ช่วงต้นปี 2564 แม้ว่าตลาดรถยนต์เริ่มกลับมาสู่สภาพปกติอีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง และทำให้หลายกิจกรรมกลับมาเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าในแง่ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาอยู่ในสภาพปกติเหมือนกับยุคก่อนโควิด-19 แบบทันทีทันใด หลายแบรนด์ยังเจอปัญหาและได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่หลายแบรนด์มองเห็นทิศทางและการประกาศชัดเจนถึงแนวนโยบายในการทำงาน
ความเคลื่อนไหวและบรรยากาศของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกในช่วงปี 2564 มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ และเราขอสรุป 5 ประเด็นข่าวที่ถือว่าน่าสนใจที่เกิดขึ้นในรอบปี
1.ชิปขาดแคลนสร้างปัญหาในเรื่องยอดขาย
ปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิพ หรือชิ้นส่วนจำพวกเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการประกอบรถยนต์นั้น ดูเหมือนว่าจะบานปลายและก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกว่าที่คาดคิดเอาไว้เยอะมาก และมีการคาดการณ์ว่าโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคนี้จะต้องอยู่ร่วมกับปัญหานี้ต่อไปอย่างน้อยก็อีก 2-3 ปีเลยทีเดียว และสิ่งที่ตามมาคือผลกระทบในด้านการผลิตรถยนต์ที่อาจจะไม่สามารถตอบสนองต่อยอดขายได้ทันท่วงที
สถานการณ์เริ่มส่งสัญญาณไม่ดีมาตั้งแต่ปลายปี 2563 แต่มาหนักเอาเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น ซึ่งทำให้ไลน์ผลิตรถยนต์ที่เคยหยุดชะงักไปในปี 2563 เริ่มกลับมาทำงานอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ดังนั้นนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้หลายโรงงานเริ่มประสบปัญหาชิพขนาดแคลน
ช่วงเริ่มต้นของวิกฤตมีการประเมินว่าความเสียหายของตลาดจากการขาดแคลนชิพไม่น่าที่จะรุนแรงมากเท่าไร อย่างมากก็น่าจะทำให้การผลิตรถยนต์ทั่วโลกลดลงไปในระดับ 1-1.5 ล้านคันสำหรับปี 2564 แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว
เพราะในระหว่างทาง เหมือนกับถูกกระหน่ำด้วยปัญหา โดยต้องเจอปัญหาอีกหลากหลายกับฐานการผลิตชิปแห่งต่างๆ เช่น เมื่อต้นปี เนื่องจากพายุฤดูหนาวที่เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตชิปในสหรัฐฯ ประกอบกับเหตุไฟไหม้โรงงานที่สำคัญของญี่ปุ่น จนต้องปิดโรงงานเป็นเวลา 1 เดือน ส่วนซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค ได้เตือนถึงความไม่สมดุลอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม และไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง โค ระบุว่า บริษัทไม่สามารถผลิตชิปได้ทันกับความต้องการ แม้ว่าโรงงานจะมีกำลังผลิตมากกว่า 100% ก็ตาม
ผลคือ ทาง AlixPartners ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จำต้องปรับการคาดการณ์เรื่องจำนวนการผลิตรถยนต์ลดลงเพราะปัญหานี้มีสูงถึง 7.7 ล้านคัน หรือมากกว่าที่ประเมินเอาไว้เมื่อกลางปีนี้ถึงเท่าตัว จากเดิมที่คาดหมายเอาไว้อยู่ที่ 3.9 ล้านคัน และนั่นหมายความว่าบริษัทรถยนต์จะมีการสูญเสียรายได้ราวๆ 210,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
2. แบรนด์รถเยอรมนีเจอดี ร่วมกันชะลอการพัฒนาเทคโนโลยี
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปได้สั่งปรับทั้ง 3 กลุ่มบริษัทรถยนต์ในเยอรมนีด้วยข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อชะลอการพัฒนาและการจัดหาเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยควันเสียของรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในทั้งเบนซินและเทอร์โบดีเซล ซึ่งผิด Antitrust Rules ของ EU โดยแต่ละค่ายโดนค่าปรับค่อนข้างอ่วมเลย ซึ่ง Volkswagen Group ซึ่งรวมถึง Audi, Porsche และ Volkswagen จะต้องจ่ายค่าปรับเกือบ 600 ล้านดอลลาร์ (19,596 ล้านบาท) และ BMW จะต้องจ่ายเกือบ 450 ล้านดอลลาร์ (14,697 ล้านบาท) ขณะที่ Daimler ที่ในตอนแรกคาดว่าอาจจะต้องเสียค่าปรับเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ (29,394 ล้านบาท) แต่สุดท้ายไม่ต้องโดนอะไรหลังจากที่เปิดเผยข้อมูลและให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ
ตามปกติแล้ว บริษัทรถยนต์เหล่านี้จะมีการประชุมที่เรียกว่า Technical Meeting ซึ่งจัดอยู่เป็นประจำในการพูดคุยและวิเคราะห์ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านรถยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับ โดยเฉพาะในเรื่อง Selective Catalytic Reduction (SCR) เพื่อกำจัดสารพิษอย่างไนตรัสออกไซด์ หรือ Nox ในไอเสียแต่ครั้งนี้แตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะการประชุมของ Daimler AG, BWM AG และ Volkswagen พร้อมบริษัทในเครืออย่าง Audi และ Porsche เห็นพ้องต้องกันในการ ‘กั๊ก’ เทคโนโลยีที่มีอยู่ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้ผ่านระดับมาตรฐานที่ทาง EU กำหนดเอาไว้ก็พอ แต่ไม่เลือกที่จะใช้ทางออกที่มีคุณภาพดีกว่า เพื่อให้รถยนต์ปล่อยก๊าซไอเสียที่มีมลพิษลดลง ทั้งที่พวกเขามีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว
โดยสิ่งที่ทั้ง 3 บริษัทกำลังโดนข้อบังคับของกรรมาธิการยุโรปเล่นงานเป็นเคสที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2556 จนถึง 1 ตุลาคม 2557
3.โตโยต้า ประกาศแนวรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว
เป็นข่าวที่ฮือฮารับปลายปี เมื่อโตโยต้า ประกาศจุดยืนต่อการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรือ BEV อย่างชัดเจน และเผยแผนพร้อมลุยตลาดกลุ่มนี้อย่างจริงจังตลอดช่วงทศวรรษที่ 2563 และ 2573 พร้อมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 30 รุ่นตลอด 10 ปีข้างหน้านี้ กับการชิงยอดขายจำนวน 3.5 ล้านคันในปี 2573 หรือครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้เกือบๆ 40% ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว โดยมีการทุ่มทุนในการพัฒนาทั้งสิ้นจำนวน 8 ล้านล้านเยน
นั่นหมายความว่าด้วยตัวเลขของการประเมินยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปี 2573 ที่ว่ากันว่าน่าจะอยู่ระดับ 9 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งถ้าตัวเลขเป็นเช่นนั้นจริงโตโยต้าจะครองส่วนแบ่งมากถึง 40% สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว
งานนี้ทำเอาบรรดาบิ๊กแบรนด์ที่เคยประกาศนโยบายของตัวเองออกมาถึงกับสะดุ้ง เพราะหลายค่ายมีการประกาศนโยบายด้านการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าออกมาแบบค่อนข้างดุดัน เช่น Daimler AG บริษัทแม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ บอกว่าภายในปี 2573 50% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ของตัวเองจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่วน GM เองก็ประกาศยืนยันว่าจะยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2578 เพื่อเปิดทางให้กับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน และรวมถึง Tesla ที่เป็นเจ้าครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในตอนนี้
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาโตโยต้ายังประกาศทุ่มเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านเยนในการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ก่อนปรับตัวเลขเป็น 2 ล้านล้านเยน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแบตเตอรี่ที่ล้ำสมัย คุณภาพสูง และราคาไม่แพง เพราะแบตเตอรี่คือหัวใจสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องของราคาจำหน่ายอีกด้วย
4.ทิศทางยอดขายในตลาดโลกปี 2564
จากรายงานของ S&P Global Rating ได้มีการประเมินว่าตลาดรถยนต์ทั่วโลกเมื่อถึงสิ้นปี 2564 น่าจะมีตัวเลขยอดขายมากถึง 83-85 ล้านคันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราวๆ 8-10% ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ใช่การสวิงกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่ก็ถือเป็นการประเมินที่อ้างอิงจากข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และเป็นสัญญาณที่ดีว่าตลาดรถยนต์กำลังกลับมาอยู่บนเส้นทางที่ควรจะเป็นได้อย่างรวดเร็วกว่าที่ประเมินกันเอาไว้ในตอนแรก
หลายตลาด เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการขายในปี 2563 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ถูกกักไว้และมาตรการที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความต้องการช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว บวกกับในภาคเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาขับเคลื่อนได้อย่างดีขึ้นจากช่วงต้นปี 2563
ท่ามกลางการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มของตลาดในด้านยอดขายของตัวเลขเมื่อมองลึกลงไปแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในบางประเทศของรถยนต์แบบเสียบปลั๊กที่มาทั้งในรูปแบบของ BEV หรือ Battery Electric Vehicle และ Plug-in Hybrid
แต่ทั้งหมดจะมีความสัมพันธ์กับ 2 ปัจจัยหลักที่มีความน่ากังวลว่าอาจจะทำให้รายงานชิ้นนี้ไม่เป็นจริง คือ การขาดแคลนชิปสำหรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2564 หลังจากที่กำลังการผลิตถูกทุ่มไปที่การผลิตชิปเพื่อรองรับกับการเติบโตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนที่รถยนต์ และการกลับมาระบาดซ้ำของโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยประสบกันมาในปี 2563 แต่ตรงนี้บรรดานักวิเคราะห์ยังมีความกังวลและเป็นห่วงว่าอาจจะส่งผลต่อการชะงักของภาคธุรกิจที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเรื่องต่างๆ และทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ของคนทั่วไปลดลงได้
5.สมรภูมิใหม่ที่ชื่อว่า Flying Car
ดูแล้วอาจจะเหมือนความฝัน แต่ข่าวที่เกิดขึ้นในปี 2564 เชื่อว่าตลาดรถยนต์บินได้กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิใหม่ที่แบรนด์ต่างๆ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่ม Start Up ต่างๆ เข้ามาแข่งขันกันอย่างดุเดือด
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ Flying Car และ eVOLT ยังค่อนข้างเงียบและผู้เล่นหลายรายแทบไร้ความเคลื่อนไหว แต่ต้องบอกว่าเทคโนโลยีการขับเคลื่อนประเภทนี้จะค่อยๆ เข้ามายึดครองและกลายเป็นความต้องการของคนในยุคหน้าได้อย่างแน่นอน
ตรงนี้มีการอ้างอิงถึงงานวิจัยของ ResearchAndMarkets.com ที่ได้ระบุถึงแนวโน้มของความต้องการในกลุ่ม Flying Car และอากาศยานอีกประเภทที่ถูกเรียกว่า eVOLT หรือ Electric Vertical Takeoff and Landing ว่ายังมีความแจ่มใส และอาจจะกลายมาเป็นผู้เล่นที่เข้ามาช่วยเสริมการเดินทางของมนุษย์ในยุค 1-2 ทศวรรษข้างหน้า และอาจจะกลายเป็นผู้เล่นหลักได้หลังจากนั้น
งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า eVOLT มีความได้เปรียบในหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษที่ต่ำ ต้นทุนที่ถูกกว่า การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่มีพิสัยการบินไม่ได้และเพดานการบินไม่สูงที่ได้เปรียบในเรื่องของเวลา การพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีความทันสมัยในการทำงานทั้งภาคพื้นดินและอากาศ ที่สำคัญคือ ความคล่องตัวที่เหนือกว่าโดยเฉพาะในเรื่องของการบินขึ้นหรือลงในแนวดิ่ง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อากาศยานต้นแบบที่เรียกว่า EHang 2016 ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและขึ้น-ลงในแนวดิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเป็นพาหนะพยาบาลรับส่งคนป่วยในช่วงที่ โควิด-19 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2573 มีการประเมินว่าผู้คนมากกว่า 60% ของประชากรในแต่ละประเทศ จะย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในเมืองมากกว่าที่จะอยู่ตามริมขอบหรือตามชนบทอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการจราจรภาคพื้นดินที่จะต้องเจอกับความหนาแน่น และรถติดตามมา และนั่นทำให้พาหนะที่สามารถบินได้ระยะสั้นและมีความสะดวกสำหรับการใช้งานในเมืองอย่าง eVOLT และ Flying Car จะได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะกลายเป็นยานพาหนะหลักของคนในยุคหน้าเลยก็ว่าได้