xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายรถจีนเร่งบุกตลาด BEV ชิงส่วนแบ่ง 80% ของตลาดรวม เน้นกลุ่ม Mass

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังรัฐบาลออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดรถยนต์ BEV ขึ้นในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยให้การสนับสนุนทั้งในส่วนของผู้ซื้อรถยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ และธุรกิจให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า ทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ในประเทศปรับเข้าสู่โหมดการแข่งขันอย่างคึกคักขึ้นทันที ดังเห็นได้จากความสนใจในการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ 2565 นำโดยค่ายรถจีนที่แม้ในแง่ภาพแบรนด์จะยังใหม่และมีฐานตลาดน้อยกว่าเจ้าตลาดเก่า แต่เพราะมีความพร้อมในแง่ของเทคโนโลยีและมีสต๊อกสินค้ามากพอสำหรับนำเข้ามาจำหน่ายได้ทันที จึงอาศัยช่องว่างทางการตลาดในปัจจุบันสร้างฐานลูกค้าได้ก่อนค่ายรถกระแสหลักที่คาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ จุดแข็งสำคัญในการทำตลาดของค่ายรถจีนที่ดูเหมือนจะได้ผลดีมากในปัจจุบัน คือ การเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนของมาตรการทางด้านภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 70,000 – 100,000 บาทมาช่วยกระตุ้น ทำให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมันที่ไม่ได้รับการสนับสนุนของภาครัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลง จึงยิ่งส่งให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้เปรียบในการสร้างความรับรู้และชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ก่อนเลยในทันที ซึ่งนับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ๆที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผู้ซื้อรถยนต์ BEV อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันกันในตลาดกลุ่ม Mass ยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

ส่งผลให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปี 2565 นี้ รถยนต์ BEV สัญชาติจีน จะมีโอกาสสร้างส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 58% ของยอดขายรถยนต์ BEV รวมในปีที่แล้วขึ้นเป็นกว่า 80% ในปีนี้ จากยอดขายรถยนต์ BEV รวมที่คาดว่าจะมีมากกว่า 10,000 คัน ขยายตัวมากกว่า 412.0%(YoY) หลังปีที่แล้วจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกที่ 1,954 คัน โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักนอกจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว อีกกลุ่มที่ช่วยดันยอดให้ขึ้นสู่ตัวเลขดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Fleet องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีศักยภาพในช่วงที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะกำลังซื้อชะลอลง


ส่วนรถยนต์ BEV สัญชาติตะวันตกที่กลุ่มผู้ซื้อมีศักยภาพสูง แม้บางค่ายรถจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการของภาครัฐแต่ก็จะได้แรงกระตุ้นจากอานิสงส์ของการเร่งขยายสถานีชาร์จเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้สูงขึ้น ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นที่อาจเข้ามาทำตลาดได้ช้ากว่าค่ายอื่นจึงทำให้มีช่วงเวลาในการสร้างส่วนแบ่งในตลาดในปี 2565 นี้สั้นกว่า แต่หากทำราคาได้ดีและเหมาะสมเชื่อว่าในปี 2566 อาจมีโอกาสกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดคืนได้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ตลาดรถยนต์ BEV ในปีนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดมาจากแนวทางการส่งเสริมการสร้างตลาดและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้งานรถยนต์ BEV ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากทางภาครัฐ อย่างการใช้มาตรการด้านภาษีรวมถึงการให้เงินสนับสนุนที่ช่วยทำให้ระดับราคาปรับลดลงมาก รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดสถานีชาร์จไฟฟ้า และที่อาจจะได้เห็นตามมาในอนาคต เช่น การช่วยติดตั้งตู้ชาร์จไฟฟ้าให้ที่บ้าน รวมถึงการขอมิเตอร์พิเศษแยกออกจากมิเตอร์ไฟบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้รถยนต์ BEV ที่ขายในประเทศตั้งราคาได้ถูกลง โดยเฉพาะรถยนต์ BEV ระดับ Mass เนื่องจากไม่ต้องมีการคำนวณเงินค่าตู้ชาร์จไฟฟ้าเข้าไปในราคารถยนต์ที่ขาย

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็เล็งเห็นถึงโอกาสเติบโตจึงเร่งเครื่องกระตุ้นตลาด BEV ด้วยอีกทางเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้สินเชื่อพิเศษสำหรับรถยนต์กลุ่ม BEV และการเริ่มหาช่องทางขยายจุดชาร์จไฟฟ้าไปตามสถานที่หลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น อาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น รวมถึงขยายไปทั่วประเทศ ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ BEV สามารถหาสถานที่ชาร์จไฟฟ้าได้สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน อันนำมาซึ่งวิกฤติราคาพลังงานที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะจบเมื่อไหร่ ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นค่าเอฟทีซึ่งมีผลให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นและอีกด้านก็ยังนำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์รวมถึงต้นทุนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอื่นที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทำให้มีโอกาสที่ราคารถยนต์ BEV ของค่ายที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจะปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสที่ความสามารถในการผลิตรถยนต์เพื่อนำเข้ามาขายในไทยอาจจะไม่เพียงพอรองรับคำสั่งซื้อที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยไทยเป็นตลาดรถที่มีระดับราคาขายปลีกสูงกว่าประเทศผู้ผลิตต้นทาง ประกอบกับการแข่งขันเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในตลาดปัจจุบันมีสูงเนื่องจากกำลังได้รับการสนับสนุนด้านราคาจากทางภาครัฐ จึงมีโอกาสที่ค่ายรถอาจดึงรถยนต์ BEV บางส่วนมาเร่งทำตลาดที่ไทยก่อน



ยอดขายรถในประเทศรวมปี 65 ยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและกำลังซื้อที่ชะลอลงจากปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ดันยอดขายปิดที่ราว 825,000 คัน

แม้ปัญหาการระบาดของโควิดในปัจจุบันจะไม่นำไปสู่แนวทางการ ล็อกดาวน์และทำให้เศรษฐกิจไม่หยุดชะงักดังเช่น 1-2 ปีก่อน แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนดังกล่าวซึ่งส่งผลให้ปัญหาชิ้นส่วนรถยนต์อย่างชิปอิเล็กทรอนิกส์ขาดแคลนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และมีผลทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์โลกมีทิศทางชะลอตัวลงไม่เว้นแม้ในไทย โดยเฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนชิปอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ารถปิกอัพ นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากวิกฤติเดียวกันก็ยิ่งส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอลงด้วย จึงมีโอกาสที่รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะได้รับผลกระทบก่อน


โดยรวมแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยปี 2565 นี้อาจทำได้ราว 825,000 คัน หรือขยายตัวราว 8.7% (YoY) จากฐานที่ต่ำมากในปี 2564 ที่ขายได้เพียง 759,119 คัน (ต่ำสุดในรอบ 13 ปี) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นมากจนกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนและราคาน้ำมันมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจปรับลดลงไปได้ถึงระดับ 800,000 คัน เหลือขยายตัวเพียง 5.4% (YoY) แต่หากสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายได้เร็วก็อาจจะทำให้ยอดขายสูงเกินกว่า 825,000 คัน เปรียบเทียบในกรณีไม่มีสงครามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองไว้ว่าน่าจะทำได้ 860,000 คัน ขยายตัว 13.3% (YoY)

โดยรถปิกอัพเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่ารถยนต์นั่งในปี 2565 นี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นน้อยกว่าเพราะภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือด้านราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังคงเดินหน้าก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุน


กำลังโหลดความคิดเห็น