xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จักกับ “จี๊ป” แรงเลอร์-กลาดิเอเตอร์ เรือธงลำแรกหลัง เบลฟอร์ต ออโตโมทิฟได้สิทธิขายในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าจะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการนำแบรนด์รถยนต์ที่หายจากบ้านเราไปนานหลายสิบปีอย่าง Jeep กลับมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่เกิดภาพที่ชัดเจนและเป็นทางการเหมือนกับที่เกิดขึ้นจากบริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมทิฟ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของ Peugeot ในประเทศไทยด้วย เพราะบริษัทแห่งนี้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยกลุ่มสเตลแลนทิส ซึ่งถือสิทธิ์ในการดูแลการทำตลาดรถยนต์ของ Jeep ทั่วโลก ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย พร้อมกับประเดิมตลาดด้วยการเปิดตัวยานยนต์ตัวลุย 2 รุ่นอย่าง Wrangler และ Gladiator


อาจจะชวนแปลกใจสักหน่อย เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อสัก 20 ปีที่แล้วสมัยที่ Jeep ยังมีจำหน่ายอยู่ในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ เราคุ้นเคยกับรถยนต์ตัวลุยในสไตล์ตรวจการณ์อย่าง Cherokee และ Grand Cherokee ส่วนการรุกครั้งนี้ถือว่าการเลือกที่ค่อนข้างน่าสนใจ และสอดคล้องกับแนวคิดที่เรียกว่า Customer Centricity โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับลูกค้าในการส่งต่อประสบการณ์พิเศษ ซึ่ง Wrangler กับ Gladiator ถือเป็นทายาทสายตรงที่ได้รับการส่งต่อจากยานยนต์ตัวลุยรุ่นดั้งเดิมที่เกิดมาเพื่อการใช้งานในราชการทหาร ก่อนที่จะถูกปรับปรุงเพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เป็นคนทั่วไปในเวลาต่อมา


สำหรับ Wrangler ถือเป็นชื่อที่อยู่คู่กับ Jeep มาโดยตลอดเพียงแต่ในอดีตจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ในการทำตลาด และทุกรายละเอียดถูกส่งต่อโดยได้รับอิทธิพลมาจากรถยนต์ตัวลุยรุ่นดั้งเดิมที่ใช้ในราชการทหารอย่าง Willys โดยในช่วงเริ่มต้น Wrangler จะถูกจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า CJ และถือเป็น Civilian Jeep หรือยานยนต์ที่ถูกปรับปรุงและพัฒนามาเพื่อการใช้งานของคนทั่วไป


จนกระทั่งในปี 1987 จึงมีการเปิดตัวชื่อรุ่น Wrangler ออกมาพร้อมกับรหัสตัวถัง YJ ที่คงสไตล์ของการเป็นรถยนต์ตัวลุยขนาดเบาพร้อมกระจังหน้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่า 7-Slot Grille แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการใช้ไฟหน้าดวงเหลี่ยมแทนด้วยกลม และนับจากนั้นเป็นต้นมา ชื่อของ Wrangler ได้ถูกนำมาใช้และทำตลาดอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นปัจจุบันที่มีหัส JL และเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 4 ภายใต้การทำตลาดของ Wrangler


Wrangler JL เปิดตัวออกสู่ตลาดโลกในปี 2018 และมีสิ่งที่แตกต่างจากรุ่นที่ผ่านๆ มาคือ มีทางเลือกของตัวถังที่หลากหลาย โดยนอกจากจะมีรุ่น 2 ประตูที่ถือเป็นรุ่นคลาสสิคที่อยู่คู่กับ Wrangler มาโดยตลอดแล้ว Jeep ยังรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของตลาดด้วยตัวถังแบบ 4 ประตูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลายเป็นว่าตัวถังรุ่นนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนๆ ของ Jeep หลังจากที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2007 กับรหัสตัวถัง TK และในตอนแรกไม่ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีเท่าไรในการเปลี่ยนแนวคิดของการพัฒนา Wrangler ให้เป็นรถยนต์ในสไตล์นี้


ในเรื่องพื้นฐานทางวิศวกรรมนั้น แม้ Wrangler จะใช้โครงสร้างตัวถังแบบ Body on Frame แต่ก็มีการปรับปรุงให้ตอบสนองการใช้งานทั้งออนโรดและออฟโรด ซึ่งตัวรถยังเป็น SUV แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Part-Time ซึ่งสามารถเลือกระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ทั้งแบบ 4H และ 4L ในการลุยเส้นทางโหดๆ ซึ่งรูปแบบของระบบขับเคลื่อนทั้ง 4 ก็มีให้เลือก 3 แบบขึ้นอยู่กับรุ่นย่อยที่จำหน่าย คือ Command-Trac, Rock Track และ Selec-Trac โดยแต่ละแบบจะถูกปรับเซ็ตของชิ้นส่วนและการทำงานของเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราทดในการกระจายแรงบิดให้แตกต่างกันโดยอ้างอิงกับความโหดของเส้นทางสำหรับการใช้งาน


สำหรับตัวถังของ Wrangler JL นั้น ในรุ่น 2 ประตูจะมีความยาว 4,237 มิลลิเมตร และรุ่น 4 ประตูมีความยาว 4,785 มิลลิเมตร ส่วนระยะฐานล้อจะอยู่ที่ 2,459 และ 3,007 มิลลิเมตร (ตามลำดับ) โดยที่ความกว้างและความสูงเท่ากันที่ 1,877 และ 1,801 มิลลิเมตร


ขณะที่ทางเลือกของเครื่องยนต์มีมากมายขึ้นอยู่กับกลุ่มตลาดแต่ละประเทศ โดยจะมีทั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2,000 ซีซี เทอร์โบ 270 แรงม้าตามด้วยวี6 3,600 ซีซีในรหัส Pentastar ที่มีกำลัง 285 แรงม้า และตัวแรงในรหัส Hemi ซึ่งเป็นเครื่องยนต์วี8 6,400 ซีซี 470 แรงม้า ซึ่งรุ่นนี้จะมีติดตั้งในเวอร์ชัน Rubicon เท่านั้น ขณะที่เครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล แบบ 4 สูบ 2,200 ซีซี 200 แรงม้า และวี6 3,000 ซีซี 260 แรงม้า นอกจากนั้นยังมีรุ่นขับเคลื่อนด้วยขุมพลังแบบไฮบริดเสียบปลั๊ก หรือ PHEV ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2,000 ซีซีกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด คือ 44 และ 134 แรงม้าภายใต้ชื่อ 4xe มีกำลังสูงสุดในระดับ 375 แรงม้า ส่วนระบบส่งกำลังก็จะมีให้เลือกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นย่อย โดยจะมีทั้งแบบธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 8 จังหวะขึ้นอยู่กับรุ่นเครื่องยนต์














ทางด้าน Gladiator หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ เวอร์ชันกระบะของ Wrangler ซึ่งเปิดตัวตามหลังรุ่น 2 และ 4 ประตูประมาณ 1 ปี และถือเป็นปิกอัพรุ่นแรกในรอบ 30 ปี โดยมีจุดเด่นกับการเป็นปิกอัพแบบ 4 ประตูที่มีความสามารถในการบุกตะลุยเช่นเดียวกับความสามารถในการบรรทุก


ด้วยเหตุที่แชร์พื้นฐานทางวิศวกรรมร่วมกันจึงไม่น่าแปลกใจที่ Gladiator จะมากับมิติตัวถังที่ใกล้เคียงกับ Wrangler แบบ 4 ประตูในด้านความสูงและความกว้าง ยกเว้นความยาวและระยะฐานล้อที่ถูกขยายออกเพื่อรองรับกับพื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระ โดยมีระยะฐานล้ออยู่ที่ 3,487 มิลลิเมตรและ 5,537 มิลลิเมตรสำหรับความยาว เช่นเดียวกับรายละเอียดของห้องโดยสารซึ่ง Jeep ยกชุดของ Wrangler มาใช้ทั้งชุด เช่นเดียวกับเบาะนั่งและแผงประตู และปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางจุดแค่เพียงเล็กน้อย เช่น รูปทรงของหัวเกียร์ หรือปุ่มกดของระบบต่างๆ ในห้องโดยสาร


ขณะที่เครื่องยนต์นั้น แม้ว่าจะแชร์พื้นฐานเดียวกับ Wrangler แต่ Jeep ก็เลือกหยิบมาใช้แค่บางบล็อกเพื่อให้สอดคล้องกับตัวรถ และมีจำหน่ายด้วยเครื่องยนต์เบนซินและเทอร์โบดีเซลอย่างละรุ่น ซึ่งแบบแรกเป็นบล็อกวี6 3,600 ซีซี Pentastar 285 แรงม้า และวี6 3,000 ซีซี 260 สำหรับแบบหลังพร้อมเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 8 จังหวะ


ส่วนการขับเคลื่อนเป็นแบบ 4 ล้อ Part-Time ที่มีระบบและรูปแบบของการขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือกทั้งแบบ Command-Trac และ Rock Trac ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานบนเส้นทางทั้งแบบออนโรดและออฟโรด

ตอนนี้ราคาของทั้ง Wrangler และ Gladiator สำหรับขายในตลาดเมืองไทยยังไม่เปิดเผยออกมาจนกว่าจะถึงงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ที่จะเริ่มวันแรกในวันที่ 23 มีนาคมนี้ แต่ดูจากภาพรวมและรูปแบบในการทำตลาดแล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจจะต้องทำใจกับราคาที่น่าจะสูงกว่ายุคที่ Jeep ทำตลาดในบ้านเราเมื่อ กว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นการประกอบในประเทศ แต่สำหรับรอบนี้ทั้งหมดนำเข้าจากอเมริกาทั้งคัน ฉะนั้นราคาคงไม่ถูกอย่างแน่นอน
















กำลังโหลดความคิดเห็น