขมานำเสนอในคราวนี้ ไว้มีโอกาสลองอีกครั้งจะไม่พลาดข้อมูลในส่วนนี้


เหมาะกับใคร

“มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์”ลงตัวอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังมองหารถสำหรับครอบครัว เน้นการขับขี่ทางยาวๆ นอกเมืองเป็นหลักที่เด่นกว่าการขับขี่ในเมือง ส่วนเรื่องของรูปร่างหน้าตาแล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล สำหรับราคาที่เปิดตัวมาด้วยตัวเลข 895,000 บาทในรุ่นท็อปที่เราขับ ถือว่าสูงเกินคาด จะคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นกับว่าคุณให้น้ำหนักตรงจุดใดมากกว่ากัน














กำลังโหลดความคิดเห็น